ผู้ประกอบการต่างชาติ 3 รายรุกธุรกิจการแชร์จักรยานในไทย

เศรษฐกิจ
6 พ.ย. 60
07:52
649
Logo Thai PBS
ผู้ประกอบการต่างชาติ 3 รายรุกธุรกิจการแชร์จักรยานในไทย
ในปัจจุบัน ธุรกิจประเภท "แชร์ริ่ง" ได้รับความนิยมสูงขึ้นเรื่อยๆ หนึ่งในนั้นคือ "ไบค์แชร์" หรือธุรกิจการแชร์จักรยาน กำลังเป็นที่นิยมในจีน ส่วนไทยมีผู้ประกอบการต่างชาติ 3 ราย ที่พร้อมเข้ามาทำตลาดในไทย

วันนี้ (6 พ.ย.2560) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โมเดลธุรกิจของไบค์แชร์ หรือธุรกิจการแชร์จักรยาน จะเป็นจักรยานอัจฉริยะมีการติดตั้งระบบ GPS ที่ทำการค้นหาจักรยานที่ใกล้ที่สุด ซึ่งการใช้งานทุกขั้นตอนทำบนสมาร์ทโฟน ผ่านแอพพลิเคชันและคิวอาร์โค้ด ซึ่งจะคิดอัตราค่าบริการเป็นระยะเวลา และชำระเงินผ่านอีเพย์เมนต์

ปัจจุบัน มีผู้ประกอบการต่างชาติ 3 ราย ที่พร้อมเข้ามาทำตลาดในไทย ได้แก่ โมไบค์ (Mobike) และโอโฟ (ofo) จากจีน รวมทั้งโอไบค์ (oBike) จากสิงคโปร์ ผู้ให้บริการส่วนใหญ่เน้นกลุ่มผู้ใช้งานในสถานศึกษาและมหาวิทยาลัย ซึ่งบุคลากรในสถานศึกษาเป็นกลุ่มที่มีความต้องการใช้งานจักรยานสูง

ทั้งนี้ บริษัทให้คำปรึกษาด้านธุรกิจในจีน คาดการณ์ว่าในอีก 2 ปีข้างหน้า ตลาด Bike Sharing จะมีมูลค่าเพิ่มสูงกว่า 3,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 116,000 ล้านบาท

นายนพพล ตู้จินดา ผู้จัดการทั่วไป โอโฟ (ofo) ประเทศไทย เปิดเผยว่า ตลาด Bike Sharing ในไทยเป็นตลาดใหม่และยังมีความไม่พร้อม เช่น ระบบสาธารณูปโภค นอกจากนี้ สภาพอากาศยังร้อนและมีฝน แต่หลังจากทดลองในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ปรากฏว่าผลตอบรับดีเกินคาด แต่ Bike Sharing ยังเป็นเรื่องใหม่ในไทย จึงทำให้ผู้ใช้งานบางคนเข้าใจผิดเกี่ยวกับบริการนี้

ปัจจุบัน โอโฟมีจำนวนจักรยานในไทยมากกว่า 5,000 คัน จอดอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต 3,800 คัน และ จ.ภูเก็ต 1500 คัน ซึ่งนักศึกษาธรรมศาสตร์ อาจารย์และบุคลากรในมหาวิทยาลัย มียอดผู้ใช้งานต่อวันสูงติดอันดับต้นๆ จากสถิติการใช้งานจักรยานโอโฟในมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลก

นอกจากลดมลภาวะทางอากาศแล้ว หากแนวคิดการใช้จักรยานขยายตัวมากขึ้น ไม่จำกัดเฉพาะในพื้นที่มหาวิทยาลัย มีระบบโครงสร้างพื้นฐานรองรับ จะช่วยลดปริมาณรถยนต์ รถจักรยานยนต์ บนท้องถนนได้ แม้ว่ากรุงเทพฯ ได้ตีเลนขับขี่จักรยานอย่างจริงจังมาตั้งแต่ปี 2551 แต่ไบค์เลน (Bike Lane) ไม่เป็นที่นิยม แม้ว่าถูกปรับปรุงให้ดีกว่าเดิมอีกครั้งในปี 2558

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง