สธ.กำชับ 20 รพ.เฝ้าระวังน้ำท่วม สั่งสำรองยา-เวชภัณฑ์ 2 แสนชุด

สังคม
14 ต.ค. 60
20:40
267
Logo Thai PBS
สธ.กำชับ 20 รพ.เฝ้าระวังน้ำท่วม สั่งสำรองยา-เวชภัณฑ์ 2 แสนชุด

ปลัดกระทรวงสาธารณสุข สั่งสำรองยาและเวชภัณฑ์ 200,000 ชุด และให้ 20 โรงพยาบาลเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมอย่างใกล้ชิด พร้อมเฝ้าระวังโรคที่มากับน้ำ รักษาผู้ป่วยให้ดีที่สุด

วานนี้ (14 ต.ค.2560) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากประกาศกรมอุตุนิยมวิทยาในช่วงวันที่ 9-15 ต.ค.2560 ประเทศไทยมีปริมาณฝนเพิ่มมากขึ้นและมีฝนตกหนักต่อเนื่อง ทำให้เกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ ทำให้ นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข สั่งสำรองยาและเวชภัณฑ์ 200,000 ชุด และให้สถานพยาบาลในพื้นที่เสี่ยงติดตามสถานการณ์ด้านอุทกภัย อย่างใกล้ชิด

สำหรับโรงพยาบาลใน 20 จังหวัดที่เสี่ยง ได้แก่ 1.อุบลราชธานี 2.ร้อยเอ็ด 3.พระนครศรีอยุธยา 4.พิษณุโลก 5.ชัยภูมิ 6.ลพบุรี 7.สุโขทัย 8.อ่างทอง 9.ชลบุรี 10.พิจิตร 11.ตาก 12.เชียงใหม่ 13.ขอนแก่น 14.สุพรรณบุรี 15.อุทัยธานี 16.ชัยนาท 17.กำแพงเพชร 18.นครสวรรค์ 19.สิงห์บุรี และ 20.พะเยา

ขณะนี้มีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลได้รับผลกระทบได้แก่ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ตำบลชีน้ำร้าย 1 และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ตำบลชีน้ำร้าย 2 อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี ปิดให้บริการ ส่วนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ตำบลทับยา เปิดให้บริการ ณ บริเวณเทศบาลตำบลทับยา อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี

นพ.โอภาส ระบุว่า ให้โรงพยาบาลเฝ้าระวังผลกระทบด้านสุขภาพที่อาจจะเกิดขึ้น และดำเนินการดังนี้ 1.จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเพื่อประสานงานและติดตามสถานการณ์ 2.เตรียมทีมดำเนินการด้านการแพทย์และสาธารณสุขเชิงรุกแก่ผู้ประสบภัยโดยให้บริการสนับสนุนทรัพยากร ยาและเวชภัณฑ์ต่างๆ 3.ประเมินความเสี่ยงด้านสุขภาพที่อาจจะเกิดขึ้นต่อผู้ประสบภัย เตรียมจุดบริการนอกโรงพยาบาล หากประชาชนไม่สามารถเดินทางมาโรงพยาบาลได้ ให้จัดทีมแพทย์เคลื่อนที่ให้บริการประชาชนในพื้นที่นั้นๆ และเตรียมทีมหมอครอบครัวติดตามกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังให้ได้รับการดูแลไม่ให้ขาดยา รวมถึงการดูแลฟื้นฟูผู้ประสบภัยหลังน้ำท่วม หากพื้นที่ใดต้องการยา เวชภัณฑ์และสิ่งสนับสนุน ให้แจ้งกองสาธารณสุขฉุกเฉิน (สธฉ.) ซึ่งสามารถนำส่งได้ทันที

นพ.โอภาส ยังกล่าวอีกว่า สภาวะน้ำท่วมที่เกิดขึ้นมักมีปัญหาสุขภาพอนามัยตามมา เพราะกระแสน้ำจะพาให้สิ่งสกปรกเชื้อโรคแพร่กระจาย แหล่งน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคปนเปื้อน อาจเกิดโรคระบาดได้ง่าย เช่น โรคอุจจาระร่วง อาหารเป็นพิษ โรคฉี่หนู ไข้หวัด โรคตาแดง สัตว์มีพิษและของมีคม รวมถึงการเสียชีวิตจากการจมน้ำและไฟดูด ไฟช็อต อีกด้วย

จึงขอให้ประชาชนระมัดระวังและดูแลสุขภาพ โดยสวมใส่เสื้อผ้าที่สะอาด ไม่เปียกชื้น เพื่อรักษาร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ หากมีบุคคลในครอบครัวป่วยเป็นไข้หวัด ขอให้นอนพักสวมหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่น หากอาการยังไม่ดีขึ้นภายใน 2 วันให้รีบพบแพทย์หรือโรงพยาบาลใกล้บ้าน หากจำเป็นลุยน้ำ ย่ำโคลน ควรสวมรองเท้าบูท ล้างทำความสะอาดมือ เท้า ด้วยสบู่และเช็ดให้แห้งทุกครั้ง แต่หากมีอาการปวดศีรษะ มีไข้สูงทันทีทันใด ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะที่น่องและโคนขา คลื่นไส้ ท้องเสีย ให้รีบพบแพทย์ทันที

นอกจากนี้ยังเตือนให้นอนในมุ้งหรือห้องที่มีมุ้งลวด เพื่อป้องกันยุงกัด อย่าลงเล่นน้ำในบริเวณน้ำลึกและเชี่ยว เก็บสิ่งของและเครื่องใช้ต่างๆ ภายในบ้านให้เป็นระเบียบ ป้องกันสัตว์มีพิษและอุบัติเหตุจากของมีคม หากเจ็บป่วยฉุกเฉินสามารถโทรแจ้งได้ที่ 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง