"ฐากร" ชี้ข้อเสนอเยียวยาทีวีดิจิทัลขาดทุนเกินอำนาจ กสทช.

เศรษฐกิจ
18 ต.ค. 60
16:24
232
Logo Thai PBS
"ฐากร" ชี้ข้อเสนอเยียวยาทีวีดิจิทัลขาดทุนเกินอำนาจ กสทช.
กสทช. ยังไม่ตัดสินใจ หลังผู้ประกอบทีวีดิจิทัลเดินสายพบ"วิษณุ"รองนายกฯ และ กก.ปฏิรูปสื่อฯ สปช. ร้องขอแก้ปัญหาขาดทุน ย้ำหลายเรื่องเกินอำนาจ กสทช. รอชง ม.44 แก้ปัญหา

วันนี้ (18 ต.ค.2560) นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทร ทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.กล่าวว่า ที่ประชุมกสทช.มีมติเห็นชอบแนวทางการช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ด้วยการลดค่าธรรมเนียมใบอนุญาต โดยผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ที่มีรายได้ 0 – 100 ล้านบาท จัดเก็บร้อยละ 0.125  รายได้เกิน 100 ล้านบาท – 500 ล้านบาท จัดเก็บร้อยละ 0.25  รายได้เกิน 500 ล้านบาท – 1,000 ล้านบาท จัดเก็บร้อยละ 0.5  รายได้เกิน 1,000 ล้านบาท – 5,000 ล้านบาท จัดเก็บร้อยละ 0.75 และรายได้เกิน 5,000 ล้านบาทขึ้นไป จัดเก็บร้อยละ 1.5

ทั้งนี้ เป็นการปรับลดลงจากอัตราค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์รายปีที่จัดเก็บในปัจจุบัน จากเดิมผู้ประกอบกิจการฯ ที่มีรายได้ 0 – 5 ล้านบาท จัดเก็บร้อยละ 0.50

รายได้ส่วนที่เกินกว่า 5 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 50 ล้านบาท จัดเก็บร้อยละ 0.75 

รายได้ส่วนที่เกินกว่า 50 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 500 ล้านบาท จัดเก็บร้อยละ 1.00

รายได้ส่วนที่เกินกว่า 500 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 1,000 ล้านบาท จัดเก็บร้อยละ 1.75

รายได้ส่วนที่เกินกว่า 1,000 ล้านบาทขึ้นไป จัดเก็บร้อยละ 2.00

สำหรับอัตราใหม่เป็นอัตราและขั้นรายได้เดียวกับอัตราค่าธรรมเนียมใบอนุญาตรายปี สำหรับกิจการโทรคมนาคม ซึ่งปัจจุบันยังคงอยู่ในระหว่างกระบวนการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะภายใน 45 วัน และคาดว่านำเสนอบอร์ดไม่ได้เกินต้นเดือนธันวาคม และบังคับใช้ได้ไม่เกินปลายเดือนธันวาคม

ชี้ข้อเสนอเยียวยา "ทีวีดิจิทัล" เกินอำนาจ กสทช.

ส่วนข้อเสนอของผู้ประกอบกิจการ ในนามสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) นำโดยนายสุภาพ คลี่ขจาย นายกสมาคมฯ ยื่นข้อร้องเรียนต่อนายวิษณุ เครืองาม และคณะกรรมการปฏิรูปด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ ของสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. เพื่อขอให้หาแนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการ หลังจากประกอบกิจการทีวีดิจิทัลช่วง 5 ปี โดยอ้างว่าประสบปัญหาทำให้ขาดทุน และกระทบต่ออุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลทั้งระบบ ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ว่าให้เป็นหน้าที่ของ กสทช.ตัดสินใจ 

นายฐากร ระบุว่า ข้อเสนอบางประเด็นเกินอำนาจ กสทช. และกฎหมายไม่อนุญาตให้ทำ เช่น การใช้เงินของกสทช.ที่เหลือจากการแจกคูปองทีวีดิจิทัล 3,000 - 4,000 ล้านบาท มาจ่ายแทนผู้ประกอบการ ในส่วนของค่าเช่าโครงข่ายเสาสัญญาณแพร่ภาพที่ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล จำนวน 22 ช่อง ต้องเช่าเสาโครงข่ายช่อง 5, ThaiPBS, ช่อง 9 โมเดิร์นไนน์ทีวี และช่อง NBT ออกอากาศแต่ละปี ประมาณเฉลี่ยกว่า 2,500 ล้านบาท

 

รวมถึงข้อเสนอที่ว่า หากผู้ประกอบการต้องการยกเลิกประกอบกิจการทีวีดิจิทัล จะขอไม่จ่ายเงินชนะประมูลในส่วนที่เหลืองวดที่ 5 และ 6 ซึ่งขณะนี้มีมูลค่ารวมกว่า 16,837 ล้านบาท ( 24 ช่อง) จะสามารถทำได้หรือไม่ ประเด็นนี้เคยหารือกันหลายครั้งแล้ว เนื่องจากเงินรายได้ที่เกิดจากการประมูลทีวีดิจิทัล จะต้องนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน การไม่เก็บงวดที่เหลือนั้น เกินอำนาจหน้าที่ของ กสทช. ซึ่งหากจะแก้ปัญหาจริงจะต้องเข้าสู่กระบวนการฟ้องร้องต่อศาลปกครอง หรือไม่ก็ใช้ช่องทางเสนอหัวหน้า คสช.ให้ใช้มาตรา 44 แต่ประเด็นเหล่านี้ต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ผ่านมา กสทช.เสนอหัวหน้า คสช. เพื่ออาศัยอำนาจตามมาตรา 44 แก้ปัญหาทีวีดิจิทัลมาแล้ว โดยเมื่อเดือนธันวาคม 2559 กำหนดให้ผู้ประกอบการฟรีทีวี ปัจจุบันเหลือ 22 ช่อง เลื่อนชำระเงินในงวดที่ 4 ซี่งครบกำหนดเมื่อเดือนพฤษภาคม 2560 ได้ โดยแบ่งซอยย่อยงวดประมูลออกเป็น 8 งวด สำหรับผู้ที่ต้องการเลื่อนจ่ายเงินประมูล (ส่วนผู้ที่ไม่ต้องการเลื่อนจ่ายเงินประมูลให้จ่ายทุกเดือนพฤษภาคมตามเดิม ในอีก 2 งวดที่เหลือ)

นอกจากนี้ ยังสั่ง กสทช.จ่ายค่าเช่าโครงข่ายออกอากาศทางดาวเทียม ให้บริษัท ไทยคม จำนวน 2,500 ล้านบาท แทนผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลทั้ง 22 ช่อง เพื่อให้เป็นไปตามมัสแครี่ย์ ที่กำหนดให้ผู้ประกอบการต้องออกอากาศรายการได้ในทุกช่องทางโครงข่าย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง