“ถุงมือกันมีดบาด ” นวัตกรรมจากยางพารา

Logo Thai PBS
 “ถุงมือกันมีดบาด ” นวัตกรรมจากยางพารา
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย พัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรม หมอนสุคนธบำบัด ถุงมือกันมีดบาด เพิ่มมูลค่ายางพารา แก้ปัญหาราคายางตกต่ำ ลดการนำเข้าผลิตภัณฑ์จากยาง สร้างรายได้ให้เกษตรกรชาวสวนยางอย่างยั่งยืน

วานนี้ (8 พ.ย.2560) ดร.ลักษมี ปลั่งแสงมาศ ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กล่าวว่า ขณะนี้ วว.ได้นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาพัฒนายางพาราให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างมูลค่าเพิ่ม นำไปสู่การต่อยอดในเชิงพาณิชย์สำหรับผลิตจำหน่ายทั้งภายในและต่างประเทศ ในรูปแบบต่างๆ เพื่อแก้ราคายางพาราที่ตกต่ำจนสร้างความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรชาวสวนยาง ส่งผลให้รายได้ลดลงจากเดิม 

โดยนวัตกรรมที่ผลิตจากยางพาราหลากหลายชนิด ได้แก่ การผลิตถุงมือผ้าเคลือบยางชนิดหนาและชนิดบาง มีคุณสมบัติป้องกันการบาดคม บาดเฉือน ช่วยเพิ่มมูลค่าให้แก่ยางได้มากขึ้นกว่า 10 เท่า โดยน้ำยาง 1 กิโลกรัมสามารถนำไปเคลือบถุงมือได้ถึง 30 คู่ หากใช้เครื่องจักรแบบต่อเนื่องที่มีกำลังการผลิตเดือนละ 500,000 คู่ จะมีปริมาณการใช้น้ำยางข้นประมาณ 16.7 ตันต่อเดือน

นอกจากนี้ ยังพัฒนานวัตกรรมในกระบวนการผลิตถุงมือผ้าเคลือบยางด้วยเครื่องชุบกึ่งอัตโนมัติ ซึ่งมีกำลังผลิตจำนวน 300 คู่ต่อ 8 ชั่วโมง จากเดิมที่ใช้แรงงานคนจะสามารถผลิตได้ 50 คู่ต่อวันต่อคนเท่านั้น

 

ดร.ลักษมี กล่าวว่า วว.ได้พัฒนาเครื่องขึ้นรูปแผ่นเสริมรองเท้าเพื่อสุขภาพขึ้น เพื่อพิมพ์รูปแบบเท้าเฉพาะบุคคล แล้วนำน้ำยางพาราข้นมาพัฒนาเป็นถุงแบบพิมพ์รอยเท้า เพื่อนำมาใช้ในการทำแผ่นเสริมรองเท้าให้เหมาะสมสำหรับผู้ที่มีลักษณะเท้าไม่เข้ากับมาตรฐาน หรือกลุ่มคนที่ต้องการดูแลสุขภาพและออกกำลังกายให้สวมใส่ได้สบาย ถูกสุขลักษณะ ซึ่งแผ่นเสริมรองเท้านี้ช่วยให้มูลค่าของน้ำยางข้นเพิ่มขึ้นถึง 10 เท่า

 

นอกจากนี้ยังได้พัฒนาที่นอนและหมอนยางพาราให้เป็นที่นอนและหมอนสุคนธบำบัด โดยใช้กลิ่นที่สกัดจากพืชชนิดต่างๆ เช่น กลิ่นลาเวนเดอร์ กลิ่นหญ้าแฝก และกลิ่นจัสมินหรือมะลิ ที่ช่วยให้นอนหลับง่าย ผ่อนคลาย ปรับอารมณ์ให้สมดุลและสงบ ซึ่งสามารถเพิ่มมูลค่าน้ำยางพาราได้ 3-5 เท่า

 

เช่นเดียวกันกับแผ่นยางปูพื้นที่ วว.ร่วมกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนอุตสาหกรรมแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพารา อ.วังจันทร์ จ.ระยอง พัฒนาขึ้นเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมาตรฐานอุตสาหกรรมเป็นไปตาม มอก. 2377-2551 ช่วยเพิ่มมูลค่ายางพาราได้ 2-4 เท่า และลดการนำเข้าผลิตภัณฑ์แผ่นยางปูพื้นอีกด้วย โดยในปัจจุบันโรงพยาบาลวังจันทร์ จ.ระยอง นำไปใช้เพื่อฝึกกายภาพสำหรับผู้ป่วยหัดเดินและฝึกพัฒนาการของเด็ก

 

ส่วนชุดวัสดุป้องกันการกัดเซาะตลิ่งจากธรรมชาติ ประกอบด้วย 2 ส่วนที่สำคัญ คือ 1.ชั้นป้องกันการกัดเซาะจากบล็อกประสานรูปแบบใหม่ที่ปรับปรุงคุณสมบัติด้วยน้ำยางพารา สามารถก่อสร้างได้ง่าย ต้นทุนต่ำ และ 2.ชั้นกรองจากผ้าเคลือบน้ำยางพารา ทำหน้าที่กักเก็บดินไม่ให้ถูกชะออกจากบริเวณตลิ่งและให้น้ำซึมผ่านชั้นวัสดุได้ เพื่อลดแรงดันน้ำที่ไหลออกจากดินตามแนวตลิ่ง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง