กรมชลประทานเผย น้ำเหนือลดลงต่อเนื่อง ทยอยลดน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา

ภูมิภาค
30 ต.ค. 60
15:43
445
Logo Thai PBS
กรมชลประทานเผย น้ำเหนือลดลงต่อเนื่อง ทยอยลดน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา
กรมชลประทาน แจ้งว่า ปริมาณน้ำเหนือลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยจะทยอยลดน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา วันนี้

วันนี้ (30 ต.ค.2560) นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ตามที่ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบนโยบายให้กรมชลประทานวางมาตรการเร่งระบายน้ำบริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยาและน้ำในทุ่งพื้นที่ลุ่มต่ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาออกสู่ทะเลโดยเร็วที่สุด นั้น

สถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปัจจุบัน (30ต.ค.60) ปริมาณน้ำไหลผ่านที่สถานี C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ ลดลงอย่างต่อเนื่อง เช้านี้วัดได้ 2,844 ลบ.ม./วินาที ระดับน้ำลดลงจากวานนี้ (29ต.ค.60) 7 เซนติเมตร ส่งผลให้ระดับน้ำบริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยาลดลงอยู่ที่ +17.20 เมตร(รทก.) ระดับน้ำลดลง 11 เซนติเมตร ปริมาณน้ำไหลผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยายังคงที่ในอัตรา 2,697 ลบ.ม./วินาที(เวลา 06.00 น.)ทำให้ระดับน้ำด้านท้ายเขื่อนจนถึงบริเวณ จ.พระนครศรีอยุธยา ทรงตัว

ส่วนปริมาณน้ำที่บริเวณ อ.บางไทร วัดได้ 2,795 ลบ.ม./วินาที ไม่กระทบต่อพื้นที่เศรษฐกิจในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล แนวโน้มปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างทรงตัวและจะลดลงในระยะต่อไป

ทั้งนี้ เนื่องจากระดับน้ำบริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยาลดลงอย่างต่อเนื่อง กรมชลประทาน จึงได้ปรับลดการรับน้ำลงสู่แม่น้ำน้อย จากวันละ 196 เหลือ 186 ลบ.ม./วินาที ส่วนคลองชัยนาท-ป่าสัก ได้ปรับลดการรับน้ำเข้าคลองเช่นกัน จากวันละ 195 เหลือ 185 ลบ.ม./วินาที โดยจะปรับลดให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในระยะต่อไป

ขณะเดียวกันในช่วงบ่ายของวันนี้ (30ต.ค.60) ได้ลดการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาลง 50 ลบ.ม./วินาที เหลือ 2,647 ลบ.ม./วินาที ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาตั้งแต่ จ.ชัยนาท ไปจนถึงบริเวณพื้นที่ที่มีน้ำเอ่อล้นตลิ่งนอกคันกั้นน้ำบริเวณคลองโผงเผง คลองบางบาล แม่น้ำน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำจะลดลงตามลำดับในระยะต่อไป

สำหรับการนำน้ำออกจากทุ่งพื้นที่ลุ่มต่ำทั้งหมด ซึ่งปัจจุบัน (30ต.ค.60) มีปริมาณน้ำในทุ่งรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 1,423 ล้าน ลบ.ม. นั้น กรมชลประทาน ได้วางแผนทยอยนำน้ำออกจากทุ่งแล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 60 ไปจนถึงต้นเดือน ม.ค. 61 โดยจะเริ่มตั้งแต่ทุ่งบางระกำก่อน จากนั้นจะไล่ลงมาจนถึงทุ่งสุดท้ายคือทุ่งโครงการฯโพธิ์พระยา เพื่อให้สอดคล้องกับการเพาะปลูกของเกษตรกรในแต่ละพื้นที่ด้วย

ทั้งนี้ การนำน้ำออกจากทุ่งต่างๆ จะใช้ระบบชลประทานในการระบายน้ำลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำท่าจีนเป็นหลัก โดยจะควบคุมปริมาณน้ำไม่ให้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ที่น้ำไหลผ่าน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง