ทช.ขยายผลตรวจร้านค้าเนื้อฉลามเกาะสมุย-เกาะพีพี

สิ่งแวดล้อม
20 พ.ย. 60
09:51
661
Logo Thai PBS
ทช.ขยายผลตรวจร้านค้าเนื้อฉลามเกาะสมุย-เกาะพีพี
อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สั่งขยายผลร้านอาหารขายเนื้อฉลามหายากบนเกาะสมุย และเกาะพีพี พร้อมจัดชุดสายตรวจตามแหล่งซื้อขายปลา ขู่งัดมาตรา 17 ของกฎหมายทะเลเอาผิด หากยังฝ่าฝืน เร่งเสนอรัฐมนตรี ทส.ประกาศกฎกระทรวงคุมครองชีวิตฉลาม

วันนี้ (20 พ.ย.2560) นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง หรือทช.กล่าวว่า กรณีร้านอาหารทะเลหาดกะรน จ.ภูเก็ต นำปลาฉลามหัวบาตร และปลาฉลามเสือดาว มาจำหน่ายเพื่อบริโภค จนเกิดกระแสอนุรักษ์ในกลุ่มโซเซียล  เบื้องต้นยอมรับว่ารับไม่ได้กับภาพที่เกิดขึ้น จึงได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบร้านอาหารกล่าวที่เป็นข่าว ชื่อร้านแช๊มป์ซีฟูด ตั้งอยู่หน้า โรงแรม Ibis ต.กะรน อ.เมือง จ.ภูเก็ต ขณะตรวจสอบไม่ปรากฏว่ามีปลาฉลามทั้ง 2 ชนิดตามที่เป็นข่าววางขายในร้าน โดยเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกับนายณรงค์ชัย ธนะทวีสกุล เจ้าของร้านยอมรับว่า ลูกสาวเคยซื้อมาจำหน่ายเมื่อประมาณ 2 ปีมาแล้วโดยซื้อมาจากสะพานปลา แถวเกาะสิเหร่ โดยประมูลเหมารวมมาเป็นกอง และไม่ทราบว่ามีกฎหมายหวงห้าม 

นายจตุพร กล่าวว่า และเนื่องจากยังมีช่องว่างเรื่องกฎหมายคุ้มครองสัตว์ทะเลหายาก จึงไม่สามารถเอาผิดกับเจ้าของร้านได้ แต่เจ้าของร้านอาหารรับปากให้ความร่วมมือ ไม่จัดจำหน่ายเนื้อฉลามอีกส่วนการแก้ปัญหาเบื้องต้น ต้องขอความร่วมมือกับร้านอาหาร ชาวประมง และผู้บริโภคต้องไม่นิยมบริโภคเนื้อฉลาม ปลาหายากในท้องทะเล  นอกจากนี้ยังจัดชุดตรวจลาดตระเวนตามตลาดปลา องค์การสะพานปลา และร้านจำหน่ายอาหารในเกาะท่องเที่ยวที่เบื้อง ต้นมีข้อมูลว่าอาจยังมีการลักลอบและขายปลาหายาก เช่น เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี เกาะพีพี จ.กระบี่ รวมทั้งภูเก็ตในจุดอื่นๆ ลงตรวจสอบและขอความร่วมมือกับผู้ประกอบการร้านอาหารเพื่อทำความเข้าใจอย่างจริงจัง 

 

 

ดันกม.ทะเลคุ้มครองฉลามหายาก 

อธิบดีทช.กล่าวว่า  สำหรับฉลามเสือดาว เป็นปลาชนิดที่ปรากฏในบัญชี ท้ายประกาศกระทรวงทรัพยา กรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม จ.ภูเก็ต ลำดับที่ 83 การมีไว้ในครอบครองเป็นความผิดตามมาตรา 45 ประกอบมาตรา 100 พรบ.คุ้มครองคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 ส่วนปลาฉลามหัวบาตร ไม่ปรากฏในบัญชีดังกล่าว 

แต่ทั้งฉลามหัวบาตร และฉลามลายเสือดาว เป็นสัตว์ที่ฝ่ายวิชาการฯ ระบุว่าอยู่ในสถานะภาพใกล้สูญพันธุ์ ทช.เตรียมการกำหนดมาตรการคุ้มครอง สัตว์น้ำดังกล่าว โดยใช้กลไกของ พรบ.ทรัพยากรทางทะและชายฝั่ง 2558 ตามมาตรา 22  ประกอบมาตรา 23 และมาตรา 3 ที่กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือ ทส.ออกประกาศกระทรวง เพื่อกำหนดมาตรการคุ้มครองกรณีทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อาจถูกทำลายได้รับความเสียหาย หรือได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงเข้าขั้นวิกฤติ เพื่อคุ้มครองชนิด หรือประเภททรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ดังกล่าวได้ โดยอนุมัติคณะรัฐมนตรี

ทั้งนี้ เหตุกรณีที่เกิดขึ้น ทช.ได้สั่งการให้สำนักงานบริหารทช.ที่ 9 (ภูเก็ต) ประสาน และทำความเข้าใจกับร้านอาหาร ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ว่าการนำฉลามหัวบาตร และฉลามเสือดาวมาบริโภค อาจเข้าข่าย มีความผิดตาม มาตรา 17 แห่งพรบ.ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ 2558 ฐานก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้ เพื่อเป็นการป้องปรามมิให้มีการทำลายทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ที่มีความสำคัญในระบบนิเวศน์ และใกล้สูญพันธุ์ 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง