10 ปีเครือข่ายไม่กินหวาน ผู้ปิดทองหลังพระ "ภาษีความหวาน"

สังคม
21 ก.ย. 60
10:05
1,265
Logo Thai PBS
10 ปีเครือข่ายไม่กินหวาน ผู้ปิดทองหลังพระ "ภาษีความหวาน"
"ภาษีความหวาน" ในมุมของทันตแพทย์หญิงปิยะดา ประเสริฐสม เบื้องหลังการผลักดันให้คนไทยมีสุขภาพดีจากการลดการบริโภคน้ำตาลในเครื่องดื่ม กว่าจะสำเร็จต้องใช้เวลาเกือบ 10 ปี

เริ่มบังคับใช้มาแล้วตั้งแต่ 16 ก.ย.ที่ผ่านมา กับมาตรการการจัดเก็บภาษีความหวาน ซึ่งประเทศไทย นับเป็นประเทศแรกในแถบเอเชียที่มีการจัดเก็บภาษีความหวานขึ้น แต่กว่าจะเกิดผลสำเร็จในการใช้มาตรการทางภาษีเข้ามาช่วยต้องใช้เวลาหลายปี

ทันตแพทย์หญิงปิยะดา ประเสริฐสม ผู้อำนวยการสำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย ในฐานะประธานเครือข่ายไม่กินหวาน บอกว่า การผลักดันเรื่องนี้ใช้เวลาเกือบ 10 ปีถึงออกมาเป็นรูปแบบภาษี ซึ่งถือเป็นส่วนที่ยากที่สุด

โดยนโยายแรกที่ทำสำเร็จ คือถอดน้ำตาลออกจากนมผง เพื่อให้เด็กได้กินอาหารเสริมที่ไม่มีน้ำตาลจนถึงอายุ 18 เดือน และมีคำเตือนไม่ใส่น้ำตาลในนมของเด็ก ถือเป็นงานแรกที่ประสบความสำเร็จ นโยบายถัดมาคือ โรงเรียนปลอดน้ำอัดลม กระบวนการขับเคลื่อนผ่านกระทรวงศึกษาธิการ เราเก็บข้อมูลว่าถ้านำน้ำอัดลมออกจากโรงเรียน จะทำให้เด็กลดการบริโภคได้จริง นำข้อมูลให้กระทรวงศึกษาธิการประกาศเป็นระเบียบ ถึงตอนนี้เชื่อว่าโรงเรียนทุกแห่งรู้ว่าไม่ควรขายน้ำอัดลม

เรื่องถัดมาคือ เฮลล์ตี้มิตติ้ง รณรงค์ทำตั้งแต่น้ำตาลควรไม่เกิน 4 กรัม จนผลักให้เกิดผลในระดับสมาคมโรงแรมขานรับเพราะลูกค้าส่วนใหญ่ที่จัดประชุมคือกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ

หลักการเริ่มทำงานเน้นแนวคิดการขับเคลื่อนนโยบาย เพราะแนวคิดเรื่องการส่งเสริมสุขภาพจะมาช่วยในการจัดการเชิงนโยบายแล้ว ข้อต่อมาคือต้องให้พื้นที่ กับการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมและสุดท้ายถ้าจะเกิดผลได้ต้องมีชัดข้อมูลความรู้ ซึ่งงานวิชาการจะมาจากโจทย์ที่อยากให้คนทำ ทั้งนักศึกษาผลักดันออกมาในการลดการบริโภคน้ำตาล

 

 

สุดท้ายที่ถือว่ายากที่สุดคือมาตรการภาษี เป็นโยบายที่กระทบต่อคนทั้งประเทศ หลังจากมาตรการนี้ออกมาโจทย์ที่ต้องทำต่อ โดยเริ่มดำเนินการเรื่องนี้ ตั้งแต่ปี 2552 จากการเก็บรวบรวมข้อมูลและได้รับความร่วมมือจากกระทรวงการคลัง เสนอกรมสรรพสามิต สภาปฏิรูปแห่งชาติ เพื่อปฏิรูประบบสาธารณสุข มีปัญหาการคลังและสุขภาพ จนเกิดเป็นนโยบายเชิงเศรษฐกิจ อย่างเป็นรูปธรรม


ทันตแพทย์หญิงปิยะดา บอกว่า เมื่อปี 2548 ทางเครือข่ายพบข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล แล้วนำข้อมูลมาบริหารจัดการและวิเคราะห์ เพื่อหาแง่มุมและประเด็นต่าง ๆ ทำให้ทราบว่าปัญหามาจากเครื่องดื่ม จากการสำรวจว่าเด็กกินอะไรทุกวัน ข้อสรุปที่ได้คือ น้ำอัดลม ถ้าสามารถจัดการในส่วนนี้ได้ ปัญหาการกินหวานนี้ก็จะลดลงทันที

 

 ตอนนี้สิ่งที่ต้องทำ คือ เราจะต้องวางมาตรการเตรียมรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้นหลังภาษีความหวานออกโดยการทำกรอบประเมิน ต่อไปก็จะเป็นภารกิจที่จะนำเสนอต่อสังคมว่ามาตรการนี้ได้ผลหรือไม่ได้ผลอย่างไร เพื่อเป็นต้นแบบการดำเนินมาตรการที่ยั่งยืนและสามารถขยายผลได้ติดตามลดการกินได้ มีไทม์ไลน์

ทันตแพทย์หญิงปิยะดา ยอมรับว่า ถูกต่อว่าจากภาคอุตสาหกรรมเรื่องมาตรการที่น่าจะได้ผลโดยที่ไม่ต้องใช้เรื่องของภาษี ซึ่งสภาปฏิรูปก็สั่งการ กระทรวงสาธารณสุข สสส. รวมถึงกระทรวงศึกษาธิการ ทุกภาคส่วนให้ช่วยกันทำเรื่องนี้ด้วย การมอบให้คณะกรรมการกรมอนามัยจัดการ ในส่วนนี้จะมีการกำหนดเกณฑ์ทางเลือกให้ว่า สินค้าตัวนี้ถูกเก็บภาษี ถ้าไม่ต้องการถูกเก็บภาษี ก็ต้องผลิตสินค้าออกมาให้ได้ตามข้อกำหนดที่ระบุไว้ เป็นต้น

แต่ก็มีการเปิดโอกาสให้ภาคอุตสาหกรรมทำแผนมาตรการมานำเสนอ ส่วนกรมอนามัยก็ทำแผนมาแล้ว มาเสนอร่วมกันโดยให้กระทรวงต่าง ๆ แถลงข่าวลงนามความร่วมมือ MOU ประกอบด้วย 5 หน่วยงาน ได้แก่ สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย สมาคม 3 โรงงานน้ำตาลไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพาณิชย์

 

จากการประชาสัมพันธ์ของสื่อต่าง ๆ เมื่อลองสำรวจชั้นวางจำหน่ายสินค้าก็พบว่ามีการออกผลิตภัณฑ์ลดน้ำตาลมาวางจำหน่ายเป็นจำนวนมากทันทีที่เริ่มมีการพูดคุยถึงการจำเก็บภาษีความหวาน ภาคเอกชนเริ่มที่จะตื่นตัว โดยกลุ่มที่ตื่นตัวมากที่สด คือ อุตสาหกรรมเครื่องดื่ม ประเภทกาแฟ และทรีอินวัน สังเกตได้จากไมโลที่มีการลดน้ำตาลลงมาถึงร้อยละ 25 

ผู้จัดการเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน บอกว่า แผนงานต่อจากนี้ คือ เรื่องอาหารเสริมสำหรับเด็กที่กำลังพยายามดำเนินการ ส่วนเรื่องการรณรงค์ไม่ดื่มน้ำอัดลม จำเป็นต้องมีอะไรมาทดแทนอย่างเช่น น้ำเปล่า ต้องสร้างกระแสให้คนอยากดื่มน้ำเปล่า มีการรณรงค์เรื่องน้ำเปล่าอยู่นานพอสมควรจนถึงทุกวันนี้ เพื่อให้ผู้คนรู้ว่าการดื่มน้ำเพื่อดับกระหายควรจะเป็นน้ำจากธรรมชาติเท่านั้น

ต้องเข้าใจว่าเราไม่ได้ต้องการเงิน เราต้องการทางเลือกที่มากขึ้นในสังคม เป็นทางเลือกสุขภาพ ต่อไปคือ มาตรการทำอย่างไรให้ผู้บริโภคเลือกเพื่อสุขภาพเป็น ต้องมีการปลูกฝังตั้งแต่เด็ก

การผลักดันภาษีความหวาน เริ่มเห็นความชัดเจนมากขึ้น ตั้งแต่วันที่ 2 พ.ค.2559 สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ได้มีมติ 153 ต่อ 2 และ งดออกเสียง 6 เสียง เห็นชอบรายงานของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เรื่อง การป้องกันและควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพด้านอาหารและโภชนาการ

ในประเด็นการจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลเกินเกณฑ์มาตรฐานสุขภาพ ส่งให้ ครม.พิจารณาดำเนินการ โดยมีสาระสำคัญคือ เสนอจัดเก็บภาษีสรรพสามิตในเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาล อาทิ น้ำอัดลม ชาเขียว กาแฟ เครื่องดื่มชูกำลัง นมเปรี้ยว และนมถั่วเหลือง ซึ่งมีปริมาณน้ำตาลเกินมาตรฐานที่กำหนด 

ทั้งนี้คณะกรรมาธิการฯ เสนอจัดเก็บภาษี 2 อัตรา ตามความเข้มข้นของน้ำตาล คือ ปริมาณน้ำตาล 6-10 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร จัดเก็บภาษีในอัตราที่ทำให้ราคาเพิ่มสูงขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของราคาขายปลีก ปริมาณน้ำตาลมากกว่า 10 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร จัดเก็บภาษีในอัตราที่ทำให้ราคาเพิ่มสูงขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของราคาขายปลีก หลังจากนี้คงต้องจับตาว่าภาวะสุขภาพความเจ็บป่วยของคนไทยจะลดลงหรือไม่ 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง