ปชป.เชื่อเลือกตั้งเป็นไปตามโรดแมป-พท.ชี้คาดเดาวันเวลายาก แต่ผู้ได้รับผลกระทบคือประชาชน

การเมือง
23 ก.ย. 60
13:35
539
Logo Thai PBS
ปชป.เชื่อเลือกตั้งเป็นไปตามโรดแมป-พท.ชี้คาดเดาวันเวลายาก แต่ผู้ได้รับผลกระทบคือประชาชน
รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เชื่อว่าการเลือกตั้งจะเป็นไปตามโรดแมป แต่ต้องพิจารณาเงื่อนไขหลายประการ ขณะที่แกนนำพรรคเพื่อไทยระบุคาดเดายากว่าจะเป็นช่วงวันเวลาใด แต่ผู้ที่จะได้รับผลกระทบคือประชาชน จากสภาวะเศรษฐกิจ การตัดสินใจของนักลงทุน

วันนี้ (23 ก.ย.2560) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการสัมมนาเรื่อง "โรดแมปไทยไทย ไกลแค่ไหน หรือใกล้เลือกตั้ง" ผู้ร่วมเสนานอกจากนักวิชาการ นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยังมีตัวแทนนักการเมืองจากพรรคต่างๆ เช่น คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย, นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย และนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ร่วมพูดคุยและประเมินถึงสถานการณ์การเมือง ในช่วงการเดินหน้าเข้าสู่โรดแมป ระยะที่ 3 หรือช่วงการเตรียมเข้าสู่การเลือกตั้งที่คาดว่าจะเป็นช่วงปลายปี 2561 หลังจากกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจัดทำกฎหมายที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งทั้ง 4 ฉบับเสร็จสิ้นและประกาศบังคับใช้

 

 

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงโรดแมปการเลือกตั้งว่า คาดเดายากว่าจะเป็นช่วงวันเวลาใดปลายปี 2561 หรือต้นปี 2562 ไม่มีใครยืนยันได้ชัด เพราะความไม่แน่นอนของสถานการณ์ยังมีอีกมาก หรือไม่รู้ว่ารัฐบาลชุดนี้จะอยู่ยาวหรือไม่ แต่ย้ำว่าผู้ที่จะได้รับผลกระทบ คือประชาชน จากสภาวะเศรษฐกิจ การตัดสินใจของนักลงทุน ส่วนนักการเมืองได้รับผลกระทบน้อย ขณะความพร้อมในการเลือกตั้งแกนนำพรรคเพื่อไทยย้ำถึงโอกาสที่จะปฏิรูปพรรคเป็นสถาบันการเมืองที่ดีของประชาชน ส่วนตำแหน่งหัวหน้าพรรคแม้จะไม่ปฏิเสธหรือยอมรับว่าเป็นหนึ่งในแคนดิเดตหัวหน้าพรรคคนใหม่ แต่บอกว่ารอไว้ช่วงหลังการปลดล็อคกิจกรรมทางการเมืองเพื่อให้พรรคได้จัดประชุม และยืนยันจะสร้างจุดแข็งของพรรคด้วยนโยบายตามระบอบประชาธิปไตยที่ตรวจสอบได้ พร้อมทั้งยังย้ำว่าไม่สนับสนุนวิธีการพิเศษที่เข้าสู่ทางการเมือง

ด้านนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เชื่อว่าการเลือกตั้งจะเป็นไปตามโรดแมป แต่ต้องพิจารณาเงื่อนไขหลายประการ ทั้งการจัดทำกฎหมายลูกที่จะเดินหน้าสู่การเลือกตั้งตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด แต่ตั้งข้อสังเกตต่อคำถามของนายกรัฐมนตรี 4 คำถามที่ผ่านมาเป็นการส่งนัยยะสำคัญต่อการเลือกตั้งหรือไม่ หรือการแสวงหาแนวร่วมในการเดินหน้าบ้านเมืองว่าจะเป็นไปในทิศทางใด อีกทั้งประเด็นความปรองดอง แม้จะเป็นเรื่องสำคัญ แต่มุมมองของประชาชนและหัวหน้า คสช.อาจจะไม่ตรงกัน โดยเรียกร้องให้รัฐบาลเลือกทางเลือกที่เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมือง โดยพรรคประชาธิปัตย์ยืนยันว่าประชาชนจะเป็นผู้เลือกรัฐบาลไม่ว่ารูปแบบการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร ต้องดูผลของการเลือกตั้งก่อนถึงจะบอกถึงอนาคตของพรรคได้ว่าจะเป็นไปในทิศทางใด แต่รัฐบาลต้องเป็นรัฐบาลเพื่อชาติทำงานเพื่อประชาชน แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในอดีตโดยนักการเมืองที่เป็นสาเหตุปัจจัยหลักต้องร่วมกัน และเชื่อว่าในอนาคตหากวุฒิสภาคิดจะเลือกคนนอกเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีคนนอกมาเป็นนายกรัฐมนตรี บ้านเมืองอาจจะเกิดปัญหา ซึ่งคนเป็นนายกรัฐมนตรีต้องมาอย่างสง่างาม

 

 

ขณะที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า เชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะรักษาสัญญาในการจัดการเลือกตั้ง พร้อมให้กำลังใจในฐานะผู้รับผิดชอบบริหารประเทศ แต่ย้ำว่ารัฐบาล คสช.ไม่ควรเป็นปลาสองน้ำที่จะทอดอำนาจหรือคนบางส่วนเข้าไปอยู่ในรัฐบาลเลือกตั้ง เพียงให้ทำหน้าที่ยุคนี้ในฐานะฝ่ายบริหารให้ดีที่สุดเท่านั้น และย้ำในฐานะนักการเมืองถึงความพร้อมในการจัดการเลือกตั้ง และประชาชนในฐานะเจ้าของประเทศต้องมีความพร้อมในฉันทานุมัติแนวทางเดียวกัน จะไม่มีอะไรต้านทานได้ และหากการจัดทำกฎหมายลูกไม่ทันตามโรดแมป ยอมรับในกติกาการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ โดยที่ไม่มีพรรคใดได้เปรียบหรือเสียเปรียบกัน สุดท้ายนายอนุทินเชื่อว่าในอนาคตจะไม่มีการตั้งรัฐบาลแห่งชาติ ซึ่งอาจจะชี้ให้เห็นว่าพรรคการเมืองที่เสนอชื่อนายกรัฐมนตรีของพรรคตัวเอง แต่ไปสนับสนุนคนอื่นเป็นนายกรัฐมนตรี จะเป็นการกลืนอุดมการณ์ของพรรค โดยเสนอว่าหากใครต้องการเป็นนายกรัฐมนตรีต้องมาจากระบบประชาธิปไตย หรือตั้งพรรคเข้าสู่การเลือกตั้งอย่างสง่างาม

นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เชื่อว่าจะมีการเลือกตั้งปี 2561 ตามโรดแมประบุว่า อาจมีความเป็นไปได้ว่าจะเป็นช่วงเดือนกันยายน 2561 สามารถจัดการเลือกตั้งหากกฎหมายลูกเสร็จทัน แต่ตั้งข้อสังเกตอย่างหนึ่งว่านายมีชัย ฤชุพันธ์ ประธาน กรธ.ไม่ได้ระบุไว้ชัดว่ากรณีกฎหมายลูกไม่ผ่านจะเป็นยังไงต่อไป ซึ่งเรื่องนี้จะส่งผลต่อโรดแมปการเลือกตั้งและการอยู่ต่อของรัฐบาล คสช. ส่วนอีกปัจจัยสำคัญคือฝ่ายการเมืองหากสร้างความเชื่อมั่นและทุกฝ่ายทำตามกติกาประชาธิปไตยในรัฐสภา จะไม่เกิดความขัดแย้งจนนำไปสู่เหตุการรัฐประหารได้ ขณะที่ระบบการเลือกตั้งที่เรียกว่าจัดสรรปันส่วนผสมที่นำโดยประเทศเยอรมนี ที่จะเอาคะแนนบัญชีรายชื่อมาคำนวนที่นั่งในสภา จะมั่นใจว่าส่งผลให้ทุกพรรคจะได้คะแนนไม่เกินครึ่งและจะเกิดรัฐบาลผสมแน่นอน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง