คำแถลง "กองทัพไทย" สรุปสาเหตุ “ภคพงศ์” เสียชีวิต อย่างละเอียด

อาชญากรรม
15 ธ.ค. 60
20:32
735
Logo Thai PBS
คำแถลง "กองทัพไทย" สรุปสาเหตุ “ภคพงศ์” เสียชีวิต อย่างละเอียด
พล.อ.อ.ชวรัตน์ มารุ่งเรือง ประธานกรรมการสอบสอบสวนข้อเท็จจริง กรณีการเสียชีวิตของนายภัคพงศ์ ตัญกาญจน์ นักเรียนเตรียมทหาร แถลงผลสรุปการสอบสวนที่ บก.กองทัพไทย ถ.แจ้งวัฒนะ

วันนี้ (15 ธ.ค.2560) พล.อ.อ.ชวรัตน์ มารุ่งเรือง รองเสนาธิการทหาร ในฐานะประธานกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง แถลงผลสรุปกรณีนักเรียนเตรียมทหาร ภคพงศ์ ตัญกาญจน์ หรือ เมย เสียชีวิตเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม จากการสอบสวนด้วยพยานพร้อมหลักฐานชี้ว่า การเสียชีวิตของ “ภคพงศ์” ไม่มีผู้ใดสั่งลงโทษหรือทำร้ายอันเป็นเหตุเสียชีวิต และผลจากการตรวจของสถาบันพยาธิวิทยา ศูนย์การแพทย์ โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า ที่สรุปภาพรวมไว้ว่าไม่พบร่องรอยการฟกช้ำภายนอก ส่วนกรณีชายโครงด้านขวาซี่ที่ 4 หัก แพทย์ยังไม่ตัดประเด็นการทำ CPR ที่ใช้แรงกดกึ่งกระแทกนาน 4 ชั่วโมง และพบว่าเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจบางส่วนผิดปกติ ซึ่งไม่พบบ่อยนักในคนที่มีอายุเพียง 18 ปี แพทย์ได้สรุปสาเหตุการเสียชีวิตว่าเกิดจากหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน

ส่วนผู้ที่เข้ารับการสอบสวนจากคณะกรรมการมีทั้งหมด 42 คน แบ่งเป็น 4 กลุ่มได้แก่ 1.นักเรียนเตรียมทหาร 22 คน ชั้นปีที่ 1 จำนวน 9 คน และชั้นปีที่ 3 จำนวน 13 คน / 2.แพทย์ จำนวน 5 คน / 3.นายทหารปกครอง 10 คน ครูประจำชั้น 7 คน และ 4.เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง 8 คน ทำการสอบสวนทั้งสิ้น 14 วัน โดยยืนยันผลการสอบสวนเป็นข้อเท็จจริงที่ดำเนินการสอบสวนด้วยตัวเอง

โดยเหตุการณ์ที่เน้นย้ำชี้แจงแบ่งเหตุการณ์เป็น 2 ช่วง

เหตุการณ์ที่ 1 วันเสียชีวิต วันที่ 17 ตุลาคม 

เวลา 9:15 น. “ภคพงศ์” พักฟื้นอยู่ที่กองแพทย์ จากนั้นเดินไปเอาของใช้ส่วนตัวที่อาคารกองพันที่ 2 จนมีนักเรียนพบ “ภคพงศ์” สวนกลับมากองแพทย์แล้วมีอาการ “ไฮเปอร์เวนทิเลชัน”

เวลา 10:23 น. เพื่อนนักเรียนที่เห็นจึงตามเจ้าหน้าที่พาตัวไปรักษา

เวลา 12:40 น. ผู้บังคับกองพันที่ 2 มาเยี่ยมและต่อสายให้ “ภคพงศ์” คุยกับผู้ปกครอง

เวลา 15:13 น. ภาพจากกล้องวงจรปิด คณะกรรมการฯ ตั้งข้อสังเกตพบว่า “ภคพงศ์” เดินกลับอาคารมีท่าทางมือขวากุมที่อกซ้าย และจากผลการสอบสวนเพื่อนสนิทเล่าว่า “ภคพงศ์” มีอาการเครียดสูง

เวลา 15:39 น.ก่อนที่จะรับสายจากผู้ปกครอง “ภคพงศ์” มีอาการไฮเปอร์เวนทิเลชัน มีอาการเกร็งรุนแรง หายใจถี่ และพ่นน้ำลาย จึงนำตัวส่งโรงพยาบาลนายร้อยพระจุลจอมเกล้า

เวลา 16:24 น. รถพยาบาลส่งถึงโรงพยาบาล เข้ารับการรักษาและทำ CPR และผู้ปกครองขอให้ทำจนกว่าจะเดินทางไปถึงโรงพยาบาล โดยใช้คนราว 20 คน ในการทำ CPR เมื่อผู้ปกครองมาถึงเวลา 19:10 ยังทำ CPR และยุติช่วง 20:20 น. ลงมติว่าเสียชีวิตและดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย ส่งศพยัง ร.พ.พยาธิวิทยา ในเวลา 01.00 น. ของวันที่ 18 ตุลาคม

เหตุการณ์ที่ 2 กรณีการฟกช้ำ วันที่ 10 ตุลาคม 

เวลา 15:51 น. “ภคพงศ์” วิ่งลงบันไดเสียหลักตกชั้น 2 บันได 8 ขั้น ระยะ 1.5 เมตร ซึ่งนักเรียนชั้นปีที่ 1 เห็นพร้อมครูพละรีบเข้าให้การช่วยเหลือ พบว่าผู้บาดเจ็บนอนตะแคงซ้ายมือกุมหน้าอก ทราบว่า “ภคพงศ์” มีอาการจุกบริเวณหน้าอกจึงนำส่งกองแพทย์ ส่วนบริเวณภายนอกร่างกายไม่พบบาดแผลโดยตรวจเอกซเรย์แล้ว

จากนั้นในวันที่ 12 ตุลาคม “ภคพงศ์” ออกจากโรงพยาบาลเตรียมทหาร และไปพักฟื้นต่อที่บ้านและทราบจากทางสื่อว่าผู้ปกครองพาไปตรวจซ้ำอีกรอบและไม่พบความผิดปกติใด โดยวันที่ 15 ตุลาคมกลับไปเรียนตามปกติ

อาการไฮเปอร์เวนทิเลชัน

พล.อ.อ.ชวรัตน์ อธิบายว่า อาการไฮเปอร์เวนทิเลชัน เป็นอาการที่พบบ่อยคือ มีอาการเกร็ง ชา หายใจถี่เร็ว จนระดับออกซิเจนในเลือดเพิ่ม ทำให้หมดสติ และพบว่าจากกองแพทย์พบนักเรียนมีอาการนี้บ่อย และไม่ทราบว่า “ภคพงศ์” เป็นโรคหัวใจมาก่อนหรือไม่ แต่เชื่อว่าไม่เป็นก่อนที่จะเข้ามาเป็นนักเรียนโรงเรียนเตรียมทหาร เพราะไม่ผ่านคุณสมบัติ แต่หากตรวจเจอระหว่างเรียนต้องพ้นสภาพการเป็นนักเรียนของโรงเรียนเตรียมทหาร

ระบุไม่ทราบข้อมูลการสนทนาส่วนตัวทางโทรศัพท์ระหว่าง “ภคพงศ์” กับผู้ปกครองว่าเป็นสาเหตุของความเครียดหรือไม่

พร้อมยืนยันหลักสูตรการเรียนการสอนเป็นมาตรฐานของโรงเรียนเตรียมทหารทั่วไป ส่วนการปรับปรุงหลักสูตรมีปกติอยู่แล้ว แต่หลังจากนี้อาจมีการปรับปรุงการตรวจร่างกาย และการตรวจคัดกรองก่อนมาเป็นนักเรียนเตรียมทหารต่อไป ต้องมีมาตรฐานที่สูงขึ้น ส่วนการตรวจหลังเข้าเป็นนักเรียนแล้ว อาจกำหนดระยะเวลาที่เหมาะสมเพื่อตรวจร่างกายเพิ่มเติมที่เข้มงวดขึ้นและถี่ขึ้น กรณี “ภคพงศ์” ยอมรับว่าไม่มีการตรวจสอบการรักษาก่อนเข้าเป็นนักเรียนเตรียมทหารเพราะเป็นข้อมูลส่วนบุคคล

พื้นที่ห้ามผ่านในโรงเรียนเตรียมทหาร

กรณีในโรงเรียนเตรียมทหารกำหนดพื้นที่ห้ามผ่าน พล.อ.อ.ชวรัตน์ เชื่อว่ามีทุกสถาบันที่จำกัดขอบเขตสิทธิเพื่อให้รู้หน้าที่ของตัวเอง นั่นคือสิ่งที่สอนนักเรียน การฝ่าฝืนคือการไม่เคารพกติกาหรือเชื่อฟังรุ่นพี่ ในแง่การถูกซ่อมของ “ภคพงศ์” ช่วงเช้าของวันที่ 16 ตุลาคม มีนักเรียนเดินแถวไปทานอาหารช่วงเช้าไม่เรียบร้อย นักเรียนบังคับบัญชาจึงสั่งให้วิ่งรอบโรงอาหาร 600 เมตร และตัดท้ายแถวพวกวิ่งช้า 2 คน คือ นักเรียน “ภคพงศ์” และเพื่อนอีกคน โดนให้กระโดนกบ 20 เมตรตามเพื่อไปเข้าแถวปกติ

โดย “ภคพงศ์” ไม่ให้คำขอบคุณและแสดงความไม่พอใจ ขณะที่เพื่อนอีกคนให้คำขอบคุณ ซึ่งเป็นธรรมเนียบปฏิบัติ นักเรียนบังคับบัญชาจึงนำ “ภคพงศ์” ไปโต๊ะอาหารและให้พุ่งหลัง 1-2 นาที แล้วมีอาการฟุบลงไป หายใจเร็วถี่ มือจีบ จึงตามทหารเวร ซึ่งเป็นตำรวจปกครองมาช่วยดูอาการ พร้อมตามรถพยาบาลไปส่งรักษาอาการ

ทั้งนี้ ระบุว่า ท่าพุ่งหลังเป็นท่าอนุญาตให้ใช้ ซึ่งเชื่อว่าการทำ 1-2 นาที ไม่น่าเป็นเหตุทำให้เกิดความโอเวอร์แอ๊ค หรือการปฏิบัติที่เกินกำลัง พร้อมชี้แจงว่าวันนี้ไม่ได้เชิญครอบครัวมาฟังการชี้แจง เพราะไม่ต้องการให้ตอบโต้ ซึ่งไม่ใช่คู่กรณีหรือคู่ขัดแย้ง

ผลชันสูตรสถาบันนิติวิทยาศาสตร์

การชันสูตรศพของนักเรียนเตรียมทหาร “ภคพงศ์” ของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และมีการเชิญชี้แจงแบบปิด โดยญาติมีท่าทีเชื่อว่าผลการชันสูตร กรณีกระดูกซี่โครงหักอาจเกิดจากการโดนทำร้าย พล.อ.อ.ชวรัตน์ ชี้แจงว่า ผลการชันสูตรทางญาติขอสงวนสิทธิไม่เปิดเผย จึงไม่ทราบผลของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ แต่มีผู้รับทราบ 3 ส่วน คือผู้กองที่รับมาจากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เจ้าพนักงานสอบสวนเจ้าของคดี และครอบครัวผู้เสียชีวิต ส่วนผลการชันสูตรจากสถาบันพยาธิวิทยาฯ บอกว่าเกิดจากของแข็งกระแทก และบอกไม่ได้ว่าถูกทำร้ายหรือจากเหตุใด แพทย์จึงสงวนไว้ว่าไม่ตัดกรณีการทำ CPR ที่มีการกระแทกหน้าอกนาน 4 ชั่วโมง ยาวนานกว่ามาตฐานไปมาก

กรณีถูกทำซาวน่า

ส่วนเหตุการณ์กลางคืนของวันที่ 15 ตุลาคม ที่มีข้อสงสัยและเป็นข้อมูลจากครอบครัวของ “ภคพงศ์” ว่าถูกทำซาวน่า ซึ่งจะเป็นปัจจัยให้เป็นไฮเปอร์เวนทิเลชันหรือไม่ พล.อ.อ.ชวรัตน์กล่าวว่าจากการสอบสวน วันนี้เป็นวันที่ “ภคพงศ์” กลับเข้ามายังโรงเรียนวันแรก นักเรียนบังคับบัญชาปรึกษากันว่ายังมีวินัยไม่ดี จึงปรับปรุงด้วยการทำธำรงวินัยหลังเที่ยงคืน ในห้องพักว่างขนาด 8x8 เมตร และให้นักเรียนออกกำลังกายในนั้น อาจทำให้อากาศในห้องอบอ้าวมากกว่าข้างนอก ซึ่ง “ภคพงศ์” และเพื่อน 2 คน แจ้งว่าป่วย จึงถูกแยกออกมาในขณะที่คนอื่นๆ กำลังถูกธำรงวินัย แต่ถูกยึดพื้นท่าเตรียม ซึ่งเชื่อว่าไม่น่าเป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการไฮเปอร์เวนทิเลชันต่อเนื่องได้ ในระยะเวลาราว 1 ชั่วโมงกว่าๆ

ยืนยันระบบธำรงวินัยยังดีอยู่ มีโปสเตอร์ประกอบว่าท่าที่อนุญาตจะติดประกาศไว้ แต่ประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากตัวบุคคลที่ทำเกินกำหนด ซึ่งเมื่อมีผู้ฝ่าฝืนทางโรงเรียนเตรียมทหารไม่ได้ละเลย ได้ตั้งคณะกรรมการสอบตั้งแต่ยังไม่มีผู้ร้องเรียน จึงมีการตัดคะแนนความประพฤตินักเรียนบังคับบัญชาไปแล้ว 4 คน และปลดจากการเป็นนักเรียนบังคับบัญชา นับว่าเสียเกียรติและเป็นโทษขั้นรุนแรง ซึ่งการซ่อมจากนักเรียนบังคับบัญชาคืนวันที่ 15 และเช้าวันที่ 16 ตุลาคมเป็นคนละกลุ่มกัน

เมื่อผ่านไป 2-3 เดือน หากมีผลประเด็นใดขัดแย้งกับผลการสอบสวนครั้งนี้ ต้องพิจารณาว่าผลนั้นเป็นเชิงนิติวิทยาศาสตร์หรือไม่ หรือขัดแย้งผลการสอบของศูนย์การแพทย์พระมงกุฏเกล้าหรือไม่ หากเป็นการขัดแย้งทางข้อมูล ต้องดำเนินการทางการแพทย์ คณะกรรมการสอบไม่สามารถเข้าร่วมได้ เช่น หากผลชันสูตรของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ระบุว่า ซี่โครงที่ 4 หัก เกิดจากโดนทำร้าย ต้องดูว่ามีอะไรที่บ่งบอกว่าเกิดจากการทำร้าย ต้องไปดูทางผลการแพทย์อีกครั้ง โดยคณะกรรมการสอบชุดนี้ มีบทบาทสอบสวนว่า “ภคพงศ์” เสียชีวิตจากการทำร้ายหรือไม่ หรือการซ่อมหรือไม่

ส่วนกรณีที่ญาติยังไม่เชื่อว่า ดีเอ็นเอหัวใจและสมองเป็นของ “ภคพงศ์” หรือไม่ ต้องรอผลการตรวจ หากทางญาติไม่เชื่อ ทางสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ต้องไปตรวจสอบกับศูนย์การแพทย์โรงพยาบาลพระมงกุฏว่าจัดเก็บอวัยวะอย่างไร ซึ่งไม่เกี่ยวกับกองบัญชาการกองทัพไทย หากวันที่ 18 ธันวาคม หลังญาติฟังคำชี้แจงแล้วยังไม่เชื่อผลการสอบสวนของกองทัพไทย พล.อ.อ.ชวรัตน์ ระบุว่า ความเชื่อไม่สามารถห้ามกันได้ เมื่อไม่เชื่อก็ต้องพิสูจน์ แต่ไม่ใช่หน้าที่กองทัพไทยเป็นทางการแพทย์ ทางกองทัพไทยจะไม่ก้าวล่วง

ทั้งนี้ ในวันจันทร์ที่ 18 ธันวาคม คณะกรรมการฯ จะเชิญครอบครัวของนักเรียนเตรียมทหาร “ภคพงศ์ ตัญกาญจน์” มารับฟังผลการสอบ พร้อมชี้แจงตอบข้อสักถามทุกประเด็นที่ครอบครัวสงสัย ซึ่งคณะกรรมการที่แถลงประกอบด้วย พล.อ.อ.ชวรัตน์ มารุ่งเรือง ประธานกรรมการ และกรรมการได้แก่ พล.ท.ศิราวุฒิ วงศ์ขันติ พล.อ.ท.วีรพงษ์ นิลจินดา พล.ท.พีรพงษ์ เมืองบุญชู พล.ท.ชนินทร์ โตเลี้ยง และ พ.อ.ที่รัก สร้อยนาค

ข่าวที่เกี่ยวข้อง