กอ.รมน.ภาค4 สน. เผยสถิติเหตุรุนแรง จชต.ปี 60 ลดลงร้อยละ 77

ภูมิภาค
2 ต.ค. 60
19:57
1,265
Logo Thai PBS
  กอ.รมน.ภาค4 สน. เผยสถิติเหตุรุนแรง จชต.ปี 60 ลดลงร้อยละ 77
กอ.รมน.ภาค 4 สน.เผยสถิติเหตุรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ปี 60 เกิดเหตุรวม 432 เหตุ เสียชีวิต 99 คน บาดเจ็บ 219 คน ลดลงกว่าปี 59

วันนี้ (2ต.ค.) พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ( กอ.รมน.) เปิดเผยว่าผลจากการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของรัฐบาล มาสู่การปฏิบัติในพื้นที่ภายใต้แนวคิด “กฎหมายนำ การทหารตาม และงานการเมืองขยาย” ส่งผลให้สถานการณ์ในภาพรวม มีพัฒนาการไปในทิศทางที่ดีขึ้น

มีเหตุการณ์เกิดขึ้น 432 เหตุ เป็นเหตุความมั่นคง 140 เหตุ มีผู้เสียชีวิต 99 คน และบาดเจ็บ 219 คน เมื่อเปรียบเทียบเหตุการณ์กับปีที่แล้ว เหตุความมั่นคงลดลง 182 เหตุการณ์ คิดเป็นร้อยละ 77 ส่วนการสูญเสียลดลง 226 คน คิดเป็นร้อยละ 43 ทั้งนี้ เป็นผลมาจากการปฏิบัติการเชิงรุกทางด้านการเมือง การสร้างความเข้าใจการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนและการพัฒนาอย่างจริงจัง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ทำให้ประชาชนเห็นถึงความจริงใจและให้การสนับสนุนภาครัฐมากยิ่งขึ้นประกอบกับได้บังคับใช้กฎหมายต่อภัยแทรกซ้อนอย่างเข้มงวดสามารถลิดรอนการสนับสนุนของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง โดยสรุปผลการปฏิบัติได้ ดังนี้


1. การรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน

ในห้วงเวลาได้บังคับใช้กฎหมายกับกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง สามารถควบคุมตัวได้ 478 คน มีหมาย ป.วิฯ อาญา 259 คน ตรวจยึดอาวุธปืน 49 กระบอก ปะทะกับผู้ก่อเหตุรุนแรง 11 ครั้ง ทำให้ผู้ก่อเหตุรุนแรงเสียชีวิต 14 คน ทั้งนี้ได้ให้ความสำคัญกับการรักษาความปลอดภัยเขตเมืองเศรษฐกิจ และโครงการสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” โดยในห้วงปีที่ผ่านมาเกิดเหตุความรุนแรงที่สำคัญในเขตเมืองเศรษฐกิจ 2 ครั้ง รวมทั้งได้ส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชน

ปัจจุบันมีกำลังภาคประชาชนและกลุ่มเครือข่ายมวลชนในพื้นที่ เข้ามามีส่วนร่วมในการรักษาความปลอดภัยเส้นทางและ โรงเรียน วันละ 35,000 คน นอกจากนี้ ยังได้มุ่งเน้นการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแทรกซ้อน ซึ่งทำให้สามารถจับกุมผู้ต้องหา 4,110 คน ตรวจยึดยาบ้า 3,199,405 เม็ด เฮโรอีน 21.39 กิโลกรัม พืชใบกระท่อม 6,183 กิโลกรัม และยาเสพติดประเภทอื่นๆ หลายรายการ และตรวจยึดคืนพื้นที่ป่า จำนวน 13,301 ไร่

2. การอำนวยความยุติธรรมและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ

โดยมุ่งเน้นบังคับใช้กฎหมายด้วยความเสมอภาคและเป็นธรรม พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้ที่ต้องการยุติ การต่อสู้ด้วยความรุนแรง เข้ารายงานตัวแสดงตนตามโครงการพาคนกลับบ้าน ทั้งนี้ ได้สร้างความเข้าใจผู้นำท้องที่ ท้องถิ่นและญาติบุคคลเป้าหมาย ส่งผลให้มีผู้ออกมารายงานตัวแสดงตนเข้าโครงการรวม 4,535 คน ส่งคืนกลับสู่สังคม (set zero) จำนวน 4,403 คน อยู่ระหว่างดำเนินกรรมวิธี 132 คน และได้จัดกิจกรรมสร้างความไว้วางใจภายใต้แนวคิด “ลดช่องว่างสร้างความเข้าใจ” โดยนำผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยไปให้ความรู้เล่าเรื่องประสบการณ์เทียบเคียงกับโครงการพาคนกลับบ้าน

3. การสร้างความเข้าใจทั้งในและต่างประเทศ/เรื่องสิทธิมนุษยชน

ด้วยการสร้างความเข้าใจในสถานศึกษา เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเยาวชน ผ่านกิจกรรมต่างๆ ได้แก่ การทัศนศึกษานอกสถานที่ การแนะแนว การศึกษา การสร้างความเข้าใจกับผู้จัดการโรงเรียน ครูสอนศาสนาและอุสตาซ เพื่อสกัดกั้นยับยั้งการบ่มเพาะปลูกฝังแนวความคิดในการต่อต้านอำนาจรัฐ นอกจากนี้ ยังได้เสริมสร้างความเข้าใจกับประชาชนและผู้เห็นต่างจากรัฐ ผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น โครงการประชาร่วมใจทำความดีเพื่อแผ่นดิน กิจกรรมเสวนาอุสตาซสัญจรและการแก้ไขปัญหาในมิติศาสนา โดยใช้มัสยิดเป็นศูนย์กลางตามโครงการกำปงตักวา โดยดำเนินการแล้วกว่า 1,600 มัสยิด

4. การศึกษา ศาสนา และศิลปวัฒนธรรม

ดำเนินการโครงการโรงเรียนทวิภาษาในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เพื่อพัฒนาด้านการใช้ภาษาแบบพหุวัฒนธรรมให้กับเด็กตั้งแต่เยาว์วัย 17 แห่ง รวมทั้งได้ส่งเสริมการอยู่ร่วมกันแบบสังคมพหุวัฒนธรรม ภายใต้ความแตกต่างทางด้านศาสนา ประเพณีและวัฒนธรรม โดยการจัดกิจกรรมทัศนศึกษาเปิดโลกทัศน์ กิจกรรมพหุวัฒนธรรมสานสัมพันธ์ 2 ศาสนา 185 ชุมชน และจัดเวทีพบปะสานสัมพันธ์ระดับอำเภอ ทั้ง 37 อำเภอ จำนวน 23,600 คน

นอกจากนี้ยังได้จัดกิจกรรม ติวข้น...ค้นฝัน 5 เพื่อเตรียมความพร้อมให้นักเรียนก่อนสอบเข้ามหาวิทยาลัย มีผลสัมฤทธิ์ทำให้นักเรียนที่เข้าร่วมโครงการสามารถสอบเข้าเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยได้ จำนวน 841 คน

5. การพัฒนาตามศักยภาพของพื้นที่และคุณภาพชีวิตประชาชน

ได้กำหนดแผนงานด้านเศรษฐกิจ โดยมีเป้าหมายสร้างอาชีพ สร้างรายได้ พัฒนายกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนให้ดีขึ้น โดยได้เสนอโครงการให้หน่วยที่เกี่ยวข้องดำเนินการ 58 โครงการ วงเงิน 823 ล้านบาทเศษ ได้รับการสนับสนุนแล้ว 15 โครงการ วงเงิน 192 ล้านบาทเศษ มีความคืบหน้าที่สำคัญ ดังนี้

- โครงการจัดตั้งสถานีบริการน้ำมัน โดยร่วมกับบริษัท ปตท. จำกัด เพื่ออำนวยความสะดวกและเป็นที่พักรถ ณ ฟาร์มตัวอย่างฯ อำเภอธารโต ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการ และสนับสนุนงบประมาณในการทำซั้งให้กับประชาชน ที่ทำประมงพื้นบ้านตามแนวชายฝั่งของจังหวัดปัตตานี และนราธิวาส

- โครงการเพิ่มประสิทธิภาพมูลค่าสินค้าภาคการเกษตร ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจการแปรรูป และตลาดทุเรียน โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากจังหวัดยะลา จำนวน 106 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการประกวดราคา

- โครงการสร้างท่าอากาศยานเบตง ตำบลยะรม อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ความคืบหน้าตามแผนงานภาพรวม ประมาณ 22.80 % คาดว่าสามารถเปิดใช้งานได้ภายในปี 2562

6. การเพิ่มประสิทธิภาพภาครัฐและการขับเคลื่อนนโยบาย

ได้มุ่งเน้นขับเคลื่อนการปฏิบัติงานของ ศูนย์ปฏิบัติการอำเภอ ซึ่งเป็นหน่วยรับผิดชอบหลักในการขับเคลื่อนงานด้านการพัฒนาจากส่วนราชการในส่วนกลางลงสู่พื้นที่ โดยได้ปรับเพิ่มอัตราของชุดขับเคลื่อนตำบล ที่อยู่ในโครงสร้างการจัดของศูนย์ปฏิบัติการอำเภอ และบรรจุกำนันทุกตำบลไว้ในชุดขับเคลื่อนตำบล เพื่อให้การขับเคลื่อนงานในระดับพื้นที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

7. การแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งโดยสันติวิธี

ได้ขับเคลื่อนกิจกรรมเสวนาสัญจร ขจัดปัญหาความขัดแย้ง ด้วยการอบรมหลักสูตรผู้นำการเปลี่ยนแปลง เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับนโยบายรัฐรวมทั้งการเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ระดมความคิดเห็นในการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งตามแนวทางสันติวิธี นอกจากนี้ยังได้สร้างความเข้าใจกับองค์กรภาคประชาสังคม 521 องค์กร โดยจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นและชี้แจงความคืบหน้าการพูดคุยในหมู่บ้านทั้ง 1,988 หมู่บ้าน

สำหรับสภาพแวดล้อมต่อการพูดคุยเพื่อสันติสุขในพื้นที่ขณะนี้ ทั้งผู้นำศาสนา ภาคประชาสังคม นักวิชาการ ภาคประชาชน มีความตื่นตัวต่อกระบวนการพูดคุย คาดหวังว่าการพูดคุยจะเป็นส่วนหนึ่งในการลดความรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างพื้นที่ปลอดภัยนำร่อง

แผนการปฏิบัติงานประจำปี 2561

มุ่งเน้นบูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วน ดูแลรักษาความปลอดภัยควบคู่กับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนและพัฒนาศักยภาพพื้นที่ ด้วยการขับเคลื่อนงานสำคัญ 8 งาน ประกอบด้วย

1) งานรักษาความปลอดภัยพื้นที่และบังคับใช้กฎหมาย เน้นเมืองเศรษฐกิจ 8 เมืองหลัก 3 อำเภอนำร่อง ตามโครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ให้มีความปลอดเหตุ และเป้าหมายอ่อนแอปลอดภัยสูงสุด

2) งานขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

3)งานสนับสนุนโครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน”

4) งานโครงการพาคนกลับบ้าน

5) งานสลายโครงสร้างของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง

6) งานเสริมสร้างความเข้มแข็งและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของกำลังอาสารักษาดินแดน (อส.) และภาคประชาชน

7) งานแก้ไขปัญหายาเสพติดและภัยแทรกซ้อนอื่นๆ

8) งานสร้างสังคมพหุวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง

ทั้งนี้ จะทำให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ มีความรู้สึกว่ามีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินและมีความหวังในอนาคตต่องานการพัฒนาที่จะเกิดขึ้นเพื่อให้พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีความปกติสุข อยู่ดีกินดี สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในเรื่องเมืองต้นแบบสามเหลี่ยม “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง