ให้ความรู้คุมกำเนิดโรฮิงญาในค่ายอพยพ

ต่างประเทศ
21 ก.ย. 60
20:08
26,644
Logo Thai PBS
ให้ความรู้คุมกำเนิดโรฮิงญาในค่ายอพยพ
เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเข้าให้ความรู้เรื่องการคุมกำเนิดกับชาวโรฮิงญาในค่ายอพยพที่เมืองคอกซ์บาซา ประเทศบังกลาเทศ หลังประสบปัญหาผู้อพยพล้นค่ายและขณะนี้พบหญิงตั้งครรภ์ในค่ายอพยพกว่า 70,000 คน

หญิงชาวโรฮิงญาคนนี้ เดินทางจากรัฐยะไข่ ประเทศเมียนมา มายังค่ายอพยพในเมืองคอกซ์บาซา ประเทศบังกลาเทศ ทั้งที่ตั้งท้องได้ 7 เดือน ตอนนี้เธอมีลูกสาววัย 2 ขวบและหวังจะให้ลูกเติบโตอย่างมีความสุข แต่แล้วชะตากรรมก็ทำให้ครอบครัวต้องอพยพมาอยู่ค่ายแห่งนี้

เธอกล่าวว่า การมีลูกถือเป็นความสุขของครอบครัว แต่เมื่อมาอยู่ในค่ายก็เข้าใจสถานการณ์ โดยเฉพาะเมื่อเจ้าหน้าที่ให้ความรู้เรื่องการคุมกำเนิด แต่สามีของเธอต้องการมีลูก 4 คน เพราะเชื่อว่าการมีเด็กๆภายในบ้านจะสร้างความสุขให้กับครอบครัว แม้การมีลูกเพิ่มจะสร้างความลำบากในค่ายอพยพก็ตาม

ข้อมูลจากกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) ระบุว่า ชาวโรฮิงญาที่เป็นผู้อพยพทั้งเก่าและใหม่ ที่มีกว่า 600,000 คน ในจำนวนเกินกว่าครึ่งเป็นเด็ก นอกจากนี้ยังพบข้อมูลอีกว่ามีผู้หญิงที่อยู่ระหว่างการตั้งครรภ์และให้นมบุตร 13 เปอร์เซ็น ดังนั้นเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจึงจำเป็นที่จะต้องให้ข้อมูลเพื่อให้เรียนรู้เรื่องการคุมกำเนิด

ขณะที่ยังมีข้อมูลจากองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) ระบุว่า ภายในค่ายผู้อพยพมีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ประมาณ 23,000 คนและกำลังเผชิญกับภาวะขาดอาหาร ขณะที่ภายในค่ายกำลังขาดแคลนน้ำดื่มและห้องน้ำ ทำให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขภายในค่ายผู้อพยพต่างๆ ต้องรณรงค์ให้ชาวโรฮิงญาเข้าถึงการคุมกำเนิด



เจ้าหน้าที่สาธารณสุขคนหนึ่ง ระบุว่า หลังจากมาทำงานที่นี่ได้เพียง 7 วัน มีคนมาทำคลอดแล้ว 1,600 คน พวกเขาจึงต้องรณรงค์ให้เข้าใจถึงการคุมกำเนิดเพื่อลดจำนวนประชากร โดยการแจกถุงยางอนามัยและยาคุมกำเนิด เพราะตามปกติแล้วภายในค่ายผู้อพยพไม่ค่อยพบครอบครัวขนาดใหญ่ แต่ชาวโรฮิงญานิยมมีลูกหลายคน ขณะนี้มีหญิงตั้งครรภ์หรือหญิงที่คาดว่าจะตั้งครรภ์ในค่ายอพยพที่บังกลาเทศกว่า 70,000 คนและคาดว่าอีก 6 เดือนข้างหน้าจะมีทารกแรกเกิดถึง 20,000 คน

องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) ประเมินว่ามีผู้อพยพชาวโรฮิงญาทะลักเข้าบังกลาเทศวันละ 20,000 คน โดยมีผู้อพยพเข้ามาใหม่หลังวันที่ 25 ส.ค.2560 กว่า 420,000 คน รวมผู้อพยพทั้งหมดในขณะนี้ 600,000 คน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง