เตือนหมู่บ้านห้วยคิง จ.ลำปาง ยังไม่ปลอดภัย - ดินยังเคลื่อนตัว

ภัยพิบัติ
20 ต.ค. 60
16:01
1,339
Logo Thai PBS
เตือนหมู่บ้านห้วยคิง จ.ลำปาง ยังไม่ปลอดภัย - ดินยังเคลื่อนตัว
นักวิชาการเตือนพื้นที่ดินทรุดตัวหมู่บ้านห้วยคิง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ยังพบมีการเคลื่อนตัวอย่างต่อเนื่อง แนะนำไม่ควรเข้าไปในพื้นที่จนกว่าฝนจะหยุดตก เพราะอาจจะไม่ปลอดภัยกับชาวบ้าน

วันนี้ (20 ต.ค.2560) รศ.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีเกิดเหตุดินทรุดตัวในหมู่บ้านห้วยห้วยคิง หมู่ 6 ต.แม่เมาะ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ตั้งแต่ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ล่าสุดพบว่า สภาพดินที่ยังคงเคลื่อนตัวอย่างต่อเนื่อง ทำให้พื้นที่นี้ทั้งหมดเสี่ยงที่จะเกิดการถล่มยุบตัวลงไปได้ตลอดเวลา ทำให้นักวิชาการเตือนว่าทั้งเจ้าของบ้านและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยว ข้องทั้งหมด ไม่ควรเข้าไปในพื้นที่ดินทรุดในระยะนี้

นักวิชาการ บอกอีกว่า เมื่อฝนตกการเคลื่อนตัวก็จะยิ่งเกิดมากขึ้น จึงควรใช้เครื่องมือตรวจวัดการเคลื่อนตัวอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่ควรเข้าไปในพื้นที่ เช่น ใช้โดรนเพื่อตรวจวัดการเคลื่อนตัวแทน รวมทั้งควรแก้ปัญหาด้วยการเปลี่ยนทางน้ำที่จะไหลเข้าไปในพื้นที่ ซึ่งจะยิ่งทำให้การยุบตัวมากขึ้น และควรรอจนหมดฝน จึงจะเริ่มกลับเข้าไปในพื้นที่ได้อีกครั้ง เพื่อป้องกันโศกนาฎกรรมที่อาจจะเกิดขึ้นได้


ผมอยากเตือนว่า เจ้าของบ้านที่อยู่ในพื้นที่นั้น ไม่ว่าจะเจ้าของบ้าน หรือคนที่จะเข้าไปช่วย พื้นที่บริเวณนี้ถือว่าอันตรายมาก ตรงนั้นต้องปิดเป็นพื้นที่ห้ามเข้าให้มันขยับตัวจนสมดุลเรียบร้อย จึงเข้าไปดำเนินการต่อ และต้องทำหลังจากฝนหยุดแล้วเท่านั้น

 

 

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 17 ต.ค.ที่ผ่านมา ทีมสำรวจจากสำนักงานทรัพยากรธรณีเขต 1 กรมทรัพยากรธรณี เข้าตรวจสอบพื้นที่ดินแยกบ้านห้วยคิง ม.6 ต.แม่เมาะ โดยเจาะดินสำรวจ  4 หลุม ความลึก 2.5 -​ 6.0 เมตร สรุปลักษณะ​ชั้นดินได้ 2 ชั้นหลัก ๆ คือ ดินชั้นบนพบตั้งแต่ระดับผิวดินลงไปลึกโดยเฉลี่ยประ มาณ 2.0 เมตร เป็นดินเหนียวสีน้ำตาลแดง เนื้อดินละเอียด สม่ำเสมอ เหนียว แน่น และแห้ง รอยต่อระหว่างดินชั้นบนและชั้นล่างเป็นดินโคลนลื่นๆ มีคราบสนิมเหล็กสีน้ำตาลแดง และมีน้ำปนเยอะ ดินชั้นล่างมีความหนามากกว่า 4 เมตร เป็นดินเหนียวสีเทาอ่อน เนื้อเนียน แห้งและแข็ง ระหว่างการเจาะสำรวจ พบน้ำซึมเข้ามาในหลุมเจาะที่ระดับความลึกจากผิวดินประมาณ 2 เมตร หรือที่ระดับรอยต่อดินชั้นบนและชั้นล่าง


ผลจากการเจาะสำรวจ สรุปได้ว่า รอยแตกที่ทำให้เกิดความเสียหาย ณ บริเวณจุดเกิดเหตุ เกิดจากการเคลื่อนตัวของดินชั้นบนตามแนวรอยต่อของดินทั้งสองชั้น และในขณะตรวจวันนี้ยังพบการเคลื่อนตัวของชั้นดินสูง ทำให้เกิดรอยแยกมากขึ้น ในพื้นที่ 8 ไร่ ที่เกิดการเคลื่อนตัว ขณะนี้ทางจังหวัดลำปางได้ประกาศให้เป็นพื้นที่ภัยพิบัติ​ และอพยพคนจำนวน 25 คนไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยเรียบร้อยแล้ว และจากการตรวจสอบดังกล่าวคาดว่า พื้นที่ประสบภัย​พิบัติ​จะไม่ขยายตัวไปมากกว่านี้

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง