วิเคราะห์พลวัตการต่อสู้ของ "ขบวนประชาชน"

สังคม
18 ธ.ค. 60
19:34
509
Logo Thai PBS
วิเคราะห์พลวัตการต่อสู้ของ "ขบวนประชาชน"
นักวิชาการวิเคราะห์รูปแบบการชุมนุมของภาคประชาชนลดน้อยลงตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และกลายเป็นรูปแบบการเรียกร้องเฉพาะประเด็นมากขึ้น ไม่สามารถเคลื่อนไหวเป็นขบวนใหญ่เหมือนในอดีต

ภาพหนึ่งของ มด วนิดา ที่ยังอยู่ในความทรงจำของหลายคน คือภาพการเดินเคียงข้างขบวนประชาชนออกสู่ท้องถนน เพราะตระหนักว่า มีเพียงการชุมนุมเพื่อเปิดพื้นที่การเมืองบนท้องถนนเท่านั้น ที่จะทำให้ผู้มีอำนาจได้หันกลับมาฟังเสียงความเดือดร้อนของประชาชน

เนื่องในวาระครบรอบ 10 ปีการจากไปของมด วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ ทีมข่าวไทยพีบีเอส ได้ประมวลภาพพลวัตการต่อสู้ของขบวนประชาชนมานำเสนอ

วิถีการทำประมงที่ถูกทำลายลงอย่างสิ้นเชิงหลังการก่อสร้างเขื่อนปากมูลเมื่อปี 2535 ทำให้ชาวบ้านปากมูล จังหวัดอุบลราชธานี ตัดสินใจออกเดินสู่ท้องถนน แม้จะมีผลให้รัฐบาลได้ยินเสียงความเดือดร้อนอยู่บ้าง แต่ก็ยังไม่การแก้ปัญหาอย่างแท้จริง การรวมตัวกันมากขึ้น เพื่อให้เสียงดังกว่าเดิม จึงเป็นหนทางเดียวที่ชาวบ้านมองเห็น

ปี 2538 ขบวนคนทุกข์ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายการพัฒนาของรัฐในนาม “สมัชชาคนจน” จึงก่อตั้งขึ้น ด้วยการรวมตัวของเครือข่ายชาวบ้านจากทุกมิติปัญหาทั่วประเทศ ในขณะที่การเดินขบวนและการชุมนุมบนท้องถนน ก็เป็นเครื่องมือสำคัญที่สมัชชาคนจนใช้เปิดพื้นที่ “การเมืองภาคประชาชน” และสร้างอำนาจต่อรองให้เสียงความเดือดร้อนของชาวบ้านเข้าไปถึงศูนย์กลางอำนาจรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่สิทธิเสรีภาพถูกยอมรับทั้งในรัฐธรรมนูญและผู้ใช้อำนาจรัฐ

 

 

แต่สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง ตั้งแต่ปี 2549 ได้ส่งผลสะเทือนต่อขบวนของสมัชชาคนจน ทั้งความเห็นต่างทางการเมืองของคนในขบวนการภาคประชาชน และภาพความรุนแรงระหว่างการชุมนุมสีเสื้อที่เกิดขึ้นตลอดช่วงเวลา 7 ปีก่อนรัฐประหารทำให้สังคมเหมารวม “การชุมนุมของชาวบ้านที่เดือดร้อนจากนโยบายการพัฒนาของรัฐ” เป็น “การก่อความวุ่นวายทางการเมือง” ไปด้วย

ความพยายามเปิดพื้นที่การเมืองภาคประชาชนยิ่งยากขึ้น หลังการรัฐประหารปี 2557 ต่อเนื่องถึงรัฐบาล คสช. จากการออกกฎหมายจำกัดเสรีภาพและพื้นที่แสดงความคิดเห็น โดยเฉพาะสิทธิในการชุมนุม ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานของการเคลื่อนไหวทางสังคม

ผศ.ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ และอดีตกองเลขาสมัชชาคนจน ซึ่งศึกษาและติดตามขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง มองว่า เงื่อนไขเหล่านี้ เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ภาพการชุมนุมของภาคประชาชนลดน้อยลงตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และกลายเป็นรูปแบบการเรียกร้องเฉพาะประเด็นมากขึ้น ไม่สามารถเคลื่อนไหวเป็นขบวนใหญ่เหมือนในอดีต


ยกตัวอย่างเช่น สมัยก่อนเราเดือดร้อน ชาวบ้านสามารถชุมนุมได้ แต่สมัยนี้ เมื่อจะชุมนุมก็จะถูกจำกัดทันที ถูกดำเนินคดีทันที ก็ทำให้โอกาสที่เขาจะเสนอปัญหายากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะท่าทีของรัฐบาลที่เน้นเรื่องกฎระเบียบ มองเผินๆ ดูเคร่งครัดเป็นระเบียบ แต่จริงๆ แล้วคือการกดปัญหา

ส่วนแนวทางในการฟื้นคืนความเข้มแข็งให้ขบวนประชาชน และสามารถกลับไปมีพื้นที่ทางการเมืองได้อีกครั้ง ผศ.ดร.บุญเลิศ มองว่า นอกจากการต้องพยายามกลับไปรวมตัวให้มากขึ้นแล้ว สำคัญที่สุดคือ รัฐบาลต้องคืนสิทธิขั้นพื้นฐานให้กับประชาชน


“คิดว่าไม่สามารถจะเคลื่อนไหวอย่างโดดเดี่ยว และเป็นกรณีเฉพาะ ถ้าแต่ละกลุ่มตระหนักว่า ปัญหาพื้นฐานคือเราต้องเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐานก่อน ต้องเรียกร้องให้รัฐบาลมีท่าทีที่จะรับฟังเสียงประชาชนก่อน คิดว่าเป็นจุดร่วม และหลังจากนั้น การเจรจาแต่ละกรณีจะตามมา นี่คือกลับไปสู่แนวคิดพื้นฐานของสมัชชาคนจน คือแต่ละกลุ่มสู้ไม่ได้ เราต้องทำให้รัฐบาลฟังเราก่อน รัฐบาลต้องเปลี่ยนท่าที แทนที่จะตวาดประชาชน มาเป็นฟังประชาชนก่อน”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง