รวมคำ "ขอโทษ" จากปาก “ประยุทธ์”

การเมือง
29 พ.ย. 60
15:32
4,910
Logo Thai PBS
รวมคำ "ขอโทษ" จากปาก “ประยุทธ์”
คงจำกันได้เหตุการณ์ล่าสุดเมื่อ 27 พ.ย.2560 ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พูดกับชาวบ้านที่จ.ปัตตานีว่า “อย่ามาส่งเสียงกับผม เข้าใจหรือเปล่า ผมฟังอยู่นี่ พูดให้ดีๆ ก็ได้ ” และในวันเดียวกันนั้น นายกรัฐมนตรีก็กล่าว "ขอโทษ" ที่แสดงความหงุดหงิดพร้อมระบุทำงานหนัก

หากย้อนไปตั้งแต่ต้นปี นายกรัฐมนตรีได้กล่าวขอโทษหลายครั้ง ทั้งจากคำพูดของตัวเอง และจากนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล ที่ส่งผลกระทบกับประชาชน ไทยพีบีเอสออนไลน์จึงรวบรวมเหตุการณ์บางส่วน ดังนี้ 

24 พ.ย.2560 พล.อ.ประยุทธ์ ขอโทษแทนผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย หากทำให้ประชาชนรู้สึกไม่สบายใจ ต่อกรณีการเสียชีวิตของนายภคพงศ์ ตัญกาญจน์ หรือ น้องเมย นตท.ชั้นปีที่ 1 พร้อมแสดงความเสียใจต่อครอบครัวตัญกาญจน์

25 ก.ย.2560 ขณะ พล.อ.ประยุทธ์ บรรยายพิเศษและเป็นประธานในพิธีปิดการประชุมสัมมนา “มิติการศึกษาพัฒนาพื้นที่พิเศษ เดินหน้าประเทศไทย มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ได้กล่าวขอโทษที่บางครั้งพูดจาไม่ค่อยสุภาพเท่าไร กับสื่อเองก็พูดไม่ค่อยไพเราะ

12 ก.ย.2560 พล.อ.ประยุทธ์ ขอโทษสื่อ หลังแถลงข่าวประชุมคณะรัฐมนตรี กรณีโมโหคำถามและการวิพากษ์วิจารณ์ของสื่อมวลชน พร้อมยอมรับว่าอาจจะไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีที่น่ารักที่สุด แต่ก็เป็นนายกรัฐมนตรีที่ตอบคำถามทุกเรื่อง

 

13 มิ.ย.2560 พล.อ.ประยุทธ์ ขอโทษนักการเมือง กรณีทหารค้นบ้านพักแต่ไม่พบสิ่งผิดกฎหมาย ส่งผลให้เสียเกียรติ ยืนยันไม่เกี่ยวเกมการเมือง

7 เม.ย. 2560 พล.อ.ประยุทธ์ ขอโทษคนไทยผ่านรายการ เดินหน้าประเทศไทย หลังจากทำให้เกิดความไม่สบายใจในการใช้รถ ใช้ถนน กรณีการออกกฏหมายสำหรับมาตรการเพิ่มความปลอดภัยบนท้องถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์

21 มี.ค.2560 พล.อ.ประยุทธ์ ขอโทษสื่อที่บางครั้งตอบคำถามด้วยอารมณ์ที่รุนแรง ในวันคล้ายวันเกิด หลังมอบการ์ดคำอวยพรจากสื่อมวลชน

 

 

28 ก.พ.2560 พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวขณะแถลงผลการประชุม คสช.ว่า มีหลายเรื่องที่ต้องปฏิรูป พร้อมระบุ ผมขอโทษอะไรที่ผมทำไปแล้วอาจมีปัญหา คนเรามันอยู่ด้วยคำเหล่านี้ ขอโทษ ขอบคุณ สวัสดี เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ต้องมีเหตุผล อย่าไปดันทุรัง ทุกอย่างถ้าดันทุรังไปมาก็มีแต่ยับเยินด้วยกันทั้งคู่ คนที่ได้เสียคือประชาชนและประเทศชาติ

6 ก.พ.2560 พล.อ.ประยุทธ์ ขอโทษสื่อที่อารมณ์เสียกับคำถามเงินคงคลังของประเทศลดลง ระบุยินดีฟังข้อมูลนักวิชาการ แต่ขอสังคมอย่าจับผิด

ทั้งนี้ เหตุผลที่นายกรัฐมนตรีใช้อธิบายถึงอารมณ์ที่หงุดหงิดและใจร้อนเสมอว่า เป็นนิสัยส่วนตัว พูดจาไม่ค่อยไพเราะ ไม่ได้มีอะไรในใจ และทำงานเยอะ

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง