น้ำฝายท่าดี จ.นครศรีธรรมราช มีปริมาณสูงสุดเป็นประวัติการณ์

ภัยพิบัติ
6 ธ.ค. 60
11:32
542
Logo Thai PBS
น้ำฝายท่าดี จ.นครศรีธรรมราช มีปริมาณสูงสุดเป็นประวัติการณ์
ฝนตกหนักตลอดทั้งคืนใน จ.นครศรีธรรมราช ทำให้น้ำป่าจากเทือกเขาหลวงไหลลงสู่ฝายท่าดี มีปริมาณสูงขึ้นมากเป็นประวัติการณ์ และพื้นที่เขตเมือง ปริมาณน้ำเพิ่มระดับขึ้นอีกครั้ง ส่วน จ.สงขลา และ จ.ตรัง ระดับน้ำเริ่มลดลง คงเหลือเพียงพื้นที่ราบลุ่มยังคงถูกน้ำท่วมขัง

วันนี้ (6 ธ.ค.2560) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริเวณฝายท่าดีโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษานครศรีธรรมราช ต.กำแพงเซา อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นฝายสุดท้าย ก่อนน้ำจะหลากเข้าเขตเมืองนครศรีธรรมราช โดยระดับน้ำเหนือฝาย สูงกว่า 6 เมตร และล่างฝาย สูงกว่า 5 เมตร ซึ่งเป็นระดับที่สูงเป็นประวัติการณ์ ขณะที่จุดวัดระดับน้ำทางอุทกวิทยาที่สะพานท่าใหญ่ ต.ท่าดี อ.ลานสกา มีระดับน้ำสูง 6.10 เมตร ถือเป็นระดับที่สูงสุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา

มีรายงานว่า ระดับน้ำท่วมสูง ทำให้ถนนหลายสายไม่สามารถใช้งานได้ เช่น นครศรีธรรมราช-สุราษฎร์ธานี, นครศรีธรรมราช-ฉวาง, นครศรีธรรมราช-ร่อนพิบูลย์ ส่วนบ้านเรือนริมคลองบ้าน ต.ปากแพรก อ.ดอนสัก จ.สุราษฎร์ธานี ขณะนี้ถูกน้ำท่วมสูงเกือบ 2 เมตร จากฝนตกหนักในพื้นที่ สำหรับปริมาณน้ำฝนสะสมมากที่สุด 3 ลำดับแรก คือบ้านคลองคราม ต.ดอนสัก อ.ดอนสัก, บ้านหน้าถ้ำ ต.ท่าอุแท อ.กาญจนดิษฐ์ และบ้านโฉลก อ.เกาะพะงัน
ทั้งนี้ มีมวลน้ำจำนวนมากทำให้ไหลลงทะเลค่อนข้างล่าช้า ส่งผลน้ำล้นคลอง เข้าท่วมบ้านเรือนในพื้นที่ลุ่ม จนได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมาก

สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมทั้ง 9 อำเภอของ จ.ตรัง เริ่มคลี่คลายในหลายพื้นที่ หลังฝนหยุดตก 2 วัน แต่จากการสำรวจพบว่ายังมีน้ำท่วมสูง 3-4 เมตร จำนวนกว่า 500 หมู่บ้าน คือ อ.เมือง มี 6 ตำบล ได้แก่ ต.นาท่ามใต้, บางรัก, หนองตรุด, นาตาล่วง, นาโต๊ะหมิง และควนปริง ขณะที่ อ.กันตัง มี 4 ตำบล คือควนธานี, บางหมาก, ย่านซื่อ และโคกยาง เนื่องจากทั้ง 2 อำเภอ ได้รับผลกระทบจากพนังกั้นแม่น้ำตรังแตก

ส่วนที่ จ.สงขลา สถานการณ์โดยรวมดีขึ้นเกือบเข้าสู่ภาวะปกติ ยกเว้น 5 อำเภอริมทะเลสาบสงขลา คือ อ.ควนเนียง, สิงหนคร, สทิงพระ, กระแสสินธุ์ และระโนด ที่ระดับน้ำเพิ่มขึ้น จากน้ำทะเลหนุน ทำให้ชาวบ้านกว่า 120,000 คน ยังคงได้รับความเดือดร้อน บางจุดน้ำท่วมสูง 2-3 เมตร

ขณะที่ จ.ปัตตานี สถานการณ์น้ำท่วมเริ่มคลี่คลาย เนื่องจากปริมาณน้ำฝนลดลง ประกอบกับไม่มีน้ำทะเลหนุน ทำให้การระบายน้ำเป็นไปได้ง่ายขึ้น ยกเว้นบ้านเรือนที่ติดกับแม่น้ำปัตตานี ระดับน้ำยังคงท่วมสูง ชาวบ้านต้องใช้เรือเป็นพาหนะในการเดินทางเข้าออกหมู่บ้าน

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง