10 ประเด็นร้อนในร่างรัฐธรรมนูญ

การเมือง
12 มิ.ย. 58
14:42
977
Logo Thai PBS
 10 ประเด็นร้อนในร่างรัฐธรรมนูญ

ปฏิทินการทำงานของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ตลอดเดือนมิถุนายนถึงปลายเดือนกรกฎาคม 2558 เป็นช่วงที่ กมธ.จะต้องพิจารณาคำขอแก้ไขเพิ่มเติมของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คณะรัฐมนตรี (ครม.) และสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)ให้แล้วเสร็จและเสนอต่อ สปช.อีกครั้งภายในวันที่ 23 ก.ค.2558

เพื่อให้รู้จักร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 ของประเทศให้ดีขึ้น "ไทยพีบีเอสออนไลน์" รวบรวม 10 มาตราและประเด็นในร่างรัฐธรรมนูญที่ถูกเสนอแก้มากที่สุด ตั้งแต่ที่มา ส.ว. เปิดทางนายกฯ คนนอก ระบบเลือกตั้งเยอรมันโมเดล จนถึงปมร้อนข้อเสนอ "ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง" ต่ออายุให้หัวหน้า คสช.ในฐานะนายกรัฐมนตรีอยู่ยาวเกินโรดแมปที่ประกาศไว้ถึง 2 ปี

ข้อเสนอแก้ไขเพิ่มเติมของทั้ง 3 กลุ่ม ประกอบด้วย ข้อเสนอของ สปช. 8 ข้อ ครม. 1 ข้อ ส่วน คสช. สละสิทธิ์ในการขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

6 มาตรา ที่ สปช.และ ครม.เสนอแก้ไข
มาตรา 121 ที่มา ส.ว. คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเขียนไว้ให้มี ส.ว.ทั้งหมด 200 คน มาจากการเลือกตั้งจังหวัดละหนึ่งคนจากชื่อที่กลั่นกรองแล้ว 77 คน สรรหา-เลือกกันเอง 123 คน จากอดีตปลัดกระทรวง ผู้บัญชาการเหล่าทัพ ผู้แทนสมาคมวิชาชีพ องค์กรการเกษตร แรงงาน วิชาการ ชุมชน และท้องถิ่น
มาตรา 279 ตั้งสภาขับเคลื่อนปฏิรูปฯ- คกก.ยุทธศาสตร์ชาติ จัดตั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศไม่เกิน 120 คน จาก สปช.ชุดปัจจุบัน 60 คน สนช. 30 คน และผู้ทรงคุณวุฒิที่เชี่ยวชาญการปฏิรูปด้านต่างๆ 30 คน
มาตรา 64  ว่าด้วยสิทธิพลเมืองในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติร่วมกับรัฐและชุมชน และการกำหนดให้ต้องทำรายงานผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ในโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชน
มาตรา 74 ว่าด้วยการจัดตั้ง “สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ”  ขึ้นมาตรวจสอบมาตรฐานจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าของหน้าที่ของรัฐ
มาตรา 284 ว่าด้วยการกำหนดแนวทางการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน
มาตรา 286 ว่าด้วยการกำหนดแนวทางการปฏิรูปการศึกษา เพื่อพัฒนาคนให้เป็นพลเมืองดี มีความรู้ความสามารถ

4 ปมร้อน ระบบเลือกตั้ง-ที่มานายกฯ-ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง-คำว่า "พลเมือง"
นอกจาก 6 มาตราหลักๆ ที่ถูกเสนอให้แก้ไขแล้ว ยังมีอีก 4 ประเด็นที่ได้รับความสนใจและเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในสังคม คือ ประเด็นการบัญญัติคำว่า "พลเมือง" แทนการใช้คำว่า "ประชาชน" ประเด็นระบบเลือกตั้งสัดส่วนผสม ประเด็นที่มานายกรัฐมนตรี และประเด็นเรื่องการ "ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง" ที่มีข้อถกเถียงว่าจะให้อยู่ในการออกเสียงประชามติหรือใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญ 

ประเด็นระบบระบบเลือกตั้งสัดส่วนผสมและโอเพนลิสต์แบบรายภาค อยู่ในมาตรา 104-107 ของร่างรัฐธรรมนูญ
ประเด็นเรื่องที่มาของนายกรัฐมนตรี นั้นอยู่ในมาตรา 172 ที่ระบุว่าให้เสนอชื่อบุคคลที่ไม่ได้เป็น ส.ส.เป็นนายกรัฐมนตรีได้ โดยต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของ ส.ส.ในสภา
ส่วนประเด็น “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” นั้นมีการเสนอให้บัญญัติไว้ในบทเฉพาะกาล แทนการทำประชามติปฏิรูปก่อน 2 ปี แล้วจึงเลือกตั้ง

นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธาน กมธ.ปฏิรูปการเมือง สปช.เป็นผู้จุดประเด็นเรื่อง "ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง" โดยให้เขียนไว้ในบทเฉพาะกาลของร่างรัฐธรรมนูญแทนการทำประชามติว่าประชาชนจะเห็นด้วยให้มีการปฏิรูป 2 ปี ก่อนเลือกตั้งหรือไม่ ซึ่งแนวทางนี้ กมธ.ยกร่างฯ ต้องจัดทำบัญชีรายการกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญและกฏหมายอื่นที่จำเป็นเพื่อการปฏิรูป ซึ่งจะทำให้มีกฏหมายที่จำเป็นต้องจัดทำให้แล้วเสร็จเพิ่มขึ้นอีกกว่า 30-40 ฉบับ และใช้เวลาประมาณ 1 ปีครึ่งในการดำเนินการ จากนั้นก็เข้าสู่กระบวนการการเลือกตั้ง

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย มีความเห็นต่อข้อเสนอนี้ว่า การปฏิรูปก่อนเลือกตั้งและข้อเสนอที่ให้เพิ่มกฎหมายที่จำเป็นเพื่อการปฏิรูปก่อนเลือกตั้งไว้ในบทเฉพาะกาลของร่างรัฐธรรมนูญ เข้าข่ายที่จะเสนอให้แต่ละสภาลงมติเห็นชอบได้ แม้จะถูกครหาว่าข้อเสนอนั้นมีเจตนาสืบทอดอำนาจ แต่ก็เป็นสิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 หลังการแก้ไขแล้ว

นอกจากนี้ กมธ.ปฏิรูปการเมือง ยังเสนอให้ตัดคำว่า “พลเมือง” ออกเนื่องจากเกรงจะก่อให้เกิดความสับสน และเกิดความลักลั่นในการตีความ เช่นเดียวกับประเด็นการเลือกตั้งระบบสัดส่วนผสมและโอเพนลิสต์แบบรายภาคที่ กมธ.ปฏิรูปการเมือง สปช.ยืนกรานไม่เห็นด้วย  โดยนายสมบัติระบุว่า “เลือกตั้งสัดส่วนผสมทำการเมืองถอยหลัง” เพราะเป็นการทำให้ประเทศไทยกลับไปมีรัฐบาลผสมที่ขาดความเข้มแข็ง เรียกว่าเป็นระบบเลือกตั้งที่แย่กว่าอดีต

แม้ว่าตามปฏิทินการทำงานของ กมธ.ยกร่าง สปช.จะมีเวลาจนถึงต้นเดือนกันยายน 2558 หรืออีกประมาณ 3 เดือนก่อนที่ประธาน สปช.จะต้องนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ ภายในวันที่ 4 ก.ย.2558 แต่เมื่อดูจาก 10 ประเด็นหลักที่เป็นประเด็นร้อนในร่างรัฐธรรมนูญ ยังไม่นับรวมถึงประเด็นย่อยอื่นๆ ที่หลายฝ่ายมีความกังวล เส้นทางสู่การได้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 นั้นดูเหมือนยังอีกยาวไกล

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง