เปิดฉากประชุมโลกร้อน COP 23 ลุ้นบรรลุกรอบความตกลงปารีส

สิ่งแวดล้อม
9 พ.ย. 60
15:11
1,104
Logo Thai PBS
เปิดฉากประชุมโลกร้อน COP 23 ลุ้นบรรลุกรอบความตกลงปารีส
เปิดฉากการประชุมโลกร้อน COP 23 เมืองบอนน์ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ลุ้นหาข้อมติกำหนดกติกาความตกลงปารีสที่จะมีผลบังคับใช้ ไทยชงขอสนับสนุนเงินช่วยเหลือแบบให้เปล่าจากกองทุนภูมิอากาศ (GCF) 2 โครงการวงเงิน 1,462 ล้านบาท รู้ผล ก.พ.2561

วันนี้ (9 พ.ย.2560) นายพิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช ผู้อำนวยการสำนักงานประสานการจัดการการเปลี่ยน แปลงสภาพภูมิอากาศ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือ สผ. กล่าวว่า ขณะนี้การประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 23 (COP 23) พร้อมการประชุมรัฐภาคีพิธีสารเกียวโต สมัยที่ 13 (CMP 13) และการประชุมรัฐภาคีความตกลงปารีส เริ่มต้นขึ้นแล้วตั้งแต่วันที่ 6-17 พ.ย.นี้ ที่เมืองบอนน์ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี โดยมี พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย เข้าร่วมประชุมระดับสูงระหว่างวันที่ 15-17 พ.ย.นี้

 

ประเด็นสำคัญของเวที COP 23 จะเน้นหารือแทวทางปฏิบัติและข้อกำหนดการบังคับใช้ความตกลงปารีสก่อนเริ่มมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ หลังพิธีสารเกียวโตหมดอายุลงในปี 2563 เพื่อผลักดันความมั่นใจลดก๊าซเรือนกระจก รักษาอุณหภูมิโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส โดยแต่ละประเทศต้องเพิ่มเป้าการลดก๊าซเรือนกระจกอีก 11 - 13.5 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซค์ ภายในปี 2573 การติดตาม ทบทวน เสนอกติกาที่ให้แต่ละประเทศส่งเป้าหมายการมีส่วนร่วมของแต่ละประเทศในการแก้ไขปัญหาโลกร้อน ทุก 5 ปี ซึ่งจะหารือกับกลุ่มประเทศ 77 (G77) จีน และสหภาพยุโรป (EU) ที่เป็นประเทศพัฒนาแล้วและมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกค่อนข้างสูง

ไทยประกาศลดก๊าซเรือนกระจก 20-25

นายพิรุณ กล่าวอีกว่า ในส่วนของประเทศไทย ขณะนี้มีการจัดทำแผนที่นำทางการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ พ.ศ. 2564-2573 เสร็จเรียบร้อยแล้ว เพื่อให้เป้าการลดของไทยในปี 2573 เป็นไปตามแผนที่ร้อยละ 20-25 ในเบื้องต้นไทยลดก๊าซเรือนกระจกได้แล้ว 40.14 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซค์ หรือประมาณร้อยละ 11 ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกรณีปกติ ซึ่งถือว่าเกินเป้าที่ประกาศไว้ที่ร้อยละ 7-20 ภายในปี 2563

นอกจากนี้ ประเทศไทย ยังได้จัดส่งข้อคิดเห็นที่เกี่ยวข้องกับการเจรจา 3 เรื่องเป็นครั้งแรก คือ แผนปฏิบัติการโนโรบี เรื่องการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยได้นำเสนอกรณีศึกษาผลกระทบจากอุทกภัยและการกัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร  แนวคิดเกี่ยวกับความร่วมมือในกลไกตลาดระหว่างประเทศตามความตกลงปารีส และแนวคิดเกี่ยวกับความร่วมมือการจัดการกับผลกระทบที่ประเทศกำลังพัฒนาได้รับจากการดำเนินมาตรการของประเทศพัฒนาแล้ว เพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

 

 

ลุ้นไทยได้เงินกองทุนสีเขียว 1,462 ล้านบาท

ส่วนอีกหนึ่งประเด็นสำคัญคือ เป็นครั้งแรกที่ประเทศไทย ได้ทำหนังสือขอรับการสนับสนุนในโครงการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยไปยังกองทุนภูมิอากาศ หรือ GCF ซึ่งเป็นเงินสนับสนุนช่วยเหลือแบบให้เปล่า ภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  2 โครงการ รวมวงเงินประมาณ 43 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 1,462 ล้านบาท

แบ่งเป็นโครงการสร้างภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผ่านการจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพและการเกษตรที่ยั่งยืน เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประชาชนในพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดภัยน้ำท่วมและภัยแล้ง โดยเฉพาะเกษตรกรที่เป็นกลุ่มเปราะบางในภาคเหนือตอนล่างให้ประกอบอาชีพได้มั่นคง ด้วยวงเงิน 39 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 1,326 ล้านบาท

 

ส่วนโครงการเสริมสร้างการลดก๊าซเรือนกระจก การสร้างชุมชน และระบบนิเวศชายฝั่งที่มีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภูมิภาคเอเชีย เพื่อส่งเสริมการจัดการและฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและระบบนิเวศชายฝั่ง ทั้งป่าชายเลน ปะการัง หน้าทะเล รวมทั้ง พัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนชายฝั่งในพื้นที่จังหวัดตราดและระนองให้มีความมั่นคงทางอาหาร รายได้ และความเป็นอยู่ที่ดี ด้วยวงเงิน 4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 136 ล้านบาท คาดว่า จะได้รับการอนุมัติวงเงินสนับสนุนประมาณเดือนก.พ. 2561

ผู้สื่อข่าวถามว่า ประเทศไทยกำลังเดินหน้าแผนพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน จะสวนทางกับการลดก๊าซเรือนกระจกหรือไม่ ซึ่งนายพิรุณ ยอมรับว่าไม่น่าจะกระทบเนื่องจากเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 20-25 ได้นำแผนพัฒนาพลังงาน และมาตรการลดจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมา โดยเฉพาะแผนใช้พลังงานทดแทน ขณะที่ไทยเป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพียงร้อยละ 0.8 ของทั้งโลก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง