คุมเข้ม "กรีดน้ำยาง" ของกลุ่มนายทุนรุกป่า 1.32 ล้านไร่

สิ่งแวดล้อม
23 พ.ย. 60
18:13
506
Logo Thai PBS
คุมเข้ม "กรีดน้ำยาง" ของกลุ่มนายทุนรุกป่า 1.32 ล้านไร่
รัฐบาล สั่งควบคุมกรีดน้ำยางพารานอกระบบ จากพื้นที่ป่าที่ถูกนายทุนบุกรุกกว่า 1.32 ล้านไร่ เบรกป้อนเข้าสู่ตลาด พร้อมจับมือการยางฯ เร่งสำรวจการถือครอบครอง เพื่อให้ได้ข้อมูลนำไปจัดที่ดินทำกินตาม คทช.

วันนี้ (23 พ.ย.2560) นายอรรถพล เจริญชันษา รองอธิบดีกรมป่าไม้ จากการตรวจสอบข้อมูลพื้นที่สวนยางพาราทั้งประเทศมี 30 ล้านไร่ แบ่งเป็นในเขตพื้นที่ป่าไม้ 8.5 ล้านไร่ ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ 5.2 ล้านไร่ รวมเป็นของนายทุน  1.32 ล้านไร่ นอกจากนี้ ยังมีสวนยางพาราอยู่ในพื้นที่ป่าไม้ปี 2484 และอื่นๆ อีก 2 ล้านไร่ ทำให้ส่งผลกระทบต่อความสมดุลทางธรรมชาติและระบบนิเวศโดยรวมของประเทศ เช่น ภัยแล้ง อุทกภัย ดินโคลนถล่ม น้ำป่าไหลหลาก

ประกอบกับ ขณะนี้ราคายางพาราลดลงอย่างมาก สาเหตุหลักมาจากมีปริมาณน้ำยางพาราเข้าสู่ระบบมากเกินไป จนสร้างความเดือนร้อนให้เกษตรกรชาวสวนยางทั่วประเทศ รัฐบาล จึงเร่งแก้ปัญหาบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อปลูกยางพารา และลดปริมาณน้ำยางพาราจากพื้นที่ป่าที่ถูกบุกรุก ทั้งในเขตป่าสงวนแห่งชาติและเขตป่าอนุรักษ์ เพื่อนำมาฟื้นฟูให้กลับเป็นป่าที่มีสภาพสมบูรณ์  โดยเน้นดำเนินคดีกับกลุ่มนายทุน ถือเป็นมาตรการเร่งด่วนควบคุมจำกัดปริมาณน้ำยางที่ปลูกในพื้นที่ป่าที่จะเข้าสู่ระบบ 300,000 ตันต่อปี ควบคู่กับแก้ปัญหากลุ่มราษฎรผู้ยากไร้

 

 

โดยขณะนี้กรมป่าไม้ และการยางแห่งประเทศไทย เร่งสำรวจการถือครอบครองเพื่อให้ได้ข้อมูลนำไปจัดที่ดินทำกินตามนโยบายของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ คทช. นอกจากนี้ ศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์ป่า หรือศปก.พป. ได้เพิ่มความเข้มงวดการตรวจสอบสวนยางพาราของนายทุนที่ผิดกฎหมาย ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หลังพบข้อมูลว่ากลุ่มทุนที่ถูกดำเนินคดีมีความพยายามเข้ามาหาผลประโยชน์จากสวนยางที่ผิดกฎหมาย

โดยใช้วิธีการจ้างคนงานต่างพื้นที่เข้ามากรีดน้ำยาง ขณะเดียวกันศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์ป่าได้ประสานไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรภาค 1-4 และศูนย์การประสานการปฏิบัติที่ 4 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร สนธิกำลังกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้เฝ้าตรวจตราไม่ให้เข้าไปกรีดยางในสวนยางของนายทุกที่ถูกดำเนินคดี

 

 

ด้าน น.ส.สุทธิลักษณ์ ระวิวรรณ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ขณะนี้ทส. สามารถหยุดการบุกรุกพื้นที่ป่าปลูกสวนยางพาราได้แล้ว ควบคู่กับลดพื้นที่ปลูกยางพาราผิดกฎหมายของกลุ่มนายทุนลงภายในเวลา 10 - 20 ปี หากสามารถทำได้จะช่วยน้ำยางพารานอกระบบ เข้าสู่ตลาดลงได้ปีละ 300,000 ตัน แล้วภาครัฐจะเข้าไปเสริมสร้างประสิทธิภาพเกษตรกรให้ผลิตน้ำยางพารามีคุณภาพขึ้นป้อนตลาดที่มีความต้องการสูง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง