หมอล็อต "ผมอยู่เพื่อรักษาสัตว์ป่า ไม่ใช่รักษาภาพลักษณ์"

สิ่งแวดล้อม
28 ธ.ค. 60
09:00
16,943
Logo Thai PBS
หมอล็อต "ผมอยู่เพื่อรักษาสัตว์ป่า ไม่ใช่รักษาภาพลักษณ์"

นับตั้งแต่มีกรมป่าไม้มากว่า 100 ปี ก่อนจะแยกส่วนหนึ่งออกมาเป็นกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เมื่อปี 2545 งานด้านสัตว์ป่าแม้จะเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป แต่ทว่าเป็นงานด้านการศึกษาวิจัยเสียเป็นส่วนใหญ่

กระทั่งเมื่อความเจริญมากขึ้น ทำให้การบุกรุกที่ดิน การขยายพื้นที่ทางการเกษตรมากขึ้น รวมถึงการท่องเที่ยวที่นิยมใกล้ชิดธรรมชาติมากขึ้น ทำให้สัตว์ป่าเป็นเรื่องใกล้ตัวกับคนมากขึ้น

และยิ่งในยุคออนไลน์ การเผยแพร่ภาพและข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสัตว์ป่า ก็ยิ่งเพิ่มความสนใจให้กับประชาชนมากขึ้นเป็นลำดับ ทำให้คนในเมืองเห็นภาพสัตว์ป่าแบบไม่ผ่านกรงอย่างใกล้ชิด เห็นทั้งภาพสัตว์ที่มีความสุขและถูกทำร้าย และเห็นภาพคนที่เข้าช่วยเหลือสัตว์ป่า ตั้งแต่ช่วยเล็กๆน้อยๆ ไปจนถึงช่วยให้รอดชีวิต

"หมอล็อต" เป็นคนหนึ่งในนั้นที่มีภาพปรากฎในสื่อสังคมออนไลน์ หลังจากกรมอุทยานฯ เปิดรับ "สัตวแพทย์สัตว์ป่า" อย่างเป็นทางการ ทำให้เขาเป็นสัตวแพทย์สัตว์ป่าคนแรกของกรมอุทยานฯ และเป็นที่รู้จักตั้งแต่บัดนั้น

"หมอล็อต" หรือ นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน ไม่เพียงแต่มีบทบาทในฐานะ สัตวแพทย์ของกรมอุทยานฯ แต่เขาพยายามสร้างความเปลี่ยนแปลง เพื่อทำให้คนภายนอกรู้ว่า สัตวแพทย์สัตว์ป่ามีความสำคัญมากต่องานอนุรักษ์

 “ตอนนั้นเขาโกรธคน แค้นคนมากว่าคนไปทำร้ายเขา พยายามที่จะไล่กระทืบเรา เขาไม่รู้หรอกว่าเราเป็นหมอ มาดีหรือมาร้าย พยายามชูบัตรข้าราชการให้เห็นแล้วว่าเป็นหมอ แต่ก็ยังไล่กระทืบอยู่ จนต้องยิงยาสลบแล้วค่อยเข้าไปรักษาตัวเขาในป่า รักษาให้ยาเสร็จทุกอย่าง เขาก็วิ่งไล่เราต่อเหมือนเดิม แต่การวิ่งไล่ตอนนั้น เป็นการวิ่งหนีที่มีรอยยิ้มมากๆ เพราะว่าการที่เขาวิ่งไล่เราได้ นั้นคือ สิ่งที่บ่งบอกว่า อาการเขาดีขึ้น ผลการรักษามันดี เลยทำให้การวิ่งครั้งนั้นเป็นการวิ่งหนีสุดชีวิตที่มีความสุข" "หมอล็อต" เล่าถึงความประทับใจเมื่อครั้งเข้าป่าไปรักษา “ช้างป่า” ที่ถูกยิงได้รับบาดเจ็บในพื้นที่ป่าเขตรอยต่อ 5 จังหวัด

 

ภาพประกอบ : เฟซบุ๊ก ภัทรพล ล็อต มณีอ่อน

ภาพประกอบ : เฟซบุ๊ก ภัทรพล ล็อต มณีอ่อน

ภาพประกอบ : เฟซบุ๊ก ภัทรพล ล็อต มณีอ่อน

 

10 ปี “หมอสัตว์ป่า” คนแรกกรมอุทยานฯ มีอะไรเปลี่ยนแปลง


ชีวิตส่วนตัว หรือ ไลฟ์สไตล์ที่แทบจะไม่เปลี่ยนไปเลย แต่สังคมหรือคนรอบนอกต่างหากที่เปลี่ยนไป ทุกคนมองเราเป็นบุคคลที่มีความน่าเชื่อถือ มีความรู้ ประสบการณ์จากงานที่เราทำทุกคนยอมรับเรา ยอมรับในวิชาชีพของเรา มองเราอย่างให้เกียรติในฐานะข้าราชการ และหากมองย้อนไปในอดีตตอนยังไม่เป็นหมอ เราเป็นเพียงแค่คนธรรมดา ที่อาจเกเร อันธพาลบ้าง แต่พอเรามาอยู่ในบทบาทที่ทุกคนเคารพเชื่อถือ เรากลับยิ่งกลับต้องมองตัวเองให้ต่ำที่สุด ทำตัวเองให้ขาติดพื้นดินให้มากที่สุด

การทำงานของผมแต่ละเรื่องแต่ละภารกิจทุกวันนี้มันไม่ซ้ำกันเลย ทุกครั้งที่ผมกำลังทำงานอะไรใหม่ๆ ผมจะไม่เอาความสำเร็จในอดีตมาเป็นตัวการันตี หรือ เอามาเป็นตัวชี้วัด ว่า ภารกิจที่เราทำครั้งหน้ามันจะต้องประสบความสำเร็จ ผมจะไม่เอาตัวนั้นมาเป็นที่ตั้ง ผมจะเริ่มที่ศูนย์ใหม่และต้องมีสติ

 ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น กับการรักษาที่เราขับเคลื่อน

เราได้เรียนรู้แล้วว่า เราคนเดียวหรือหน่วยงานเราหน่วยงานเดียว ท่ามกลางปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม การฟื้นฟูและการอนุรักษ์ธรรมชาติให้คงอยู่ หรือที่มีอยู่แล้วก็ต้องรักษาเอาไว้ จำเป็นที่จะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกคน ทุกหน่วยงานในการแก้ไข้ หมดยุคแล้ว สำหรับการอนุรักษ์แบบตัวแทน อนุรักษ์โดย "การฝากฝังใครคนใดคนหนึ่ง หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง” มันเอาไม่อยู่ มันไม่ไหว

ตอนนี้สิ่งที่เราทำได้คือการ “เปลี่ยนมุมมองของคนรอบข้าง” ว่าแต่เดิมเราเป็นคนที่ดูแลรักษาป่า อยู่ในหน่วยงานนี้โดยตรง สิ่งที่เราทำอยู่ดีอยู่แล้ว แต่ถ้าทุกคนมาช่วยกันทำมันดีกว่าแน่นอน เพราะฉะนั้นมันก็เป็นอีกความท้าทายหนึ่งในการ “เปลี่ยนคนรอบข้าง” ให้คล้อยตามกับสิ่งที่เราเป็นและสิ่งที่เรากำลังทำอยู่

คนเดี๋ยวนี้ให้ความสำคัญ กับ “ป่าไม้และสัตว์ป่า” ยังไง

มันใกล้กันมากขึ้น มันไม่ไกลกันเหมือนก่อน เมื่อก่อนคิดว่า “ป่ากับเมือง” เป็นเรื่องที่ไกลกัน แต่ปัจจุบันการเดินทางมันทำให้ทุกอย่างเป็นพื้นที่เดียวกันเชื่อมโยงกัน ป่ากับเมืองนั้นไม่เคยแยกจากกัน อะไรที่เกิดขึ้นในป่าย่อมส่งผลกระทบต่อสังคมมนุษย์ในเมืองทั้งสิ้น ผลกระทบนั้นจะมาในรูปแบบของภัยธรรมชาติ ทั้งสภาพอากาศที่แปรปรวน หรือแม้กระทั่งโรคระบาด เพียงแต่ว่าเรายังมองไม่เห็นเท่านั้นเอง

แต่สิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนในปัจจุบัน คือ คนเมือง หรือ คนรุ่นใหม่ เขามองบทบาทของเขาเองว่า เป็นผู้มีส่วนได้เสีย หรือ Stakeholder ต่อทรัพยากรธรรมชาติ เขาเริ่มจะตระหนักแล้วว่า เขาคือผู้ได้รับผลกระทบ หากธรรมชาติถูกทำลายหรือเสียหาย เพราะฉะนั้นจะทำอย่างไร ที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา ร่วมเป็นผู้ปกป้องและคุ้มครอง ซึ่งนั้นก็คือทางออกของการอนุรักษ์ ณ เวลานี้ เรากำลังมีเพื่อนเพิ่ม

ภาพประกอบ : เฟซบุ๊ก ภัทรพล ล็อต มณีอ่อน

ภาพประกอบ : เฟซบุ๊ก ภัทรพล ล็อต มณีอ่อน

ภาพประกอบ : เฟซบุ๊ก ภัทรพล ล็อต มณีอ่อน

หมอใช้โซเซียลมีเดียในการทำงานยังไง

เป็นช่องทางหนึ่งในการสื่อสารเกี่ยวกับ “ธรรมชาติ” เพราะเราทำงานในป่า ธรรมชาติเตือนอะไรกับเรา ธรรมชาติบอกอะไรกับเรา เราก็มีหน้าที่ในการสื่อสารสิ่งเหล่านั้น หลายๆ กรณีถ้าไม่มีการสื่อสาร ไม่มีการแปลความหมายของธรรมชาติ ผลกระทบที่เกิดขึ้นก็อาจร้ายแรงกว่าที่เราจะคาดคิดได้

ต้องยอมรับว่า สื่อสังคมออนไลน์มีส่วนช่วยเพิ่มความตระหนักในการอนุรักษ์ ภาพสัตว์ป่าที่ได้รับบาดเจ็บจากการถูกทำร้ายจากมนุษย์ หลายๆครั้งสร้างความสะเทือนใจให้กับคนที่เห็น หลายๆครั้งทำให้เกิดความร่วมมือ ร่วมใจทำให้ปัญหาต่างมันดีขึ้น

แต่อย่าลืมว่า คนที่เล่นโซเซียลเขาก็อยากเห็นภาพของเราตอนรักษาสัตว์ป่าเหมือนกัน แต่รู้ไหมว่า ภาพเหล่านั้นมันเป็นภาพหรือผลงาน ที่เกิดจากความทุกข์เวทนาของ “สัตว์” ซึ่งผมไม่อยากให้เห็นเพียงแค่มุมนั้นมุมเดียว แค่เพียงชีวิตการทำงานกับสัตว์ป่าที่มันยากลำบากและอันตราย

อยากให้ทุกคนได้เห็น หมอไปเล่นบาส ไปดูหนัง ไปกินข้าว ใช้ชีวิตตามปกติ นั้นอาจสะท้อนให้เห็นสัตว์ป่ามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น หมอก็ไม่ต้องไปขลุกอยู่ในป่าเพียงอย่างเดียว ผมทำงานในป่ากว่า 10 ปี ช่วงแรกๆ ของการทำงานผมใช้เข็มฉีดยารักษาสัตว์ป่า แต่เดียวนี้ผมเริ่มใช้ปากกา และไมโครโฟนรักษาสัตว์ ทำงานทั้งเชิงรับและเชิงรุก ที่ผ่านมาจึงอาจได้เห็นบทบาทของผม ในฐานะอาจารย์พิเศษ ให้ความรู้และสอนหนังสือบ้าง


หมอมีช่างภาพ หรือกล้องส่วนตัวไหม

ไม่คิดว่านายแบบจะหล่อบ้างหรือไง (พูดพร้อมหัวเราะ) ความจริงแล้วผมไม่มีหรอกตากล้อง คนที่ถ่ายรูปให้เป็นใครก็ได้ที่อยู่รอบๆตัว เราอาศัยกล้องดี มือถือเดียวนี้ก็ถ่ายรูปสวย เพราะฉะนั้นเจ้าหน้าที่หรือใครก็ตาม ที่เดินผ่านเป็นตากล้องผมทุกคน ฉายาผมคือ "หล่อรัว" ถ่ายรัวๆ ไว้เดียวรูปก็ออกมาดีเอง ถ่ายเป็นสิบเป็นร้อยรูปดีรูปหนึ่ง หลายคนมองว่าคนถ่ายรูปคือภรรยาผมด้วยซ้ำ ซึ่งตอนนี้ยังโสด ครับ และก็ยังถวิลหาคู่ครองอยู่

เวลาผมถ่ายรูปกับสัตว์ป่าอยู่ด้านหลัง ถือเป็นความทดสอบความจริงใจของสัตว์ป่าต่อหน้าและลับหลัง ผมไม่เคยเจอพวกเขาเหล่านี้หักหลังผม "สำหรับสัตว์ป่า เขาไม่เคยหักหลังผม” ส่วนเวลาทำงาน เรื่องของการแอ็คชั่น เวลาถ่ายรูป ผมว่าคนถ่ายเก่งมากกว่า

ผมเป็นข้าราชการในตำแหน่งสัตวแพทย์ เรตติ้งไม่มีผลต่อการที่ให้สัตว์ป่า มันหายบาดเจ็บหรือป่วย เพราะฉะนั้นผมไม่ได้อยู่เพื่อรักษาภาพ สร้างภาพลักษณ์ หรือรักษาความรู้สึกของใครคนใดคนหนึ่ง มันไม่ใช่

ในการเก็บภาพ บันทึกภาพ มันคือจดหมายเหตุ มันคือสิ่งที่ยืนยัน สิ่งที่เราทำ ยิ่งเวลานี้เทคโนโลยีอยู่ในมือเรา สามารถเก็บรายละเอียด เหตุการณ์ได้ทุกอย่าง เพราะฉะนั้นอยากจะใช้โอกาสตรงนี้ในยุคดิจิทัล ในการเก็บบันทึกเรื่องราว เพราะมันเล่าอะไรได้หลายๆ อย่างมาก

หลายคนบอก หมอสื่อสารกับ “ช้าง” ได้

สภาพแวดล้อมมีผลต่อการกำหนดพฤติกรรมของตัวสัตว์ ดีเอ็นเอและพันธุ์กรรมก็เช่นกัน เวลาที่เราเจอสัตว์ป่าเหล่านี้ จะต้องสังเกตพฤติกรรม ควบคุมสภาพแวดล้อมไม่ให้เขาเกิดการตื่นตระหนก หรือตกใจ หรือเกิดความหวาดระแวง อย่างเมื่อช้างหูกาง หางชี้ แสดงว่าเริ่มที่จะโกรธหรือหงุดหงิด ถ้าหูสะบัด หางแกว่ง แสดงว่าช้างแฮปปี้ แต่ถ้าเกิดหูสะบัดแล้วหางชี้ แสดงว่าช้างสงสัย เพราะฉะนั้นพอเราสังเกตสิ่งเหล่านี้ได้มันก็ทำให้ง่าย

"เวลาที่เราจะเข้าหาตัวสัตว์ เพื่อเข้าไปดูแลและรักษาอาการบาดเจ็บหรือป่วย ลูกน้องผมถามผมว่าต้องดูช้างยังไง ว่าช้างจะมีพฤติกรรมยังไงจะต้องหลีกหนียังไง ผมก็พูดสั้นๆเพียงว่าไม่ต้องไปสนใจช้าง ให้สนใจหมอถ้าหมอวิ่งพวกเราก็วิ่ง และที่สำคัญอย่าวิ่งนำหน้าหมอ เพราะว่าเดียวหมอวิ่งไม่ทัน" (หัวเราะ)

เวลาวิ่งก็ต้องวิ่งเป็นทางตรง เพราะเราเคยเข้าใจว่าการวิ่งหนีสัตว์หรือหนีช้างให้วิ่งซิกแซกมันก็จะทำให้ช้างที่มีดวงตาอยู่ด้านข้าง 2 ข้าง สามารถเห็นเราได้ตลอด แต่การวิ่งซิกแซกในป่ามันไม่ใช่เรื่องสนุก หลายครั้งสะดุดขาตัวเองล้มก็มี เกี่ยวกิ่งไม้ล้มก็มี เพราะฉะนั้นเวลาวิ่งหนีช้างให้วิ่งทางตรง ไม่จำเป็นต้องฝึกวิ่ง คิดอย่างเดียวว่าเวลาเจอช้างหรือช้างไล่ "วิ่งยังไงให้รอด แล้วก็จะรอด”

 

ภาพประกอบ : เฟซบุ๊ก ภัทรพล ล็อต มณีอ่อน

ภาพประกอบ : เฟซบุ๊ก ภัทรพล ล็อต มณีอ่อน

ภาพประกอบ : เฟซบุ๊ก ภัทรพล ล็อต มณีอ่อน

หมอเป็นแรงบันดาลใจให้คนอื่น เป็นไอดอล

อาจจะเห็นเรื่องการทำงานจริงในพื้นที่ หลายคนอาจจะมีประสบการณ์หรือทักษะในการทำงาน แต่ด้อยเรื่องการสื่อสาร เพราะฉะนั้นในการสื่อสารให้คนเข้าใจโดยง่าย การสื่อสารที่แปลงข้อมูลจากงานวิชาการมาเป็นถ้อยคำ ที่คนประชาชนทั่วไปเขาเก็ต อันนี้น่าจะเป็นจุดที่ทำให้คนมาสนใจ ร่วมถึงภาพ เพราะผมเป็นคนสร้างภาพ ผมนี่ตัวสร้างภาพ เพราะว่าสิ่งที่เกิดขึ้น จากการทำงานของเรา ถ้าเราไปบอกถ้าเราไปเล่า บางทีนึกภาพไม่ออก ก็ไม่เชื่อ ใช่เหรอ ไม่ใช่มั้ง จริงหรือเปล่า แต่พอเวลาผมนำเสนอ หรือผมเล่าอะไร บอกใคร สังเกตดูจะต้องมีภาพขึ้น จะต้องมีภาพอ้างอิงเสมอ เชื่อไม่เชื่อก็ดูภาพ

นอกนั้นอาจจะเป็นเรื่องของบุคลิก ผมก็เป็นคนตรงไป ตรงมา ดีก็ดี ไม่ดีก็ไม่ดี อันไหนรู้ก็บอกว่ารู้ อันไหนไม่รู้ก็บอกไม่รู้คับ อยากคิดว่าตัวเองเป็นผู้รู้ อยู่เสมอมันไม่ใช่เรื่องน่าอาย ถ้าเราบอกใครสักคนว่าเราไม่รู้หรือไม่ทราบ


นิยามการใช้ชีวิตของหมอเป็นยังไง

พอใจ ผมพอใจของผมอย่างนี้ เพียงแต่ว่าในความพอใจนั้น มันจะต้องไม่ก่อให้เกิดผลกระทบ ต่อคนอื่นๆ มันต้องไม่ก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคม เพราะฉะนั้น ณ เวลานี้ที่เราอยู่เพราะความพอใจ ของเราเอง แล้วบังเอิญสังคมมันได้ประโยชน์

แบ่งเวลาการทำงาน ในป่าและเมืองยังไง

50-50 จากเดิมอยู่ในป่า 100 เปอร์เซ็นต์ อย่างที่ผมบอกว่าผมคือผู้สื่อความหมายธรรมชาติ เราก็ต้องมาอยู่ในสังคมเมือง ตอบสังคมหรือวอนนิ่งกับสังคม ว่า ธรรมชาติมันเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรยังไง ธรรมชาติกำลังตักเตือนอะไรกับเรา เพราะฉะนั้นต้องออกมาอยู่ในสังคมเมือง ไม่ใช่ว่าชีวิตเราจะอยู่ในป่าเพียงอย่างเดียว ว่างจากการรักษาสัตว์ป่า ผมก็ออกไปบรรยาย ให้ความรู้เรื่องสัตว์ป่าและธรรมชาติ สร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กรุ่นใหม่ ผมเองก็ต้องสร้างลูกศิษย์ สร้างบุคลากรในวิชาชีพ มาป้อนกับหน่วยงานของเราด้วย

แบ่งชีวิตครึ่งๆ ให้กับป่าและเมือง แต่ไม่ได้ทำให้ประสิทธิภาพของงานในป่าลดลง เพราะถึงแม้ว่าผมไม่อยู่ในป่า ผมก็ยังมีการสร้างทีมงาน สร้างลูกน้อง สร้างทักษะอบรม ประสบการณ์ ให้กับเขาเหล่านั้น

เวลามีเหตุหรือมีปัญหาเกิดขึ้นในป่า คนเหล่านี้แหละคือ หมอที่ดีที่สุด เพราะเวลามีปัญหาสัตว์ป่าเกิดขึ้น เขาไม่ต้องการหมอที่เก่งที่สุด แต่เขาต้องการหมอที่เร็วที่สุด และเจ้าหน้าที่เหล่านั่นแหละคือ หมอที่เร็วที่สุด

เหตุการณ์ประทับใจที่สุด

เหตุการณ์ที่มีการจัดกิจกรรมวิ่งเพื่อผู้พิทักษ์ป่า ที่สวนหลวง ร.9 มีคุณลุงคนหนึ่งเกิดหมดสติ ก่อนวิ่งถึงเส้นชัย ตอนนั้นผมได้ยินเสียง จากปกติไม่ค่อยได้ยินเนื่องจากหูดับไปข้างหนึ่งจากการพักผ่อนน้อย แต่มีประโยคหนึ่งวันนั้น ผมได้ยินชัดเจนที่สุดคือ เสียงตะโกนว่า “ใครเป็นหมออยู่แถวนี้บ้าง” ทันทีที่ผมได้ยินผมวิ่งเข้าไปเลย ตามเสียงลำโพงไป ภาพที่เห็นคือคุณลุงคนหนึ่งล้มฟุบอยู่หน้าเส้นชัย นาทีนั้นเห็นทุกคนกำลังช่วย นักวิ่งหลายๆ พยายามช่วยกัน ในขณะที่ชีพจรของคุณลุงก็เริ่มอ่อนลงไปทุกที ผมจึงอาสาเข้าไปช่วยปั๊มหัวใจได้สักพักหนึ่งชีพจรคุณลุงก็กลับมา และโชคดีที่รถกู้ภัย เดินทางมาถึงพอดี ทำให้คุณลุงคนนี้รอด

“ไม่รู้ผมหรือคุณลุงโชคดี เพราะว่าปั๊มหัวใจแล้วชีพจรกลับคืนมา สเต็ปต่อไปจะต้องเป่าปาก ถือว่าคุณลุงโชคดีที่ไม่ต้องโดนผมเป่าปาก”

ภาพประกอบ : เฟซบุ๊ก ภัทรพล ล็อต มณีอ่อน

ภาพประกอบ : เฟซบุ๊ก ภัทรพล ล็อต มณีอ่อน

ภาพประกอบ : เฟซบุ๊ก ภัทรพล ล็อต มณีอ่อน

ทุกวันนี้คุณลุงท่านนี้ก็ยังเป็นนักวิ่งอยู่เหมือนเดิม ยังออกกำลังกายอยู่เพียงแต่ว่า อาจจะต้องประเมินสุขภาพเป็นระยะ ทำให้เห็นถึงหัวใจที่เข้มแข็งมุ่งมั่น และอดทน ถือว่าอาจจะเป็นคุณลุงคนหนึ่งที่ผมอาจจะได้เจอและช่วยเหลือ ในช่วงเวลาสั้นๆ แต่ระยะยาวต่อจากนี้ไป "เขาคือแรงบันดาลใจของผม"

กิจกรรมยามว่าง ของหมอ

เล่นบาสยังคงแข่งบาสอยู่ ตามรายการต่างๆ ที่จัดขึ้นตอนนี้เล่นกีฬาไม่เน้นชัยชนะแต่เน้นเอาพี่เอาน้อง เรื่องของการใช้ชีวิตส่วนตัวการไปกินข้าวดูหนัง และยังร่วมกิจกรรมขององค์กร สาธารณกุศลต่างๆ เวลามีกิจกรรม CSR กิจกรรมปั่นจักรยาน เพื่อสังคม ในเชิงสร้างสรรค์ ผมก็จะมีหลายกลุ่ม มีพรรคพวกที่ค่อนข้างหลากหลาย

เราพยายามที่จะไปหาจุดยืน ในกลุ่มคนในสังคมที่มันหลากหลาย เพราะเมื่อไรที่เราจะไปยืนตรงนั้นเราได้มีโอกาสที่จะเผยแพร่ ถ่ายทอด เรื่องราวที่เกิดขึ้นในป่าจากประสบการณ์ทำงานของเรา มันก็จะมีมากขึ้น

ภาพประกอบ : เฟซบุ๊ก ภัทรพล ล็อต มณีอ่อน

ภาพประกอบ : เฟซบุ๊ก ภัทรพล ล็อต มณีอ่อน

ภาพประกอบ : เฟซบุ๊ก ภัทรพล ล็อต มณีอ่อน

สุขภาพตอนนี้เป็นยังไง

ผมพักผ่อนน้อย หูดับไปข้างหนึ่ง จากการติดเชื้อไวรัส ทำให้ผมมีปัญหาเรื่องของ การทรงตัว สายตาที่พร่ามัว และเรื่องของการได้ยิน นี้จะเห็นได้ชัดเจนเลย แต่ด้วยความผิดปกติทางด้านร่างกาย การวินิจฉัย หรือการยอมรับว่าตัวเองเจ็บป่วย เพื่อนำมาสู่การรักษา มันเกิดขึ้นไว ตอนนี้ผมเองกลับมาขับรถได้ กลับมาเล่นบาสได้ การตัดสินใจอาจจะช้าไปสักนิดหนึ่ง แต่ก็ถือว่าค่อนข้างที่จะปรับตัวได้ดี เพราะฉะนั้นเวลาคนด่าจะไม่ได้ยิน แต่พอคนชมนี้อ่อผมเองครับ

อาชีพหมอสัตว์ป่า...ตอนนี้

หลังจากที่ผมเข้ามาก็มีน้องๆ มีลูกศิษย์ เข้ามาทำงานในกรมอุทยานฯ ประมาณ 50 กว่าตำแหน่ง ทั้งที่เป็นข้าราชการ พนักงานราชการ และ TOR เพราะฉะนั้นมันตอบไม่ได้ว่าพอหรือไม่พอ เพราะตอนผมทำงานคนเดียวผมก็ทำงานได้ มันไม่มีคำว่าพอหรือไม่พอ มันขึ้นอยู่กับว่าจำนวนที่มีอยู่ จะขยายศักยภาพ หรือขอบเขตในการทำงานมากน้อยขนาดไหน ความท้าทายมันอยู่ตรงนี้มากกว่า

 


สิ่งที่ต้องการจะส่งเสริม เพิ่มโอกาสทางการศึกษา ให้กับคนรุ่นใหม่

เวลาลงไปทำงานในพื้นที่เราก็ไปเล่าถ่ายทอดเรื่องสัตว์ป่า ให้กับเด็ก ๆ รู้สึกรักและห่วงแหนในธรรมชาติประเด็นที่สะกิตใจ เวลาไปบรรยายหรือไปเล่าเรื่องราวเหล่านี้ เด็กๆตามชนบทก็มาบอกกับเรา บอกว่าฟังพี่หมอแล้วหนูอยากเป็นสัตวแพทย์ อยากเรียนเก่ง อยากเรียนสูงๆ จะได้มาช่วยพี่หมอ รักษาสัตว์ ประโยคนี้เองที่ทำให้เราประทับใจ แต่สีหน้าแม่เขาแย่มากเขาจะให้เงินที่ไหนมาให้ลูกเรียน จะสานต่อความฝันลูกแบบนั้นได้ยังไง สิทธิขั้นพื้นฐานในการเข้าถึงการศึกษา แต่ละคนมีไม่เท่ากัน เพราะฉะนั้นเราก็ต้องมองต่อ ว่าจะต่อยอดหรือเปิดโอกาส ให้เด็กเหล่านี้ที่มีความฝัน อยากที่จะเป็นหมอ จะทำยังไงให้เขาไปถึงเป้าหมายของเขาได้

เราพยายามทำงานให้เห็นไลฟ์สไตล์ ชีวิตปกติ ให้น้องๆได้เห็น เพราะว่าคนส่วนใหญ่จะมองว่าหมอล็อตทำงานในป่า เห็นช่องไหน สื่อไหนก็อยู่แต่ในป่า ก็ต้องให้เห็นว่าเราอยู่ในเมืองบ้าง ใช้ชีวิตส่วนตัวบ้าง มีความสุขกับการใช้ชีวิตในเมืองบ้าง เพื่อเขาจะได้รู้ว่าการเป็นเหมือนหมอล็อตไม่จำเป็นจะต้องอยู่ในป่าเสมอไป อยู่ในเมืองก็ได้ทำงานในเมืองก็ได้ ไม่ต้องทุ่มเท เผชิญภัยอันตรายในป่าเพียงอย่างเดียว เพราะฉะนั้นก็จะไม่มีใครอยากเป็นหมอแบบเรา

สิ่งที่อยากทำ แต่ยังไม่ได้ทำ

นายสัตวแพทย์ภัทรพล บอกว่า ตอนนี้ผมคิดว่าผมทำครบแล้วนะ แต่มีอีกเป้าหมายหนึ่งที่ผมคิดวางแผนจะทำ คือ การจัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังและจัดการสุขภาพสัตว์ป่าแห่งชาติขึ้นมา ให้เป็นหน่วยงานที่ดูแลสุขภาพของสัตว์ป่าในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ โดยเราจะเริ่มต้นในพื้นที่ "เขาใหญ่"  เพราะเชื่อว่ามันจะได้เป็นการยืนยันเชิงจิตวิทยาอย่างหนึ่งกับทาง สหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (IUCN) ด้วย พื้นที่มรดกโลกของเรา ดูแลสัตว์ป่ายัง ไง อ่อ เรามีหมอ คาดว่าปีหน้าทุกคนอาจจะได้เห็น

 

ยไมพร คงเรือง ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง