นิทรรศการ “นำสัมผัสพระเมรุ” สื่อสารงานศิลป์เพื่อผู้พิการทางสายตา

สังคม
1 พ.ย. 60
20:06
3,139
Logo Thai PBS
นิทรรศการ “นำสัมผัสพระเมรุ” สื่อสารงานศิลป์เพื่อผู้พิการทางสายตา

การเรียนรู้ศิลปะผ่าน "สัมผัส" เป็นสิ่งแปลกใหม่ในนิทรรศการของไทย ที่ช่างฝีมือร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานจากหัวใจ เพิ่มโอกาสให้ผู้พิการทางสายตาได้เรียนรู้และเข้าถึงงานศิลปะอันทรงคุณค่า เสริมสร้างจินตนาการให้สมจริงยิ่งขึ้น ผ่านนิทรรศการงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

 

 

พรพิทักษ์ มโนจิต เจ้าหน้าที่สถาบันดนตรีคนตาบอด (S2S) วัย 32 ปี ได้เข้าร่วมงานนิทรรศการสัมผัสเพื่อผู้พิการทางสายตาเป็นครั้งแรกในชีวิต บอกว่า ตัวเองรู้สึกถึงความเสมือนจริงและใกล้ชิดงานศิลปะ เนื่องจากไม่มีโอกาสมองเห็นจึงต้องเรียนรู้ผ่านการสัมผัส ที่สำคัญมีอักษรเบรลล์ในการนำเสนอข้อมูลหรือเรื่องราวของประติมากรรมแต่ละชิ้น ซึ่งจุดของอักษรเบรลล์มีความคมชัดมาก และมีเบรลล์บล็อก หรือทางเดินสำหรับผู้พิการทางสายตา แสดงถึงความตั้งใจของผู้จัดทำงานที่ดี นอกจากนี้ ยังมีเจ้าหน้าที่บรรยายข้อมูลของประติมากรรมและสถาปัตยกรรม พร้อมเสนอให้ขยายเวลาการเข้าร่วมนิทรรศการ เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ต่างจังหวัดและชาวต่างชาติได้สัมผัสความยิ่งใหญ่ของงานในครั้งนี้

รู้สึกเสมือนจริง เพราะของจริงเราขึ้นไปดูไม่ได้ การย่อส่วนให้เราดู ทำให้สัมผัสแบบใกล้ชิด อย่างมัจฉานุ สัตว์ในหิมพานต์ ที่ตัวเป็นลิง หางเป็นปลา

 

 

“งานศิลปะ เวลาบอกให้คนตาบอดจินตนาการ ก็ลำบาก จนกว่าจะได้คลำ พอคลำแล้วก็จะรู้ ว่ามือเป็นแบบนี้ หน้าเป็นแบบนี้ ก็จะจินตนาการออก” นี่คือความเห็นของ ศ.วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ประธานมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ พร้อมกล่าวว่า ผู้พิการอยาก "สัมผัส" ให้ได้มากที่สุด แต่ก็มีข้อจำกัด นิทรรศการในครั้งนี้ถือว่าทำได้อย่างยอดเยี่ยม พยายามสื่อให้ผู้พิการทางสายตาเข้าถึงประติมากรรมและสถาปัตยกรรมได้อย่างดี ไม่แพ้นิทรรศการที่จัดในต่างประเทศ อีกทั้งมีเจ้าหน้าที่บรรยายให้ความรู้ ทำให้เห็นภาพชัดกว่าที่ฟังบรรยายทางโทรทัศน์ พร้อมเสนอให้มีการจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ถาวร ขณะที่ตนเองชื่นชอบแผนผังแสดงภาพรวมของพระเมรุมาศและพื้นที่โดยรอบมากที่สุด เช่น แปลงปลูกข้าวอยู่ทางด้านซ้าย ก็ทำเป็นขุย ๆ ให้เราจินตนาการออก นึกถึงทุ่งกว้าง จะเห็นภาพทั้งหมด ทุ่ง สระบัว จินตนาการออกว่าพระเมรุมาศเป็นอย่างไร

ผู้พิการทางสายตาก็อยากจะเข้าชม อยากจะสัมผัส งานครั้งนี้สามารถอวดชาวต่างชาติได้เลยว่าเป็นพิพิธภัณฑ์สำหรับทุกคน คนพิการก็มีสิทธิ์เข้าถึงศิลปะ วัฒนธรรม ผ่านการสัมผัส ผ่านหูมันสู้มือไม่ได้นะ

 

 

ศ.วิริยะ ยังกล่าวว่า ผู้พิการทางสายตาซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมากที่สุด เมื่อปี 2495 คนไทยยังไม่เชื่อว่าคนตาบอดจะทำอะไรได้ แม้มีการก่อตั้งโรงเรียนสอนคนตาบอด ก็ไม่มีผู้ปกครองส่งลูกให้มาเรียน จนต้องจ้างมาเรียน แต่ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงพระราชนิพนธ์เพลง "ยิ้มสู้" ให้คนตาบอดยิ้มสู้ พระองค์พยายามให้สังคมหันมาดูแลผู้ที่ด้อยโอกาส เป็นการเปลี่ยนภาระเป็นพลัง ในยุคนั้นไม่มีใครเชื่อเรื่องศักยภาพของผู้พิการทางสายตา แต่พระองค์ท่านเชื่อ และสนับสนุนให้ลุกขึ้นมาต่อสู้จนมีวันนี้

ตอนนั้นสังคมไม่เชื่อว่าเรามีความสามารถอะไร กดทับเราไว้ไม่ให้ทำอะไรเลยนอกจากขอทาน ถ้าน่าสงสารมากเท่าไหร่ก็จะได้เงินก็เยอะเท่านั้น บางคนจบปริญญาตรี แต่เห็นเพื่อนเป็นขอทานได้วันละ 2,000 บาท ฉันทำงานได้วันละ 500 บาท ก็ไปทำบ้าง แต่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเข้าใจ และตรัสหลายครั้งว่า คนพิการไม่อยากเกิดมาพิการ การช่วยคนพิการก็ต้องช่วยให้เขาพึ่งตัวเองได้ ไม่ให้เป็นภาระของครอบครัวและสังคม

 

 

นิติธร บัวธนาศิริ เจ้าหน้าที่สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย บอกว่า ขณะนี้ผู้พิการทางสายตาลงทะเบียนเข้าชมนิทรรศการประมาณ 20-80 คน ต่อรอบ พร้อมเสนอให้จัดเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกแก่ผู้พิการทางสายตา ตั้งแต่บริเวณจุดคัดกรอง

 


เอกสิทธิ์ โตรัตน์ อาสาสมัครนำชมนิทรรศการ บอกว่า บริเวณทับเกษตร นำสัมผัสพระเมรุ : นิทรรศการสัมผัสเพื่อผู้พิการทางสายตา จะจัดแสดงพระเมรุมาศจำลอง เพื่อให้ผู้พิการทางสายตาได้มีโอกาสสัมผัสแทนการมองด้วยตา โดยสำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร ช่างฝีมือจังหวัดเพชรบุรี แบ่งหน้าที่กันรับผิดชอบและจำลองงานประติมากรรมและงานสถาปัตยกรรมบางส่วน เช่น สัตว์หิมพาน ที่เริ่มด้วยการขึ้นโครงเหล็กและใช้ปูนสดปั้นให้แล้วเสร็จภายใน 2 ชั่วโมง เพื่อไม่ให้ปูนแข็ง คนที่ปั้นจึงต้องมีฝีมือมาก และพยายามถวายพระเกียรติสูงสุดแด่ในหลวง รัชกาลที่ 9

 

 

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่จะเลือกชิ้นที่มีขนาดไม่ใหญ่ หรือเปราะบางเกินไป และสามารถสัมผัสได้รอบตัว เพราะอาจเกิดแตกหักเสียหาย รวมทั้งพยายามเลือกให้ครบทุกหมวด เช่น งานประติมากรรมขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก หรือประติมากรรมที่ประดับพระเมรุมาศ ที่เป็นส่วนของเทวดา งานหล่อ

ผู้พิการทางสายตาให้มาโฟกัสที่จุดนี้ดีกว่า เพราะเห็นแปลนของพระเมรุมาศ สัมผัสได้ทั้งมุมตื้นและมุมสามมิติ เห็นงานประติมากรรม สถาปัตยกรรม เช่น งานซ้อนไม้ ฉลุผ้าทองย่น สาบสี สอดแวว เชื่อว่า 1 ชั่วโมงอยู่ตรงนี้ดีที่สุด

สำหรับศาลาดังกล่าวจะให้สิทธิ์ผู้พิการทางสายตาเท่านั้น โดยนำชมรอบละ 1 ชั่วโมง ส่วนประชาชนปกติสามารถชมศาลาลูกขุนอื่นๆ ซึ่งมีการจัดแสดงศิลปะเหล่านี้อยู่แล้ว เช่น แปลนของพระเมรุมาศ งานประติมากรรมสร้างสรรค์ โดยนิทรรศการงานพระราชพิธีถวายพระเพลิง พระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 30 พ.ย. เวลา 07.00-22.00 น.

 

 

 

 

 

 

 

 วรรณพร แก้วแพรก ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ รายงาน 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง