สภาวิศวกร เผย 2 สาเหตุทำสะพาน จ.ชัยนาท ถล่ม

สังคม
9 ต.ค. 60
13:26
5,069
Logo Thai PBS
สภาวิศวกร เผย 2 สาเหตุทำสะพาน จ.ชัยนาท ถล่ม
สภาวิศวกร คาดนั่งร้านไม่ได้มาตรฐาน สาเหตุทำคอสะพานแม่น้ำเจ้าพระยาที่ จ.ชัยนาท พังถล่ม จ่อเรียกวิศวกรสอบสวนเพิ่ม คาดใช้เวลาไม่เกิน 1 ปี

วันนี้ ( 9 ต.ค.) จากเหตุการณ์คอสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ จ.ชัยนาท พังถล่มลงมาทับคนงานที่กำลังก่อสร้างจนได้รับบาดเจ็บสาหัสหลายคน เมื่อวันที่ 30 ก.ย. ที่ผ่านมานั้น นายอมร พิมานมาศ เลขาธิการสภาวิศวกร เปิดเผยว่า โครงสร้างสะพานดังกล่าวเป็นโครงสร้างสะพานคอนกรีตอัดแรงรูปกล่อง (prestressed concrete box viaduct) ก่อสร้างด้วยระบบคานยื่นสมดุล (balanced cantilever) ช่วงกลางแม่น้ำมีความยาว 120 ม. สำหรับบริเวณที่พังถล่มไปนั้นเป็นส่วนที่เรียกว่า คอสะพาน (approach slab) มีความยาวประมาณ 14 ม. ก่อสร้างระบบหล่อในที่มีนั่งร้านเหล็กรองรับ ซึ่งพบว่านั่งร้านเหล็กที่รองรับคอสะพานดังกล่าววิบัติจึงทำให้คอสะพานถล่มลงมาบนพื้นดิน

 

 

ต่อมา เมื่อวันที่ 3 ต.ค.สภาวิศวกรได้ส่งคณะผู้ชำนาญการพิเศษ เข้าตรวจสอบสาเหตุการวิบัติของนั่งร้านเหล็กที่รองรับน้ำหนักของคอสะพานดังกล่าว ร่วมกับวิศวกรจากกรมทางหลวงชนบทและจากบริษัทที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง ซึ่งจากการสำรวจสภาวิศวกรได้ตั้งข้อสันนิษฐานสาเหตุของการพังถล่ม ไว้ 2 ปัจจัยหลัก คือ

 

1.การก่อสร้างนั่งร้านเหล็กรองรับคอสะพานอาจไม่ได้มาตรฐานทางวิศวกรรมเนื่องจากตรวจพบข้อบกพร่องหลายจุด เช่น การเชื่อมต่อขานั่งร้าน และการยึดโยงค้ำยันนั่งร้านไม่ได้มาตรฐาน

2.ขั้นตอนและวิธีการก่อสร้างสะพานเป็นไปตามแบบหรือไม่ เนื่องจากพบตำแหน่งรอยต่อขยายตัวไม่เป็นไปตามแบบ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการพังถล่มได้ อย่างไรก็ตามต้องมีการตรวจสอบว่าได้มีการขออนุญาตปรับเปลี่ยนแบบที่ใช้ก่อสร้างหรือไม่

 

 

นายอมร พิมานมาศ เปิดเผยว่า ในส่วนของสภาวิศวกรมีอำนาจหน้าที่ในการเรียกตัววิศวกรที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาให้ข้อมูล เนื่องจากโครงสร้างสะพานดังกล่าวมีช่วงยาวถึง 120 ม. ซึ่งจัดเป็นวิศวกรรมควบคุมตามพระราชบัญญัติวิศวกร พ.ศ.2542 ดังนั้นสภาวิศวกรจะมีการดำเนินการทางจรรยาบรรณกับวิศวกรที่เกี่ยวข้องเพื่อหาสาเหตุการวิบัติที่แท้จริง และหากพบว่า มีวิศวกรที่เกี่ยวข้องไม่ปฏิบัติตามหลักวิชาการ อาจจะมีโทษสูงสุดคือเพิกถอนใบอนุญาต

 

"กรณีนี้ต้องรอฟังผลว่า วิศวกรมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างไรบ้าง ขณะนี้อยู่ระหว่างการทำจดหมายออกไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการสอบสวน และขอแบบแปลนก่อสร้างไปที่กรมทางหลวงชนบท เจ้าของโครงการแล้ว แต่ยังไม่ได้ ถ้าได้แบบมาแล้ว ตามขั้นตอนจะเชิญวิศวกรที่เกี่ยวข้องกับโครงการทั้งหมดประมาณ 10 คน มาให้ข้อมูล โดยเฉพาะวิศวกรผู้ควบคุมงานในจุดที่เกิดเหตุ หากผิดพลาดจริงจะมีโทษตามหลักของวิชาชีพวิศวกร โดยทั้งกระบวนการจะใช้เวลาสอบสวนประมาณ 6 เดือน ถึง 1 ปี"

สำหรับมาตรการที่สภาวิศวกรจะดำเนินการต่อไปนั้น นายอมร พิมานมาศ เปิดเผยว่า การพังถล่มของนั่งร้านเกิดขึ้นหลายครั้งในอดีต ทางสภาวิศวกรได้เชิญวิศวกรโยธามาเข้ารับการฝึกอบรมในวันที่ 21 ต.ค.กว่า 200 คน ที่โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค โดยใช้บทเรียนจากการพังถล่มของคอสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่ จ. ชัยนาท ให้วิศวกรได้เรียนรู้และระวังไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ในอนาคต อีกทั้งสภาวิศวกรกำลังจะเร่งจัดทำมาตรฐานและคู่มือสำหรับออกแบบและก่อสร้างนั่งร้านและโครงสร้างชั่วคราว เพื่อให้วิศวกรมีแนวทาง คาดว่าจะใช้เวลาจัดทำประมาณ 6 เดือน

นายชูเลิศ จิตเจือจุน ผู้ชำนาญการพิเศษทดสอบความรู้ความชำนาญระดับสามัญวิศวกร สาขาวิศวกรรมโยธา เปิดเผยว่าได้ลงพื้นที่ตรวจสอบหลังจากเกิดเหตุ โดยได้เปรียบเทียบระหว่างจุดที่พังและไม่พัง มีข้อสังเกต เช่น การตั้งเสาค้ำยัน ไม่ได้ตั้งตรง มีความสูงชะลูด ตัวรองรับ ส่วนกรณีโครงสร้างที่อยู่ติดตลิ่ง แม้พบว่ามีการเคลื่อนตัวของดินแต่ไม่ใช่ปัจจัยที่ทำให้โครงสร้างพังถล่ม

สิ่งที่เห็นชัดเจน คือ จุดต่อของนั่งร้าน ไม่ถูกหลักวิศวกรรมที่ดี มีการเชื่อมต่อด้วยเศษเหล็ก และทำให้เกิดการโก่งตัวหรือการขยับตัวของนั่งร้านได้ง่าย รวมถึงการปรับระดับของตัวนั่งร้าน มีการบิดตัวเสียรูป มีขนาดบาง นอกจากนี้ ยังพบว่า บริเวณที่ไม่พังถล่ม พบว่า เสาค้ำยันมีความสูงชะลูดและทำให้ระบบมีประสิทธิภาพต่ำ เสาค้ำยัน มีการเชื่อมตัดต่อมาก มีการใช้เหล็กเส้นทำหน้าที่ค้ำยันทะแยง ทำให้รับแรงอัดแทบไม่ได้ เกิดความไม่มั่นคง เมื่อเกิดการทรุดหรือขยัยตัวจะทำให้พลิกล้มเป็นโดมิโน่ได้

นายอรรถสิทธิ ศิริสนธิ ผู้ชำนาญการพิเศษทดสอบความรู้ความชำนาญระดับสามัญวิศวกร สาขาวิศวกรรมโยธา กล่าวถึงแนวทางป้องกันการพังถล่มของสะพานในระหว่างก่อสร้างว่า ผู้ก่อสร้างต้องทำตามแบบที่กำหนดไว้ อยากให้เจ้าของโครงการ ผู้ออกแบบ และผู้รับเหมา ต้องช่วยกันควบคุมดูแลในระหว่างการก่อสร้าง ส่วนนั่งร้านที่นำมาใช้ จะต้องผ่านการรับรองด้วยเช่นกัน

นายวัฒนพงศ์ หิรัญมาลย์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร เปิดเผยว่า งานก่อสร้างสะพานขนาดใหญ่ จำเป็นต้องมีที่ปรึกษาที่มีความชำนาญเฉพาะ เนื่องจากแตกต่างจากการสร้างโครงสร้างพื้นฐานทั่วไปและวิศวกรผู้ควบคุมงานจะมีบทบาทหน้าที่มากในระหว่างงานก่อสร้าง เพราะหากเกิดเหตุบ่อยจะทำให้วงการก่อสร้างลดความน่าเชื่อถือ โดยเฉพาะในไทยตอนนี้ มีงานก่อสร้างขนาดใหญ่มาก

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง