ธปท.มอบ “คิวอาร์โค้ด” เพิ่มช่องทางบริจาค “ก้าวคนละก้าว”

เศรษฐกิจ
29 พ.ย. 60
12:15
788
Logo Thai PBS
ธปท.มอบ “คิวอาร์โค้ด” เพิ่มช่องทางบริจาค “ก้าวคนละก้าว”
ธนาคารแห่งประเทศไทยมอบคิวอาร์โค้ดให้กับโครงการก้าวคนละก้าว ใช้เป็นช่องทางในการรับบริจาคเพื่อความสะดวกและปลอดภัย ขณะเดียวกันได้ร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์ในการส่งเสริมใช้คิวอาร์โค้ดในการบริจาคเพื่อการกุศลอื่นๆ

วันนี้ (29 พ.ย.2560) นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ธปท.ได้มอบคิวอาร์โค้ดสำหรับรับเงินบริจาคโครงการก้าวคนละก้าว เพื่อ 11 โรงพยาบาลทั่วประเทศ ให้ พล.ต.นิมิตร์ สะโมทาน ประธานมูลนิธิโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เพื่อใช้เป็นช่องทางรับบริจาคจากที่ประชาชนสะดวกและปลอดภัยยิ่งขึ้น โดยทางทีมงานก้าวคนละก้าวจะนำคิวอาร์โค้ดไปติดไว้ที่รถตู้คาราวานของโครงการฯ ซึ่งผู้ที่อยู่บริเวณข้างทางที่คาราวานผ่าน รวมถึงผู้ที่ชมเฟซบุ๊กไลฟ์ แฟนเพจ ก็สามารถใช้โมบายแอพพลิเคชั่นของธนาคารต่าง ๆ สแกนคิวอาร์โค้ดเพื่อโอนเงินบริจาคได้ทันทีทุกธนาคาร ส่วนจะเสียค่าใช้จ่ายหรือไม่ขึ้นอยู่กับกฎของแต่ละธนาคาร

สำหรับยอดบริจาคโครงการก้าวคนละก้าวถึงวันที่ 28 พ.ย. รวม 352 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นการบริจาคผ่านช่องทางพร้อมเพย์ประมาณ 19 ล้านบาท ซึ่งคาดหวังว่าการมีช่องทางคิวอาร์โค้ดก็จะช่วยให้ไปถึงเป้าหมายบริจาค 700 ล้านบาทได้เร็วยิ่งขึ้น


ธปท.จัดทำคิวอาร์โค้ดเพื่อการบริจาค

นอกจากนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย อยู่ระหว่างการนำเข้าร่วมทดสอบและพัฒนาการนำเทคโนโลยีสนับสนุนการให้บริการทางการเงิน หรือ เรกูลาทอรี่ แซนด์บ็อกซ์ ซึ่งหากผ่านการทดสอบจะสามารถนำมาใช้ได้ ซึ่งตามหลักการแล้วระบบนี้จะช่วยเพิ่มความโปร่งใสในการบริจาคเงินเข้าสู่ระบบอิเล็กทรอนิกส์ให้มีความสะดวกยิ่งขึ้น

มีรายงานว่าการบริจาคในรูปแบบอีโดเนชัน เป็นระบบที่กรมสรรพากรพัฒนาขึ้นเพื่อให้หน่วยรับบริจาคเงิน เช่น สถานศึกษา ศาสนสถาน วัด ใช้บันทึกข้อมูลการรับบริจาคเงินหรือทรัพย์สิน เป้าหมายเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้บริจาคเงินเป็นหลัก ซึ่งผู้บริจาคสามารถใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีได้โดยที่หน่วยรับบริจาคเงิน ไม่จำเป็นต้องพิมพ์หลักฐานการรับเงินบริจาค ยกเว้นผู้บริจาคเงินร้องขอ

ทั้งนี้ กรมสรรพากรได้เริ่มโครงการนำร่องกับโรงเรียนและวัดในพื้นที่จังหวัดน่าน ตั้งแต่เดือน พ.ย.60 และตั้งเป้าหมายที่จะนำระบบอีโดเนชัน มาบังคับใช้เป็นการทั่วไปในปี 2561

สำหรับระบบอีโดเนชัน มีการออกแบบโปรแกรมเพื่อการรับบริจาคเงินเอาไว้ 2 ช่องทาง ได้แก่ บริจาคเป็นเงินสด โดยศาสนสถาน วัด สถานศึกษาจะเป็นผู้นำเข้าข้อมูล หรือกรอกข้อมูลการบริจาคเข้าสู่ระบบอีโดเนชัน อีกระบบเป็นการบริจาคผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เช่น คิวอาร์โค้ด หรือโอนเงินบริจาคผ่านสถาบันการเงิน สถาบันการเงินจะมีหน้าที่นำส่งข้อมูลให้กรมสรรพากร

เมื่อระบบอีโดเนชันมีผลบังคับใช้ทั่วไปแล้ว กรมสรรพากรจะอนุญาตให้ผู้เสียภาษีนำเงินบริจาคมาหักลดหย่อนภาษีได้ เฉพาะเงินบริจาคในส่วนที่ถูกบันทึกอยู่ในระบบอีโดเนชันเท่านั้น หากเจ้าหน้าที่สรรพากรไม่พบข้อมูลการบริจาคเงินในระบบ ผู้เสียภาษีจะนำเงินบริจาคมาหักลดหย่อนภาษีไม่ได้หรือไม่ได้คืนภาษี

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง