เจาะใจฟรีแลนซ์ "รวิวรรณ" จุดเปลี่ยนจากพนักงานประจำสู่อาชีพที่ตอบโจทย์ชีวิต

ไลฟ์สไตล์
27 ธ.ค. 60
10:53
5,090
Logo Thai PBS
เจาะใจฟรีแลนซ์ "รวิวรรณ" จุดเปลี่ยนจากพนักงานประจำสู่อาชีพที่ตอบโจทย์ชีวิต
"ฟรีแลนซ์" เป็นอาชีพใฝ่ฝันของคนรักอิสระ แต่สำหรับ รวิวรรณ รักถิ่นกำเนิด กลับมีจุดเปลี่ยนจากการเปลี่ยนระบบการจ้างงานและอยากเรียนต่อปริญญาโท สู่อาชีพที่ตอบโจทย์กว่างานประจำ มีอิสระ เลือกรับงานได้ หากจัดสรรชีวิตและเวลาดีพอ ไม่ว่าจะงานเร่งด่วนแค่ไหนรับมือสบาย

ทำไมยึดอาชีพฟรีแลนซ์และเคยทำงานเป็นพนักงานประจำมาก่อนหรือไม่

อิสระในแง่จะไปไหนก็ได้ สามารถทำงานตรงไหนก็ได้ และมีสิทธิ์ที่จะปฏิเสธรับหรือไม่รับงาน ถ้าเราไม่อยากทำ ตอนแรกทำงานประจำเป็นนักข่าวที่สำนักข่าวแห่งหนึ่ง แต่ที่ตัดสินใจมาทำงานฟรีแลนซ์ เพราะบริษัทเปลี่ยนระบบการจ้างงานและอยากเรียนต่อปริญญาโท ซึ่งไม่มีอาชีพไหนเหมาะสมมากกว่าฟรีแลนซ์อยู่แล้ว และทำมาประมาณ 3 ปีแล้ว

ทำงานฟรีแลนซ์เกี่ยวกับอะไร

งานฟรีแลนซ์ที่ทำจะมีงานหลัก 2 อย่าง คืองานเขียนสกู้ปข่าว เขียนข่าวรายวัน บทสารคดี และงานโปรดิวซ์ ส่วนอีกอย่าง คือการทำงานอาร์ตเวิร์ก หรือโฟโต้ช้อป ภาพประกอบหนังสือ โปสเตอร์ งานออกแบบ แต่จริงๆ แล้วจบทางด้านรัฐศาสตร์ เอกการเมืองการปกครอง ส่วนงานฟรีแลนซ์มาจากเรียนรู้เองทุกอย่าง สาเหตุที่เรียนรู้ เพราะคิดว่าถ้าจะอยู่ในรอดในวงการนี้ต้องทำได้หลายอย่าง เช่น ถ้ามีคนมาจ้างเขียนข่าวก็จะถามไปว่าต้องการทำภาพประกอบด้วยมั้ย สมมติเอาแบบนี้ก็แบบแพ็กเกจคู่ไปเลย ไม่ต้องจ้างคนอื่น ไม่ต้องดีลงาน ไม่ต้องบรีฟงานใหม่

 

มีวิธีการรับงานและบริหารเวลาอย่างไร

ต้องมีพอร์ตโฟลิโอติดตัวตลอด จะอัพใส่เมล์หรืออะไรก็ได้ แต่เวลาไปเจอใครจะบอกว่าทำงานสไตล์นี้ ถ้ามีงานก็บอกเราได้ และเวลารับงานด่วน เช่น จะมีงานประเภทช่วยพี่หน่อยไม่มีคนทำแล้ว จะรับงานไว้ก่อน อาจจะต้องขาดทุนนิดนึง เพราะต้องทำงานข้ามวัน แต่ว่างานต่อไปเขาจะเริ่มเรียกหาเรา เราก็ต้องต่อรอง หรือบางทีรับงานซ้อน ต้องดูก่อนว่าอย่างงานกราฟฟิกสามารถทำได้เร็ว ซึ่งจะสามารถรับซ้อนกับงานเขียนข่าวได้ ก็จะดูสเกลงานประกอบ และส่วนใหญ่จะรับงานไว้เยอะก่อน เพราะกลัวว่าบางช่วงอาจจะงานไม่มี ก็ต้องบริหารเครือข่ายให้ได้ และส่วนใหญ่ลูกค้าจะมีการบอกต่อ

ถ้ามีรายได้เข้ามาจะหักประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์เข้าบัญชีเงินเก็บ คือจะต้องมีเงินสำรองอย่างน้อย 6 เดือน

บริหารเงินอย่างไรให้เพียงพอกับค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน

ถ้ามีรายได้เข้ามาจะหักประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์เข้าบัญชีเงินเก็บ คือจะต้องมีเงินสำรองอย่างน้อย 6 เดือน ถ้าไม่มีงานจึงนำเงินก้อนนี้มาใช้ โดยที่ผ่านมา แทบไม่มีปัญหาเรื่องเงิน ซึ่งขึ้นอยู่กับการใช้ชีวิตด้วยแหละ สมมติ ถ้าไปนั่งร้านกาแฟทุกวันก็แพง แต่ถ้าเข้าไปใช้ห้องสมุดมหาวิทยาลัยก็ไม่ต้องจ่าย มีวิธีการประหยัดเงินเยอะแยะ ซึ่งเห็นฟรีแลนซ์หลายคนมาใช้ห้องสมุดมหาวิทยาลัยทำงาน และเดี๋ยวนี้มีพื้นที่กลางเมืองเปิดทั้งคืน ซึ่งโอเคมากเลย

ความมั่นคงมีผลการต่อการตัดสินใจหรือไม่ บางคนบอกว่าอาชีพนี้ไม่มั่นคง

ช่วงนึงก็กลัวนะ ต้องวางแผน ช่วงแรกก็เป๋ไปเหมือนกัน เพราะไม่มีงานเลย ค่าเทอมก็ต้องจ่าย ก็ต้องเอาเงินเก็บมาใช้ แต่พอเริ่มคล่องแล้ว มันต้องวางแผน เช่น ช่วงไหนจะทำธีซิสหรือจะเรียนอย่างเดียว ก็ต้องเบาเรื่องเรียนและรับงานมาเยอะๆ เพื่อที่จะถัวงานไปเดือนหน้า และจะต้องแบ่งงานระยะสั้นกับงานระยะยาว ถ้าทำงานอาร์ตเวิร์กเยอะ ขอเลทเป็นครึ่งปีได้มั้ย จะทยอยส่งเดือนละ 1 ชิ้น และที่สำคัญคือเรื่องสุขภาพ เป็นฟรีแลนซ์ต้องทำประกันสุขภาพ เพราะถ้าป่วยจะใช้เงินเยอะมาก แต่ไม่ว่าจะทำอาชีพอะไรควรทำประกันสุขภาพ หรือทำประกันสังคมแบบส่งเอง และออกกำลังกายเป็นประจำ ส่วนตัวแล้วออกกำลังกายด้วยการวิ่ง ทำตัวให้ไปโรงพยาบาลให้น้อยที่สุด นอกจากนี้ เป็นฟรีแลนซ์ต้องลงทุนในเรื่องของอุปกรณ์เองเยอะมาก เช่น จะต้องซื้อแม็คบุ๊ก เม้าส์ ปากกา ถ้าจะไปในที่ไม่มีอินเทอร์เน็ต ต้องซื้อตัวปล่อยสัญญาณ ปีแรกอาจจะลงทุนหน่อย แต่ในปีต่อไปจะได้ทุนคืน อย่างหนึ่งเลยคือต้องคีพคอนเนคชั่นให้ยาวๆ ข้อเสียอย่างหนึ่งของฟรีแลนซ์ คือถ้ารู้ว่าจะทำงานกับคนนี้ยาวๆ จะรับงานก่อนแล้วค่อยถามราคา ซึ่งเป็นปัญหาที่ฟรีแลนซ์หลายคนก็เจอ ถ้าอยากได้งานก็ต้องรับมาก่อนแล้วค่อยต่อรองว่าจะเพิ่มหรือลดอะไร

ครอบครัวห้ามหรือสนับสนุนเราอย่างไร

แรกๆ เขาก็ถามจะมั่นคงเหรอ แต่เราอธิบายให้ฟังว่ามีข้อดีข้อเสียยังไง บริหารยังไง และเห็นว่าเราอยู่ได้เขาก็โอเค ซึ่งไม่ได้บังคับให้ทำงานราชการ แม้ว่าจะจบรัฐศาสตร์มา ก่อนที่จะมาทำฟรีแลนซ์ก็บอกเขาว่าออกจากงานแล้วนะว่าที่ทำงานมีปัญหาอะไร และเราจะเรียน ซึ่งการเรียนไม่สามารถทำงานประจำได้ มีข้อจำกัด ถ้าทำงานฟรีแลนซ์จะสามารถกลับมาอยู่บ้านและเอางานมาทำได้ พอเขาได้ยินว่าลูกจะกลับบ้านก็เลยไม่ว่าอะไร อาจจะพ่อเป็นคนจีน อย่างน้อยลูกมาอยู่บ้านก็ดีได้เห็นได้เจอ

แวดวงเพื่อนยึดอาชีพนี้มากน้อยแค่ไหน และมีอิทธิพลต่อเราในการทำอาชีพนี้หรือไม่

เพื่อนสมัยเรียนมหาวิทยาลัยในกลุ่มมีเราเป็นฟรีแลนซ์คนเดียว แต่เพื่อนจากกลุ่มอื่นหรือข้างนอกที่รู้จักจะเป็นฟรีแลนซ์ประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ บางทีไปทำงานจ๊อบทั้งโปรเจ็คท์มีแต่ฟรีแลนซ์มารวมกัน ซึ่งฟรีแลนซ์จะมีคอมมูนิเคชั่นของมัน สมมติมีคนติดต่องานเรา แต่ทำงานไม่ทัน เดี๋ยวไปหาคนให้ เก็บลูกค้าไว้ก่อน แล้วเราติดต่อเอง อาจจะได้ค่าเปอร์เซ็นต์ไปและยังสามารถรักษาลูกค้าได้อยู่ ซึ่งเราต้องเอางานมาตรวจก่อนไม่อย่างนั้นจะเสียลูกค้า วงการฟรีแลนซ์เป็นแบบนี้ทุกคน ช่วงแรกที่ไม่มีงาน เคยได้งานจากฟรีแลนซ์ที่ทำงานไม่ทันและให้เราไปทำงานและดีลงานกับลูกค้าเอง เป็นช่องทางที่ทำให้ได้ลูกค้าเพิ่มขึ้น

จริงๆ แล้ว งานบริษัทก็ไม่มั่นคง ใครจะไปรู้ว่าโดนเลย์ออฟเมื่อไหร่ อาจจะเพราะเคยอยู่ในสภาวะนั้นมาก่อน อย่าลืมสิ ถ้าบริษัทไม่มีเราเขาก็หาคนอื่นมาแทนได้

ในอนาคตจะยึดอาชีพอยู่หรือไม่ เพราะอะไร หรือจะทำงานประจำและรับจ๊อบไปด้วย

เราเห็นเพื่อนที่เป็นฟรีแลนซ์ด้วยกันเป็นฟรีแลนซ์มาก่อนและไปทำงานประจำ แต่ยังรับงานฟรีแลนซ์อยู่ เพราะรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย ซึ่งของเราต้องถามก่อนว่างานประจำที่เราทำเป็นงานอะไร ถ้าเรียนปริญญาโทแล้วไปต่อปริญญาเอกจบมาแล้วคงไม่มาเป็นฟรีแลนซ์ คงจะเป็นอาจารย์ แต่ถ้างานของเราเป็นงานกองบรรณาธิการนิตยสาร ก็ยังรับงานฟรีแลนซ์อยู่ แต่อาจจะลดปริมาณงานลง อาจจะเป็นช่วงปิดเล่มแล้วจึงมารับงาน เพราะรู้สึกว่าถ้าวันนึงใช้เงินเยอะขึ้นมา และงานประจำไม่พอ ก็ต้องพยายามรักษาลูกค้าไว้ หรืออย่างน้อยหาคนมาให้ หรือยังติดต่อกับเขาอยู่ ซึ่งจริงๆ แล้ว งานบริษัทก็ไม่มั่นคง ใครจะไปรู้ว่าโดนเลย์ออฟเมื่อไหร่ อาจจะเพราะเคยอยู่ในสภาวะนั้นมาก่อน อย่าลืมสิ ถ้าบริษัทไม่มีเราเขาก็หาคนอื่นมาแทนได้ สิ่งที่สำคัญคือการเป็นฟรีแลนซ์ เวลาเรามีลายเซ็นแล้วเราขายได้ ทั้งนี้ เพิ่งได้งานใหม่ไม่ถึง 1 สัปดาห์ เป็นโครงการระยะยาว 10 เดือน แต่ยังไม่คิดจะทำงานประจำ หากจบโครงการนี้แล้ว อาจจะไปรับจ๊อบที่มีระยะเวลาโครงการไม่เกิน 1 ปีแบบนั้นมากกว่า ซึ่งอาจจะเกิดการเปรียบเทียบอย่างเพื่อนบางคนที่ทำงานประจำจะบ่นว่ารู้สึกว่าไม่ได้ใช้ศักยภาพเลย ในขณะที่เป็นฟรีแลนซ์จะพัฒนาศักยภาพตลอดเพื่อให้มีลูกค้า ซึ่งมองว่าเป็นแรงกระตุ้น และมองว่าอาจารย์มหาวิทยาลัยกับฟรีแลนซ์มีจุดร่วมคือทำให้คุณต้องพัฒนาศักยภาพตลอด

มีนา บุญมี ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง