รำลึก 13 ปี “สึนามิ” ภัยธรรมชาติที่มิอาจลืมเลือน

ภัยพิบัติ
26 ธ.ค. 60
07:40
7,933
Logo Thai PBS
รำลึก 13 ปี “สึนามิ” ภัยธรรมชาติที่มิอาจลืมเลือน
ผ่านมา13 ปีแล้ว เหตุการณ์ภัยพิบัติครั้งใหญ่ที่คร่าชีวิตผู้คนในไทยไปจำนวนมาก วันนี้ หลายจังหวัดในแถบอันดามันจะจัดงานรำลึกเหตุการณ์ในครั้งนั้น

วันนี้ (26 ธ.ค.2560) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจ้าหน้าที่ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดพังงา และเครือข่ายภาคประชาชน ร่วมกันซ้อมแผนอพยพคลื่นสึนามิ บริเวณบ้านน้ำเค็ม ต.บางม่วง อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา ในช่วงครบรอบคลื่นสึนามิถล่มพื้นที่ จ.พังงา เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547

โดยสมมุติสถานการณ์ว่าเกิดแผ่นดินไหว บริเวณหมู่เกาะนิโคบาร์ขนาด 8.5 ความลึก 10 กิโลเมตร เจ้าหน้าที่แจ้งข้อมูลทางข้อความ ครั้งที่ 1 จากนั้นคณะกรรมการอำนวยการศูนย์อพยพ เตรียมความพร้อมรับมือสึนามิที่บ้านน้ำเค็ม และแจ้งทางข้อความครั้งที่ 2 ให้เจ้าหน้าที่ใช้ไซเลนชนิดมือหมุน แจ้งเตือนประชาชนให้อพยพ และเข้าช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ ทั้งในเหตุการณ์และอุบัติเหตุบนถนน

ครบรอบ 13 ปี คลื่นสึนามิซัดไทย

นายไมตรี จงไกรจักร ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้ประสบภัยสึนามิ เล่าถึงเหตุการณ์ในวันที่เกิดสึนามิ ว่า คืนนั้นทุกคนต่างหนีเอาตัวรอดและหลบหนีไปหาที่ปลอดภัย โดยอาศัยที่โรงเรียน อำเภอและวัดต่างๆ จากนั้นไม่นาน ชาวบ้านและหน่วยงานต่างๆ ก็ช่วยกันสร้างศูนย์พักชั่วคราว และแบ่งหน้าที่รับผิดชอบ

เจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบลอ่าวนาง อ.เมืองกระบี่ จัดเตรียมสถานที่บริเวณปฎิมากรรมปลาใบ ริมเขื่อนเกาะพีพี เพื่อจัดงานรำลึกสึนามิปีที่ 13 ในวันนี้ โดยได้นำภาพถ่ายของผู้เสียชีวิต และสูญหายจากเหตุการณ์คลื่นสึนามิพัดถล่มเกาะพีพีมาจัดแสดงภายในงาน และจัดเตรียมสถานที่วางดอกไม้เพื่อระลึกถึงผู้เสียชีวิต

ขณะที่นักประดาน้ำจะนำพวงมาลัยโลหะ ไปวางที่อนุสรณ์สถานใต้น้ำบริเวณอ่าวหน้าเกาะพีพี จ.กระบี่ มีผู้เสียชีวิตและสูญหายจากเหตุสึนามิ กว่า 700 คน

เร่งซ่อมแซม "หอเตือนภัย" 

บ้านน้ำเค็ม อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา เป็นชุมชนต้นแบบที่พร้อมรับมือภัยพิบัติ และมีการซ้อมอพยพภัยสึนามิทุกปี ไม่กี่เดือนที่ผ่านมา อบต.บางม่วง เพิ่งได้รับมอบให้ดูแลหอหลบภัยสึนามิ ที่ถูกทิ้งร้างมานานกว่า 10 ปี หลังการก่อสร้าง เนื่องจากติดข้อกฎหมายกรรมสิทธิ์ในการดูแลอาคาร ซึ่งจากนี้จะพัฒนาระบบเตือนภัยให้มีความพร้อมมากยิ่งขึ้น

ประชาชนหลายจังหวัดในภาคใต้ เห็นตรงกันว่าระบบการเตือนภัยสึนามิควรบำรุงรักษาให้ใช้ได้โดยเร็วที่สุด และควรจะบำรุงรักษาให้ใช้ได้ตลอดเวลา เพราะสึนามิสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ โดยไม่สามารถพยากรณ์ได้ล่วงหน้า

ทั้งนี้ หลังจากเหตุการณ์สึนามิผ่านไป 13 ปี หอเตือนภัยและระบบอุปกรณ์การแจ้งเตือนภัยในภาคใต้ มีทั้งหมด 692 แห่ง ซ่อมแซมแล้ว 580 แห่ง ยังเหลืออีก 112 แห่ง ที่คาดว่าภายในเดือนกรกฎาคมปีหน้าจะแล้วเสร็จทั้งหมด

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง