แนะใช้เงิน 1,200 ล้านบาทก้าวคนละก้าว "สร้างสุขภาพ"

สังคม
27 ธ.ค. 60
13:53
104,365
Logo Thai PBS
แนะใช้เงิน 1,200 ล้านบาทก้าวคนละก้าว "สร้างสุขภาพ"
ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการงบประมาณระบบสาธารณสุขชี้ 11 โรงพยาบาลที่ได้รับบริจาคจาก "ตูน บอดี้สแลม"จำนวนกว่า 1,200 ล้านบาท ควรใช้ลงทุนด้านการ "สร้างสุขภาพ" มากกว่าลงทุนในด้านการซ่อมสุขภาพ

การมาถึงเส้นชัยที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ในโครงการก้าวคนละก้าว ของนายอทิวราห์ คงมาลัย หรือ "ตูน บอดี้สแลม" และทีมงาน พร้อมยอดบริจาคเบื้องต้นจากหลายช่องทางตลอดการวิ่ง 55 วัน เพื่อ 11 โรงพยาบาล จำนวนกว่า 1,200 ล้านบาท ทะลุเป้าที่วางไว้ เป็นไปตามจุดมุ่งหมายที่ "ตูน บอดี้สแลม" ย้ำอยู่เสมอว่า เงินเล็กๆ น้อยๆ ที่รวมกันจะมีพลังมากพอสร้างประโยชน์ให้กับสังคม

นพ.วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร ที่ปรึกษาสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ หรือ IHPP ภายใต้สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ยอมรับว่า เป็นปรากฎการณ์ของเงินบริจาคเข้าระบบสาธารณสุขที่ก้าวกระโดด เมื่อเทียบกับข้อมูลบัญชีรายจ่ายสุขภาพแห่งชาติ ปี 2557 จะเห็นว่ายอดการบริจาค มีเพียง 72.7 ล้านบาท แต่ครั้งนี้มีมากกว่าถึง 15 เท่า

 

ที่ปรึกษา IHPP อธิบายว่า รายจ่ายสุขภาพรวมด้านการลงทุนที่รัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุขรับผิดชอบมีถึงกว่า 96,000 ล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนเพื่อดำเนินการกว่า 86,000 ล้านบาท ที่เหลืออีก 10,000 ล้านบาท คือ งบลงทุนเครื่องมือทางการแพทย์หรือเรียกว่าเป็นงบที่ใช้เพื่อการซ่อมสุขภาพ ซึ่งเงินจากโครงการก้าวคนละก้าวจำนวน 1,200 ล้านบาท ก็จะอยู่ในส่วนนี้

แต่เมื่อนำไปรวมกับงบประมาณที่ได้จากอีกหลายส่วน เช่น งบจากกระทรวงอื่นๆ อีก 5,000 กว่าล้านบาท งบจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช.กว่า 7,000 ล้านบาท และจากแหล่งอื่นอีก เมื่อรวมกันแล้วจะมีงบลงทุนต่างๆ เช่น เครื่องมือทางการแพทย์เป็นเงินกว่า 31,000 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 6 จากรายจ่ายรวมด้านสุขภาพทั้งระบบหรือจำนวน 518,000 ล้านบาท

 

 

ดังนั้น เงินที่ได้จากโครงการก้าวคนก้าว เมื่อเติมเต็มเข้าสู่ระบบแล้วอาจดูไม่มากนัก หากเทียบกับเงินที่ถูกจัดสรรไว้แล้ว ที่ปรึกษา IHPP จึงชวนให้คิดต่อถึงแนวทางการใช้เงินของ 11 โรงพยาบาลว่าเป็นไปได้หรือไม่ ที่จะแบ่งเงินเงินบริจาคไปลงทุนระยะยาวกับการสร้างเสริมสุขภาพ มากกว่าการใช้เงินไปกับการซ่อมสุขภาพ

เงินงบประมาณ 518,000 ล้านบาท เป็นการป้องกันและควบคุมโรคต่างๆ เพียง 7% เท่านั้นเอง ดังนั้น เงินจากตูนก็อาจจะต้องดูว่าจะใช้อย่างไรเพื่อสร้างสุขภาพให้มากที่สุด แต่ถ้าซ่อมแป้บเดียวหมด ไม่ถึงปี ซ่อมก็คือ การซื้อเครื่องมืออุปกรณ์ใช้ได้เป็นสิบปี แต่ก็เป็นเพียงการซ่อมสุขภาพ

แม้ตลอดช่วงที่ผ่านมา งบลงทุนด้านสร้างสุขภาพแบบมีส่วนร่วมจะถูกให้ความสำคัญรองลงมาจากงบลงทุนด้านอุปกรณ์ เครื่องมือ และเวชภัณฑ์ แต่จากนี้ที่ปรึกษา IHPP เชื่อว่า สัดส่วนของคนไทยที่หันมาสนใจเรื่องสุขภาพด้วยการออกกำลังกายจะมีเพิ่มขึ้น และแน่นอนว่า การวิ่งของตูนได้กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการปลุกพลังสร้างสุขภาพในสังคมไทย และนี่คือผลพลอยได้ที่มีค่ามากกว่าเงินพันล้านบาทที่ทุกคนร่วมบริจาค

พงศ์เมธ ล่องเซ่ง ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส รายงาน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง