ประมวลการซ้อมริ้วขบวนเครื่องประกอบพระบรมราชอิสริยยศ

สังคม
15 ต.ค. 60
23:07
1,105
Logo Thai PBS
ประมวลการซ้อมริ้วขบวนเครื่องประกอบพระบรมราชอิสริยยศ
การซ้อมริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศ ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ณ สถานที่จริงในวันนี้ (15 ต.ค.2560) มีพระบรมวงศานุวงศ์ทรงร่วมซ้อมในริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศที่ 1, 3 และ 6 ท่ามกลางการเฝ้าดูของประชาชนจำนวนมาก

เวลา 08.00 น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังพระบรมมหาราชวัง ทรงร่วมซ้อมในริ้วขบวนที่ 1 พร้อมด้วยข้าราชบริพาร ในสถานที่จริง ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งมีหมายกำหนดการอัญเชิญพระโกศพระบรมศพ จากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง เวลา 07.00 น.วันที่ 26 ต.ค.2560

โดยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ ร.อ.จิทัศ ศรสงคราม พระราชนัดดาในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นผู้อัญเชิญเครื่องทองน้อยและข้าราชบริพาร ในพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นผู้อัญเชิญเครื่องราชอิสริยยศและเครื่องราชูปโภคพระราชยาน ในริ้วขบวนที่ 1 และในวันนี้ (15 ต.ค.2560) เป็นการซ้อมริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศที่ 1 ริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศที่ 2 ริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศที่ 3 และริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศที่ 6

ก่อนจะเคลื่อนริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศที่ 1 เจ้าพนักงานอัญเชิญพระโกศทองใหญ่ (ซึ่งจำลองสำหรับใช้ซ้อม) ขึ้นประดิษฐานบนพระยานมาศสามลำคาน อัญเชิญพระบรมโกศ ออกทางทางประตูศรีสุนทร ซึ่งเป็นประตูชั้นใน ผ่านบริเวณที่หน้าประตูเทวาภิรมย์ เพื่อตั้งริ้วขบวนบนถนนมหาราช โดยมี รศ.นพ.ประดิษฐ์ ปัญจวีณิน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ เป็นผู้ประคองพระบรมโกศ ออกมาทางประตูศรีสุนทรและประตูเทวาภิรมย์ เมื่อพระโกศถึงยังถนนมหาราชแล้ว เจ้าพนักงานอัญเชิญพระมหาเศวตฉัตรกางกั้นพระโกศ

ต่อมา ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ขึ้นไปประคองพระบรมโกศบนพระยานมาศสามลำคาน จากนั้นเมื่อเจ้าพนักงานรัวกรับเป็นสัญญาณครบ 3 ครั้งแล้ว วงมโหรทึกเริ่มบรรเลง ริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศจึงเริ่มเคลื่อนตามสัญญาณกลองและเคลื่อนไปตามถนนมหาราช เลี้ยวเข้าสู่ถนนท้ายวัง มุ่งไปยังถนนสนามไชย

ในส่วนที่นำหน้าริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศที่ 1 คือพระเสลี่ยงกลีบบัว เป็นพระราชยานสำหรับสมเด็จพระอริยวงศ์ศาคตญาน สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก หรือพระราชาคณะ นั่งอ่านพระอภิธรรมนำหน้าพระโกศ

โดยในริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศที่ 1 ในริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศที่ 2 ริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศที่ 3 มีราชสกุลร่วมเดินในริ้วขบวน รวมจำนวน 100 ราชสกุล จากจำนวนทั้งหมด 129 ราชสกุล โดย 29 ราชสกุลที่ไม่ได้เข้าร่วมเดินเนื่องจากไม่มีทายาทสืบทอด

ริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศที่ 2 อัญเชิญพระโกศทองใหญ่ (จำลอง) ขึ้นประดิษฐานในบุษบกพระมหาพิชัยราชรถ โดยเกรินบันไดนาค ซึ่งตั้งแถวอยู่ที่หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน ยาตรา จากถนนสนามไชย ผ่านกระทรวงกลาโหม ศาลฎีกา เข้าสู่ถนนราชดำเนินใน ซึ่งในทุกๆจุดมีประชาชนร่วมชมพิธีการซ้อมเป็นจำนวนมากจากนั้นขบวนพระบรมราชอิสิริยยศแห่เชิญพระโกศทองใหญ่ (จำลอง) เข้าสู่ท้องสนามหลวง รวมระยะทาง 890 เมตร ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง

โดยในริ้วขบวนที่ 2 ประกอบด้วยราชสกุลคือ หม่อมเจ้า 4 พระองค์ คือ พล.ท.หม่อมเจ้า เฉลิมศึก ยุคล, ร.อ.หม่อมเจ้า นวพรรษ์ ยุคล, ท่านหญิงศรีสว่างวงศ์ (ยุคล) บุญจิตราดุลย์ และท่านหญิงนภดลเฉลิมศรี ยุคล นอกจากนี้ยังประกอบไปด้วยหม่อมราชวงศ์และหม่อมหลวง ซึ่งในการคัดเลือกราชสกุลเข้าร่วมเดิน พิจารณาจากผู้เคยร่วมริ้วขบวนพระราชอิสริยยศ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดาฯ สิริโสภาพรรณวดี และผู้เคยร่วมริ้วขบวนพระราชอิสริยยศ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ รวมทั้งพิจารณาจากพระชันษา อายุและ พระพลานามัยของราชสกุลที่เข้าร่วมเดิน

ทั้งนี้ พระมหาพิชัยราชรถ มีลักษณะราชรถทรงบุษบก ทำด้วยไม้แกะสลักลงรักปิดทองประดับกระจก สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกหาราช ใช้เพื่ออัญเชิญพระโกศพระอัฐิสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก (ทองดี) ออกพระเมรุ เมื่อพุทธศักราช 2339 ต่อมาใช้อัญเชิญพระบรมโกศพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศ์จนถึงปัจจุบัน พระมหาพิชัยราชรถเป็นราชรถที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศ ความสูง 11.20 เมตรกว้าง 4.84 เมตร ยาว 18 เมตร น้ำหนัก 13.7 ตัน ต้องใช้พลฉุดชักเคลื่อนพระมหาพิชัยราชรถจำนวนมาก

ริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศที่ 2 ถือเป็นริ้วขบวนที่มีความสง่างาม การเคลื่อนขบวนพระบรมราชอิสริยยศเปรียบเสมือนราชรถอยู่บนหมู่เมฆ สวยงาม สมพระเกียรติพระผู้เสด็จสู่สวรรคาลัย ภายในริ้วขบวนมีกำลังพลหามและฉุดชักจำนวนมาก ประกอบไปด้วยสารวัตรกลอง สารวัตรมโหระทึก สารวัตรแตร พนักงานกำกับฉัตร เครื่องสูงทองแผ่ลวด (ซึ่งจะอยู่หน้าพระนำ) พนักงานคุมฉัตรเครื่องสูงทองแผ่ลวด (หลังพระนำ) พนักงานคุมฉัตรเครื่องสูงหักทองขวาง นับเป็นเครื่องสูงประกอบพระราชอิสริยยศที่สืบทอดคติความเชื่อเกี่ยวกับพระราชพิธีพระบรมศพพระมหากษัตริย์ จนกล่าวได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมราชประเพณีที่สำคัญของชาติการเดินในริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศเป็นการเดินสืบเท้าประกอบดนตรีบรรเลงโดยกรมดุริยางค์ทหารบก เพลงที่บรรเลงประกอบด้วย 3 เพลงได้แก่ เพลงพญาโศกลอยลม เพลงสรรเสริญเสือป่า และเพลงสรรเสริญพระนารายณ์

กระทั่งเวลา 12.05 น. ริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศที่ 2 ถึงยังท้องสนามหลวง พระมหาพิชัยราชรถจอดเทียบหน้าทางเข้าพระเมรุมาศ เชิญพระโกศทองใหญ่ (จำลอง) ลงจากพระมหาพิชัยราชรถโดยเกรินบันไดนาค ประดิษฐานพระโกศทองใหญ่ (จำลอง) บนราชรถปืนใหญ่ ตั้งขบวนพระบรมราชอิสริยยศเข้าสู่ราชวัติ เวียนพระเมรุมาศ โดยอุตราวัฏเวียนซ้าย 3 รอบ แล้วเทียบราชรถปืนใหญ่ที่เกรินบันไดนาคพระเมรุมาศ เชิญพระโกศทองใหญ่ขึ้นประดิษฐาน ณ พระจิตกาธาน รวมระยะทาง 260 เมตร ต่อรอบใช้เวลาประมาณ 30 นาที ในการนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ ทรงร่วมซ้อมในริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศที่ 3 ด้วย และยังมีราชสกุลต่างๆ ทุกมหาสาขา เดินในริ้วขบวนการเชิญพระบรมโกศเวียนพระเมรุมาศด้วย

พระราชยานที่สำคัญในริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศที่ 3 คือราชรถปืนใหญ่ ถือเป็นราชรถองค์สำคัญที่ใช้ในการอัญเชิญพระบรมโกศ ลงจากพระมหาพิชัยราชรถ เวียนรอบพระเมรุมาศ ก่อนประดิษฐานบนพระจิตกาธานพระเมรุมาศ ราชรถปืนใหญ่จัดสร้างขึ้นโดยกองโรงงานซ่อมสร้างยุทโธปกรณ์สายสรรพาวุธ ศูนย์ซ่อมสร้างสิ่งอุปกรณ์สายสรรพาวุธ กรมสรรพาวุธทหารบก ภายในค่ายสุรธรรมพิทักษ์ ต.โพธิ์กลาง อ.เมือง จ.นครราชสีมา

กรมสรรพาวุธได้รับมอบหมายให้จัดสร้างราชรถปืนใหญ่ขึ้น 3 องค์ เพื่อใช้ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช 1 องค์และใช้เป็นราชรถสำรอง 1 องค์ ใช้สำหรับฝึกซ้อม 1 องค์ แต่ทั้ง 3 องค์ต้องสร้างให้หมือนกันทุกประการ โดยถือเป็นการจัดสร้างราชรถปืนใหญ่เพื่อใช้ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ครั้งแรกหลังจากงานถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพรปรเมนทรมหาอานันทมหิดลพระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ 8 สิ้นสุดลง

การอัญเชิญพระบรมศพจากพระมหาปราสาทไปสู่พระเมรุมาศ หรืออัญเชิญพระบรมอัฐิจากพระเมรุมาศมาสู่พระบรมมหาราชวัง การอัญเชิญพระบรมราชสรีรางคารไปบรรจุตามสถานที่กำหนดไว้ ในโบราณกาลจะอัญเชิญด้วยขบวนพระราชอิสริยยศซึ่งเรียกว่า "ริ้วขบวน" พร้อมด้วยเครื่องประกอบพระอิสริยยศ การจัดริ้วขบวนเครื่องประกอบพระบรมราชอิสริยยศ ในการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีขบวนพระบรมราชอิสริยยศจำนวน 6 ริ้วขบวน

โดยมีการบูรณะตกแต่งราชรถ ราชยานและเครื่องประกอบพระบรมราชอิสริยยศ เพื่อให้พร้อมสำหรับการอัญเชิญพระบรมศพ พระบรมอัฐิ และพระบรมราชสรีรางคาร รวมทั้งซ้อมการเคลื่อนขบวนให้งดงาม ประหนึ่งราชรถเคลื่อนบนหมู่เมฆของพระผู้เสด็จสู่สวรรค์ ริ้วขบวนทุกริ้วสร้างความประจักษ์ให้ผู้ติดตามเฝ้าดู ได้เห็นถึงโบราณราชประเพณี สะท้อนถึงความมั่งคั่งทางภูมิปัญญาและศิลปะ ความพร้อมเพรียงและตั้งใจฝึกซ้อม ความทุ่มเทของทุกคนในริ้วขบวน แสดงให้เห็นถึงความจงรักภักดี ความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ แฝงด้วยความอาลัย โดยการคัดเลือกกำลังพลในการฉุดชักทุกริ้วขบวนต้องเป็นผู้มีบุคคลิกลักษณะดี มีความสูง 160-165 เซ็นติเมตร ทุกคนได้เครื่องแต่งกายใหม่ มีเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังให้ความรู้เรื่องการแต่งกาย เพื่อให้ถูกต้องสวยงามเป็นไปตามพระราชประเพณีทุกประการ

ริ้วขบวนและพระเมรุมาศในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ล้วนเป็นการถวายพระเกียรติยศอย่างสูงแด่พระมหากษัตริย์ที่เสด็จสวรรคต โดยเฉพาะงานพระราชพิธีพระบรมศพในหลวงรัชกาลที่ 9 นี้สะท้อนถึงความแนบแน่นของสถาบันพระมหากษัตริย์กับพสกนิกรในแผ่นดิน ริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศ เป็นเครื่องประกอบสำคัญยิ่งของการพระราชพิธีออกพระเมรุ ถวายพระเพลิงพระบรมศพ จนกล่าวได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมราชประเพณีที่สำคัญของชาติ

ในส่วนที่ไม่ได้ทำการซ้อมในวันนี้ คือริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศที่ 4 ซึ่งได้อัญเชิญพระโกศพระบรมอัฐิ (จำลอง) ขึ้นประดิษฐานในบุษบกพระที่นั่งราเชนทรยาน จากพระเมรุมาศท้องสนามหลวง เข้าสู่พระบรมมหาราชวัง ริ้วขบวนที่ 5 อัญเชิญพระโกศพระบรมอัฐิขึ้นประดิษฐานในบุษบกพระที่นั่งราเชนทรยาน จากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ขึ้นประดิษฐาน ณ พระวิมานบนพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

ในช่วงบ่ายพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ ในฐานะผู้บังคับการกองพันทหารม้าที่ 29 รักษาพระองค์ ทรงม้านำขบวนพระบรมราชอิสริยยศ มีขบวนกองทหารม้าจำนวน 77 ม้า ใช้กำลังพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ม2.รอ) และกำลังพลของกองบัญชาการตำรวจนครบาล อัญเชิญพระบรมราชสรีรางคารจากพระศรีรัตนเจดีย์ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบรมมหาราชวัง โดยรถยนต์พระที่นั่งไปยังวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เพื่ออัญเชิญพระผอบพระบรมราชสรีรางคารไปยังพุทธบัลลังก์พระพุทธอังคีรสบรรจุลงในถ้ำศิลา จากนั้นขบวนพระบรมราชอิสริยยศ ขบวนกองทหารม้า จะอัญเชิญพระบรมราชสรีรางคาร โดยรถยนต์พระที่นั่งไปยังบัลลังก์พระพุทธชินสีห์ และบรรจุลงในถ้ำศิลา ณ วัดบวรนิเวศวรวิหาร

สำหรับริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศริ้วขบวนที่ 6 ใช้เส้นทางประตูวิเศษไชยศรี-ถนนหน้าพระลาน-เลี้ยวขวาถนนสนามไชย-เลี้ยวซ้ายถนนกัลยาณไมตรี-ข้ามสะพานช้างโรงสี-เลี้ยวขวาถนนอัษฎางค์-เลี้ยวซ้ายเทียบ ที่เกยหน้าวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม

จากนั้น ออกจากวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เลี้ยวขวาถนนอัษฎางค์-เลี้ยวซ้ายขึ้นสะพานช้างโรงสี ไปตามถนนกัลยาณไมตรี-เลี้ยวขวาถนนสนามไชย-ถนนราชดำเนินใน-ข้ามสะพานพิภพ ลีลา-ถนนราชดำเนินกลาง-เลี้ยวซ้ายถนนพระสุเมรุ ไปเทียบหน้าประตูวัดบวรนิเวศวิหาร ในการซ้อมริ้วขบวนพระบรมราชอิสิริยยศจะมีขึ้นอีกครั้ง ในวันที่ 21 ต.ค.2560 เป็นการซ้อมริ้วขบวนที่ 1 ริ้วขบวนที่ 2 และริ้วขบวนที่ 3 ส่วนการซ้อมในวันที่ 22 ต.ค.2560 เป็นการซ้อมเฉพาะริ้วที่ 4, 5 และ 6 โดยสรุปยอดรวมผู้ซ้อมริ้วขบวน 6 ขบวน ทั้งหมด 6,976 คน

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

-
ข่าวที่เกี่ยวข้อง