จับตา "พายุลูกใหม่" จ่อเข้าภาคใต้ปลาย ต.ค.นี้

ภัยพิบัติ
27 ต.ค. 60
19:58
35,872
Logo Thai PBS
จับตา "พายุลูกใหม่" จ่อเข้าภาคใต้ปลาย ต.ค.นี้
กรมอุตุนิยมวิทยา ยืนยันว่าพายุลูกใหม่ มีโอกาสก่อตัวในทะเลจีนใต้ ร้อยละ 60 อาจจะส่งผลกระทบกับภาคใต้ของไทย โดยเฉพาะชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ คาดมีความชัดเจนช่วง 30-31 ต.ค.นี้

วันนี้ (27 ต.ค.2560) ผู้สื่อข่าวรายงานว่าหลังจากสัปดาห์ที่ผ่านมา มีนักวิชาการหลายคนเฝ้าระวังแนวโน้มการเกิดพายุในทะเลจีนใต้ที่มีแนวโน้มจะพัดเข้าสู่อ่าวไทยและส่งผลกระทบกับภาคใต้ได้

โดยความเสี่ยงพายุที่อาจจะก่อตัว และพ้ดเข้ามาในอ่าวไทยในสัปดาห์หน้า เกิดจากหย่อมความกดอากาศต่ำ แต่ขณะนี้หย่อมความกดอากาศต่ำในทะเลจีนใต้ ยังไม่เคลื่อนตัว เกิดจากพายุลูกนี้ยังคงดึงหย่อมความกดอากาศต่ำให้อยู่กับที่ หลังจากพายุพัดขึ้นไปที่ประเทศญี่ปุ่นแล้ว หย่อมความกดอากาศต่ำนี้ก็มีแนวโน้มที่จะเคลื่อนตัวเข้ามาที่ปลายแหลมญวน และเข้าสู่อ่าวไทยในที่สุด 

นายวันชัย ศักดิ์อุดมไชย อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า ในวันที่ 30 ต.ค.นี้หย่อมความกดอากาศต่ำจะเริ่มก่อตัวชัดเจนขึ้น ก่อนที่วันที่ 31 ต.ค.นี้จะเริ่มเข้าปะทะปลายแหลมญวน วันที่ 1 พ.ย.นี้ จะเริ่มเคลื่อนตัวเข้าสู่อ่าวไทย ดังนั้นตั้งแต่วันที่ 30 ต.ค.นี้ มีแนวโน้มที่หย่อมความกดอากาศต่ำจะทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุดีเปรสชั่น และเข้าปะทะบริเวณจังหวัดชุมพร และประจวบคีรีขันธ์ เรือประมงขนาดเล็กควรงดออกจากฝั่งแล้ว 

 

 

ขณะที่รศ.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติมหาวิทยาลัยรังสิตให้ข้อมูลด้วยว่า แบบจำลองชี้ให้เห็นว่า ศูนย์กลางพายุอาจเข้าที่จังหวัดชุมพร แต่แรงลมอาจส่งผลกระทบรุนแรงที่สุดกับจังหวัดประจวบคีรีขันธ์

แต่ทั้งสองหน่วยงานยืนยันว่าต้องเฝ้าระวังพายุอย่างใกล้ชิดต่อไป เพราะทิศทางอาจเปลี่ยนแปลงได้อีก โดยทิศทางที่ชัดเจนและแม่นยำน่าจะทราบแน่ชัดในวันที่ 30 ต.ค.นี้ 
 
รศ.เสรี ประเมินว่า ถ้าพายุเข้ามาจะเห็นพื้นที่น้ำท่วมเป็นบริเวณกว้างทั่วทั้งจังหวัด โดยเฉพาะอำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ และอำเภอบางสะพาน ที่เคยถูกน้ำท่วมหนักเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา แต่ถ้าพายุเข้าตามทิศทางนี้จังหวัดที่จะได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดคือ ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ และ สุราษฎร์ธานี แต่ภาคใต้ทั้งหมดก็มีความเสี่ยงน้ำท่วมได้

เพราะขณะนี้หลายจังหวัดก็เริ่มมีฝนตกหนักแล้ว ถ้าพายุพัดเข้ามาอีกก็จะทำให้เสี่ยงน้ำท่วมได้ แต่ทั้งหมดนี้คือแนวโน้มที่อาจจะเกิดขึ้นได้ที่ประมาณร้อยละ 60 - 70 พื้นที่ที่มีความเสี่ยงก็ควรเตรียมรับมือน้ำท่วมไว้ล่วงหน้า เพื่อลดความสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้นได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง