เปิด 5 อันดับแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมขยะล้น

สิ่งแวดล้อม
30 ธ.ค. 60
13:05
4,180
Logo Thai PBS
เปิด 5 อันดับแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมขยะล้น
“กรมอุทยาน” พบปี 2560 อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ แชมป์ขยะจากการท่องเที่ยวเทศกาลปีใหม่ สูงสุดกว่า 45 ตัน รองลงมาดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ 17 ตัน ชี้แหล่งสะสมเชื้อโรค สำรวจมูลสัตว์ เจอกินถุงพลาสติก แนะนำขยะลงมาข้างล่าง

วันนี้ (30ธ.ค.2560) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากข้อมูลของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช พบว่าในช่วงเทศกาลปีใหม่ปี 2560 อุทยานแห่งชาติที่มีปริมาณขยะสะสมมากที่สุด คือ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จ.นครราชสีมา มีขยะตกค้าง 45,406 กิโลกรัม รองลงมาได้แก่ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์จ.เชียงใหม่ 17,556 กิโลกรัม อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร จ.ศรีสะเกษ 14,905 กิโลกรัม อุทยานแห่งชาติผาแต้ม 11,864 กิโลกรัม จ.อุบลราชธานี และอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ 10,369 กิโลกรัม

 

 

ทั้งนี้ นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน สัตวแพทย์ประจำกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า เริ่มพบสัตว์ป่าหลายชนิดบนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เช่น กวางป่า ช้าง ลิง แอบคุ้ยหาอาหารที่นักท่องเที่ยวขนขึ้นไป และเมื่อเร็วนี้เจอมูลช้างมีถุงพลาสติกปะปนอยู่ แม้ว่าจะยังไม่ทำให้เกิดปัญหาตอนนี้ แต่ถ้ายังมีขยะตกหล่นในจุดที่นักท่องเที่ยวนำมาและทิ้งไว้จนสัตว์กินเข้าไปก็อาจเกิดอันตรายได้

นายสัตวแพทย์ภัทรพล กล่าวว่า สิ่งที่จะขอความร่วมมือในการขึ้นไปท่องเที่ยว คือลดการนำขยะถุงพลาสติก กล่องโฟมขึ้นไป และต้องช่วยกันนำขยะกลับลงมาเพื่อลดภาระในการนำมากำจัดและเสี่ยงต่อสัตว์ป่าให้มากที่สุด ช่วงนี้เขาใหญ่ ร่วมกับกลุ่มอาสาสมัครในพื้นที่ จัดทำโครงการขยะคืนถิ่นขึ้น โดยให้นักท่องเที่ยวนำขยะใส่ถุงคัดแยกลงมาแลกของขวัญ ทั้งบริเวณด่านเนินหอม จ.ปราจีนบุรี และด่านปากช่อง จ.นครราชสีมา โดยพบแนวโน้ม 2-3 ปีมานี้ ปริมาณขยะที่นำมาแลกคืนมีจำนวนมากขึ้นเฉลี่ย 2-3 ตัน โดยขยะที่รับแลกคืนจะนำไปกำจัดอย่างถูกวิธีต่อไป

 

 

กรมอนามัย”ชี้ขยะแหล่งแพร่เชื้อโรค

นพ.ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ปัญหาขยะล้นแหล่งท่องเที่ยว กำลังเป็นวิกฤตสำคัญของแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมแทบทุกแห่ง โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลท่องเที่ยว เนื่องจากปริมาณนักท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้เกิดขยะตกค้างสะสมจำนวนมาก เกินขีดความสามารถของหน่วยงานในพื้นที่ในการนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี

นพ.ดนัย กล่าวว่า ขยะที่นักท่องเที่ยวทิ้งไว้ในอุทยาน ส่วนใหญ่เป็นถุงพลาสติกและภาชนะบรรจุอาหารต่างๆ ซึ่งจะกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์จำพวกหนู แมลงสาบ แมลงวัน ทำให้เกิดโรคติดต่อในคน เช่น โรคบิด ไทฟอยด์ อหิวาตกโรค เมื่อขยะเหล่านี้ตกค้างสะสมเป็นเวลานาน มลพิษจะกระจายไปในดิน น้ำ และอากาศ ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพ ทำลายทรัพยากรธรรมชาติให้เสื่อมโทรมลง

เราจึงต้องช่วยกันดูแลสภาพแวดล้อม และรณรงค์ให้ทุกคนช่วยกันลดปริมาณขยะ โดยคัดแยกขยะก่อนทิ้งและทิ้งขยะลงในถังหรือภาชนะที่จัดไว้ เลือกใช้ภาชนะที่ทำจากวัสดุธรรมชาติแทนกล่องโฟมและถุงพลาสติก และเมื่อนำสิ่งที่จะก่อให้เกิดขยะเข้าในแหล่งท่องเที่ยว เช่น ถุงพลาสติก กล่องโฟม ขวด กระป๋อง ควรเก็บคืนออกมาให้มากที่สุด

 



ข่าวที่เกี่ยวข้อง