"วิชา" แนะ สนช.ยื่นวินิจฉัยปมสถานะ ป.ป.ช.ในร่าง ก.ม.ลูก หวั่นกระทบศรัทธา

การเมือง
27 ธ.ค. 60
12:11
241
Logo Thai PBS
"วิชา" แนะ สนช.ยื่นวินิจฉัยปมสถานะ ป.ป.ช.ในร่าง ก.ม.ลูก หวั่นกระทบศรัทธา
อดีตคณะกรรมการ ป.ป.ช.แนะ สนช.สร้างความชัดเจนเกี่ยวกับคุณลักษณะต้องห้ามของคณะกรรมการ ป.ป.ช. หลังยังไม่มีสมาชิก สนช.แสดงเจตจำนงในการเข้าชื่อยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ กรณีการยกเว้นคุณลักษณะต้องห้ามดังกล่าว

วันนี้ (27 ธ.ค.2560) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ด้วยข้อกังวลว่าการยกเว้นคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามตามร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ป.ป.ช.ที่เพิ่งผ่านความเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งทำให้กรรมการ ป.ป.ช.ชุดปัจจุบัน สามารถอยู่ในตำแหน่งต่อไปได้จนครบวาระรวม 9 ปี อาจส่งผลกระทบต่อการทำหน้าที่ในอนาคตของกรรมการ ป.ป.ช.ชุดปัจจุบัน และอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญนั้น

ศ.วิชา มหาคุณ อดีตกรรมการ ป.ป.ช.แนะว่า สนช.อาจใช้ช่องทางยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย สอดคล้องกับนายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ที่กังวลว่าประเด็นนี้ อาจเป็นอุปสรรคต่อการทำหน้าที่ของคณะกรรมการ และอาจถูกสังคมตั้งคำถามถึงเกียรติและศักดิ์ศรี ซึ่งกระทบต่อศรัทธาของประชาชน

ทั้งนี้ ตามกระบวนการตรากฎหมาย หลังผ่านความเห็นชอบจาก สนช.จะต้องส่งเรื่องไปยัง กรธ.และ ป.ป.ช. ซึ่งหากมีความเห็นแย้งสามารถตั้งกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่ายเพื่อทบทวนได้ ซึ่งร่างกฎหมาย ป.ป.ช.นี้ยังเป็น 1 ใน 10 ประเด็นจับตาคอร์รัปชันที่องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันจะติดตามในปี 2561 หลังจากที่ประชุม สนช.ปรับแก้กฎหมายที่ยังมีข้อกังขาเกี่ยวกับอำนาจบทบาทและวิธีการปฏิบัติงานที่เข้มข้นน้อยลง ทั้งที่ ป.ป.ช.เป็นองค์กรหลักในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน

ขณะเดียวกัน ยังมีประเด็นสำคัญอย่างเรื่องกฎหมายปราบโกงที่ยังไม่คืบหน้า เช่น พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารสาธารณะ, พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันฯ และยังมีเรื่องการทุจริตที่เกี่ยวกับคนใกล้ชิดรัฐบาล กรณีการแสดงบัญชีทรัพย์สิน การเหมาเที่ยวบินไปประชุมที่ฮาวาย กรณีส่วยภูเก็ต คดีเงินทอนวัดที่ไม่คืบหน้า, คดีสินบนโรลส์รอยซ์, คดีทุจริตสวนปาล์มน้ำมันของ ปตท.ที่ประเทศอินโดนีเซีย, การปฏิรูปตำรวจที่ยังอึมครึม อภิสิทธิ์ชนกับการบังคับใช้กฎหมาย และการดำเนินตามกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 63 ที่รัฐให้ ป.ป.ท.ร่างกฎหมายฉบับหนึ่ง เมื่อร่างเสร็จกลับไม่ได้นำมาใช้ แต่นำไปเพิ่มเติมไว้ในกฎหมาย ป.ป.ช.และกฎหมาย ป.ป.ท.

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง