ปิดฉาก ร่างแผนปฏิรูปสื่อฯ 6 ด้าน 3 มิติ รัฐประกาศเดิมพันหนุนสื่ออิสระ-กำกับกันเอง

สังคม
7 ม.ค. 61
20:14
634
Logo Thai PBS
ปิดฉาก ร่างแผนปฏิรูปสื่อฯ 6 ด้าน 3 มิติ รัฐประกาศเดิมพันหนุนสื่ออิสระ-กำกับกันเอง

ไทยพีบีเอส สัมภาษณ์พิเศษ "นายจิรชัย มูลทองโร่ย" อดีตปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการปฏิรูปด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ เกี่ยวกับแผนปฏิรูปสื่อสารมวลชน ที่คณะกรรมการปฏิรูปฯ ดำเนินการมาในช่วงระยะเวลา 4 เดือนที่ผ่านมา และอีก 4 เดือนนับจากนี้ ที่จะมีความชัดเจนในทิศทางการปฏิรูปสื่อสารมวลชนมากขึ้น

ไทม์ไลน์ของคณะกรรมการปฏิรูป

ประกอบด้วย 3 ระยะ ระยะแรกการจัดทำร่างแผนปฏิรูปในแต่ละฝ่ายที่รับผิดชอบ ซึ่งทั้ง 13 คณะต้องทำร่างแผนปฏิรูปให้เสร็จเมื่อวันที่ 24 ธ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งทั้ง 13 คณะเรียบร้อยหมดแล้ว ระยะที่ 2 ประมาณเดือน มี.ค. - เม.ย.2561 เป็นช่วงเวลาที่ 13 คณะต้องเอาแผนงานมาบูรณาการว่าเกี่ยวพันอย่างไร และต้องดูของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ทั้ง 6 คณะ ซึ่งต้องสอดคล้องกัน หลังจากนั้นเป็นเรื่องการขับเคลื่อนและติดตามหน่วยงานที่รับผิดชอบแต่ละแผนแต่ละกิจกรรมว่ามีแผนงานอย่างไร และจะดำเนินการอะไรช่วงเวลาไหนภายในระยะเวลา 4 ปี ที่กำหนดไว้

แผนงานการปฏิรูปด้านสื่อสารมวลชนเป็นอย่างไร

เป้าหมายการปฏิรูปสื่อสารมวลชนฯ ทางกรรมการมุ่งมั่นให้สื่อเป็นโรงเรียนของประชาชน มีวัตถุประสงค์ 3 ประเด็น 1. คือการให้ความรู้กับประชาชน ให้ความรู้ที่ถูกต้อง เหมาะสม เป็นจริงในมิติต่างๆ 2.สื่อต้องส่งเสริมการถ่ายทอดศิลปวัฒนธรรม เอกลักษณ์ของชาติ และ 3. นำบุคคลที่มีพฤติกรรมดีมาเป็นตัวอย่างให้กับคนในสังคม ซึ่งเป็นเป้าหมายของคณะกรรมการปฏิรูป โดยมีประเด็นที่คณะกรรมปฏิรูปสื่อสารมวลชนฯ กำหนดประเด็นปฏิรูปมี 6 ประเด็น ได้แก่

1. "ปฏิรูปการรู้เท่าทันสื่อและกำกับดูแลสื่อโดยภาคประชาชน" ซึ่งขณะนี้คณะกรรมปฏิรูปสื่อสารมวลชนฯ ได้รับข้อมูลว่า มีหลายหน่วยงาน หลายกองทุนดำเนินการเรื่องการรู้เท่าทันสื่อ เช่น กระทรวงวัฒนธรรม นำเรื่องการรู้เท่าทันสื่อมาใช้ในโรงเรียน ด้วยการอบรมเด็ก, กองทุนสื่อสร้างสรรค์ก็ทำเช่นกัน เท่าที่ฟังคือต่างคนต่างทำ เงินต่างคนต่างใช้ ซึ่งควรบูรณาการว่า เป้าหมายของเด็กวัยไหน ใครจะรับผิดชอบในแต่ละมิติ หรือประชาชนก็เช่นเดียวกัน

2. "ปฏิรูปมาตรฐานวิชาชีพ และระบบการกำกับดูแลสื่อมวลชน" ที่ผ่านมาสื่อมวลชน หรือองค์กรวิชาชีพแสดงตัวว่าอยากกำกับดูแลกันเอง ซึ่งเกี่ยวข้องกับจริยธรรมสื่อมวลชน และมีประเด็นสืบเนื่องมาจากร่างกฎหมาย พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปท.) รวม 97 มาตรา ซึ่งคณะกรรมการประกอบด้วย 2 ส่วน มีตัวแทนจากสื่อและภาครัฐ โดยได้หารือกันว่าจะมีการกำหนดหลักการใหม่กัน เพื่อให้ขับเคลื่อนการคุ้มครองสื่อ การกำหนดจริยธรรม ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการ เพราะเราทราบว่า หลายหน่วยงานกำหนดจริยธรรมกันเอง เช่น กสทช.ได้กำหนดจริยธรรมเอง 2 ด้าน คือ ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ และสถานีวิทยุกระจายเสียง เพราะ กสทช.มีภารกิจ 2 เรื่อง แต่สื่ออื่นๆ เช่น หนังสือพิมพ์ วารสาร หรือ นักวิชาชีพสื่อ ยังไม่ได้กำหนดจริยธรรมชัดเจน จึงกำหนดให้มีคู่มือจริยธรรมกลาง แต่จะปลีกย่อย เป็นวิทยุ, โทรทัศน์ หรือหนังสือพิมพ์ ให้อยู่ภายใต้ร่มใบใหญ่ ซึ่งอยู่ระหว่างการหารือ

3. "การปฏิรูปโครงสร้างอุตสาหกรรมวิทยุ โทรทัศน์ , ทีวีดิจิทัล , NBT และ ThaiPBS" ประเด็นนี้สืบเนื่องมาจากข้อเสนอของ สปท. ที่ต้องการให้เกิดการปฏิรูปสถานีโทรทัศน์ NBT เพราะสถานีโทรทัศน์ NBT เป็นส่วนราชการของรัฐ หรือได้รับเงินอุดหนุนของรัฐ มีเครื่องมือมากมายต้องเป็นตัวอย่างในการปฏิรูปก่อน เช่น ผังรายการ 100% ที่กรมประชาสัมพันธ์เคยรับผิดชอบทั้งหมด อาจแบ่งผังรายการออกเป็นร้อยละ 60:40 ซึ่งร้อยละ 60 กรมประชาสัมพันธ์รับผิดชอบ และอีกร้อยละ 40 ให้ส่วนราชการ หรือ ภาคประชาชนเข้ามาดำเนินการ


ทางคณะกรรมการปฏิรูปก็อยากเห็นว่า ส่วนราชการต้องเป็นผู้ปฏิรูปก่อน รวมถึงการสร้างโครงข่ายต่างๆ รัฐควรลงทุนเอง ไม่ควรให้ต่างคนต่างทำ เพราะจะได้ไม่เกิดปัญหาเหมือนในปัจจุบัน เช่น กรณี โทรทัศน์ฟรีทีวีดิจิทัลที่ประสบปัญหา และขอร้องให้รัฐช่วยเหลือลดค่าธรรมเนียม หรือคืนใบอนุญาต และที่ผ่านมานายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายและเรียกคณะกรรมการปฏิรูปหารือด้วย ซึ่งเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการปฏิรูปที่จะดำเนินการขับเคลื่อนไปคู่ขนานเช่นกัน และดูว่าจะมีแนวทางเร่งรัดการดำเนินการได้อย่างไร เพื่อแก้ปัญหาตามที่เอกชนเรียกร้องจากที่ประสบปัญหา กับภาครัฐ คือ กสทช. จะต้องดูว่าจะลงเอยกันได้อย่างไร

 

คณะกรรมการปฏิรูปอยากเห็นว่า ส่วนราชการต้องเป็นผู้ปฏิรูปก่อน รวมถึงการสร้างโครงข่ายต่างๆ รัฐควรลงทุนเอง ไม่ควรให้ต่างคนต่างทำ เพราะจะได้ไม่เกิดปัญหาเหมือนในปัจจุบัน เช่น กรณี โทรทัศน์ฟรีทีวีดิจิทัลที่ประสบปัญหา และขอร้องให้รัฐช่วยเหลือลดค่าธรรมเนียม หรือคืนใบอนุญาต

 

4. "การปฏิรูปแนวทางการกำกับดูแลสื่อออนไลน์" ประเด็นนี้ผลศึกษาจาก สปท.พบว่า กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้ความเห็นว่าบุคลากรในการเฝ้าระวังการกระทำความผิดมีน้อย จึงแก้ปัญหาไม่ได้ทั้งหมด แต่ส่วนตัวเห็นว่าควรมีเครือข่ายในการเฝ้าระวัง ไม่ใช่ให้คนใดคนหนึ่งดูได้เฉพาะ


ตั้งแต่เริ่มต้นการผลิต ประชาชนก็ถือว่าเป็นคนผลิตสื่อลักษณะใดที่เกิดความสร้างสรรค์ในสื่อออนไลน์ ซึ่งฝ่ายเกี่ยวข้อง เช่น สตช. กสทช. และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมอยู่ระหว่างพิจารณาว่ามีกฎหมายอะไรที่เกี่ยวข้อง และจะบูรณาการในเรื่องใดได้บ้าง

5. "การปฏิรูปบริหารจัดการความปลอดภัยไซเบอร์ กิจการอวกาศ และระบบและเครื่องมือด้านการสื่อสารมวลชนและโทรคมนาคมเพื่อสนับสนุนภารกิจการป้องกันบรรเทาสาธารณภัยฯ" ประเด็นนี้เกี่ยวกับการขับเคลื่อนการแก้ไขกฎหมาย ที่อยู่ระหว่างดำเนินการในชั้นสภานิติบัญญัติ และการแก้กฎหมายประมาณ 3-4 ฉบับ

6. "การปฏิรูประบบการบริหารจัดการข้อมูลข่าวสารภาครัฐ" การปฏิรูปที่เป็นนโยบายรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญ ทางภาครัฐต้องนำร่องก่อน การบริหารจัดการจข้อมูลข่าวสารทำอย่างไรภาครัฐจะต้องตื่นตัวให้ข้อมูลกับประชาชนอย่างเหมาะสม การให้ข้อมูลให้แบบไหน ซึ่งเรามองเห็นว่า หน่วยงานที่รับงบประมาณจากกรมประชาสัมพันธ์มีเครือข่าย และมีหลายมิติ ควรเอาเรื่องเหล่านี้มาขับเคลื่อน ไม่ใช่การประชุมคณะกรรมการเกี่ยวข้องปีละ 2 ครั้ง, การจัดอบรมต่างๆ และขับเคลื่อนให้มากขึ้น ปัจจุบันให้อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์เป็นผู้ขับเคลื่อน แต่ส่วนตัวเห็นว่า ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี จะต้องเป็นผู้ขับเคลื่อน

ประเด็นปฏิรูปทั้ง 6 ประเด็น ได้คำนึงถึง 3 มิติ ได้แก่ มิติแรกภาครัฐ จะสนับสนุนเรื่องอะไรบ้าง สนับสนุนสื่อให้สื่อคล่องตัวเป็นอิสระในมิติไหนใดบ้าง จะคุ้มครองประชาชนได้อย่างไร มิติที่ 2 คือภาคสื่อ สื่อจะต้องปฏิบัติตามกรอบกติกาที่กำหนดในกฎหมายอย่างไร สร้างการมีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังอย่างไร และมิติสุดท้ายคือประชาชน ที่จะต้องรองรับในมิติต่างๆ ทั้งหมด จะเรียกร้องให้รัฐคุ้มครองประชาชนอย่างไร จะมีส่วนดูแลสื่ออย่างไร จะออกมาในรูปการรับเรื่องราวร้องทุกข์ รัฐก็ต้องดูแลด้วย เพราะสื่อประเภทไหนที่ให้ข้อมูลไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสม ทำลายสังคม ประชาชนต้องตรวจสอบและร้องเรียนภาครัฐ ทางองค์กรสื่อเองก็ต้องมีหน่วยรับเรื่องร้องเรียนกันเองด้วยเช่นกันเพื่อตรวจสอบกันเอง รัฐกับสื่อต้องทำงานเพื่อประชาชน

แนวทางของคณะกรรมการปฏิรูปที่ดำเนินการทั้ง 6 ด้านนี้ ได้ดำเนินการมาเมื่อวันที่ 4 ก.ย.ที่ผ่านมา โดยประชุมกันสัปดาห์ละ 2 ครั้ง และรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมาให้ข้อคิดเห็น ทั้งภาครัฐ สื่อมวลชน และประชาชน และเปิดเวทีสาธารณะรับฟังความคิดเห็นภาพรวมทั้งหมดเมื่อวันที่ 18 ธ.ค.ที่ผ่านมา


แม้หลายหน่วยงานไม่ได้กำหนดให้ถูกปฏิรูป แต่เวลานี้ผมคิดว่าหลายหน่วยต้องทบทวนตัวเองว่า อะไรที่ทำไปแล้วจะทำให้ดีกว่าเดิมอย่างไร ไม่ใช่เป็นน้ำล้นแก้วแล้ว หรือคิดว่าตัวเองดีที่สุด แต่ขอให้ทุกฝ่ายทบทวนตัวเองในฐานะเป็นหน่วยงาน หรือเป็นองค์กรในสังคมนี้

 
การปฏิรูป ThaiPBS มีแนวทางอย่างไรหรือไม่ เพราะมีกระแสว่าจะถูกปฏิรูปด้วย

ทาง ThaiPBS ได้มาบอกเล่าให้ฟังเหมือนกันว่า ThaiPBS มีแนวคิดและแนวทางดำเนินการอย่างไร ซึ่งคณะกรรมการฯ เห็นประโยชน์ในหลายๆ มิติที่ ThaiPBS ได้ดำเนินการ ซึ่งไม่ได้ตำหนิอะไร แต่คิดว่าสิ่งที่ ThaiPBS จะต้องปรับปรุงทบทวนเพื่อดำเนินการให้ได้ใน 3 มิติที่คณะกรรมการปฏิรูปวางเป็นแนวทาง คือ 1.การให้ความรู้ในมิติต่างๆ เรื่องนี้ผมเชื่อใจว่า ThaiPBS มีอยู่แล้ว 2. มิติศิลปวัฒนธรรม ThaiPBS มีมากน้อยแค่ไหน และมิติสุดท้าย บุคคลที่ยกย่อง หรือมีทัศนคติที่ดี จะมีการขยายประเด็นอย่างไร ซึ่ง ThaiPBS ต้องไปคิด และทางผมกำลังจะขอใช้แนวคิดของ ThaiPBS มาใช้ปฏิรูป NBT

คณะกรรมการปฏิรูปฯ มองว่าอะไรเป็นจุดเด่นของ ThaiPBS

มองว่า ThaiPBS มีจุดเด่นเรื่องความใกล้ชิดกับภาคประชาชนที่ค่อนข้างมาก ในมิติที่ให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม รวมถึงการตรวจสอบ ร้องเรียนร้องทุกข์ และมิติต่างๆ ผมถือว่าทุกภาคส่วนต้องทำเพื่อประโยชน์สังคม ประเทศชาติและประชาชน ที่จริงแล้วเครือข่ายกรมประชาสัมพันธ์ มีมากกว่า ThaiPBS ในทุกจังหวัด และมีทั้งสื่อวิทยุ สื่อโทรทัศน์ บุคลากรทั่วประเทศ จึงคิดว่านำแนว ThaiPBS มาปฏิบัติคู่ขนานกับ NBT

มีกระแสว่า จะยุบรวม ThaiPBS ร่วมกับ NBT ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร

(หัวเราะ) ผมว่าเป็นการไปคุยกันเองมากกว่า ไม่ได้เป็นเรื่องจริง ผมได้ตอบโต้ไปเช่นกัน เพราะมีบางคนบางกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับ ThaiPBS ไปพูดเองว่า ThaiPBS จะถูกยุบ ซึ่งการปฏิรูปทำให้ดีขึ้น การทบทวน อะไรที่ดีก็ทำต่อไป อะไรไม่ดีก็ปรับปรุงทบทวนไป ปฏิรูปกับยุบไม่เหมือนกัน ซึ่งเราไม่ได้คิดยุบ ThaiPBS ไม่เคยคิด และ ThaiPBS ไม่ได้อยู่ในประเด็นที่ สปท.มีข้อเสนอ แต่แม้ไม่ได้อยู่ในประเด็นที่ สปท.มีข้อเสนอ แต่ก็ต้องพัฒนาปรับปรุงด้วยการยึดมิติของสังคมเป็นหลัก

สิ่งที่สื่อทั่วไปควรนำเสนอจากนี้

อยากให้คำนึงถึงดุลยภาพ รายการต่างๆ ที่เลียนแบบกันเพื่อแข่งขันด้านเรทติ้งและมีผลต่อเม็ดเงินโฆษณา แต่ก็ต้องให้คำนึงถึงเนื้อหาในกรอบดุลยภาพ เสรีภาพ และยึดสังคมเป็นสำคัญ หรือเรื่องวัฒนธรรมเรามีรายการเด่นๆ อะไรที่โดดเด่น ตลาดความรู้เรื่องเหล่านี้ยังขาด

มองสื่อขณะนี้อย่างไร คุยกันเข้าใจดีหรือไม่

(หัวเราะ) ผมมั่นใจว่า กรรมการชุดนี้ มีความคิดจะมุ่งประโยชน์ต่อประชาชนเป็นสำคัญ ประโยชน์ตนเองคงไม่ต้องคำนึง ที่ผ่านมาสื่อเองยังเข้าใจตัวเองกันดีอยู่ และเข้าใจภาครัฐ สื่อพยายามเรียกร้องความเป็นอิสระ เรียกร้องเสรีภาพ แต่การเรียกร้องของสื่อต้องไม่เป็นเสรีภาพที่ไปลิดรอนเสรีภาพของสื่อเอง เรื่องนี้สำคัญ เพราะในรัฐธรรมนูญก็กำหนดชัดเจน สื่อเองไม่อยากให้ภาครัฐกำกับ อยากให้ภาครัฐส่งเสริมสนับสนุนมากกว่า

มองปัญหาของปรากฏการณ์สื่ออย่างไร

สื่อปัจจุบันมีหลายแขนง วิทยุ ทีวี ออนไลน์ และมีหลายประเภท หลายพวก หลายก๊ก สื่อเองมีการรวมตัวเป็นองค์กร ชมรม สมาคมค่อนข้างเยอะ ทั้งส่วนกลางและภูมิภาค และต่างคนต่างๆ ดังนั้นการที่บอกว่าจะกำกับกันเอง เป็นเรื่องที่ดีมาก แต่ขอให้ทำให้ได้ (ย้ำ ขอให้ทำกันให้ได้) เพราะบางคนก็แสวงหาผลประโยชน์ แต่บางคนก็ไม่ได้แสวงหาผลประโยชน์

 

อยากให้คำนึงถึงดุลยภาพ รายการต่างๆ ที่เลียนแบบกันเพื่อแข่งขันด้านเรทติ้งและมีผลต่อเม็ดเงินโฆษณา แต่ก็ต้องให้คำนึงถึงเนื้อหาในกรอบดุลยภาพ เสรีภาพ และยึดสังคมเป็นสำคัญ หรือเรื่องวัฒนธรรมเรามีรายการเด่นๆ อะไรที่โดดเด่น ตลาดความรู้เรื่องเหล่านี้ยังขาด


เรื่องเหล่านี้ผมคิดว่าสื่อทราบกันดีอยู่ มันมีหลายมิติสื่อที่เป็นนายทุนใหญ่ก็มี เห็นประโยชน์ของสังคมเต็มร้อยก็มี การกำกับดูแลกันเองก็ควรมีกรอบกติกา 2 รูปแบบ คือ หนึ่งทำเป็นร่างกฎหมาย กำหนดกฎหมายขึ้นมี มีภาครัฐ สื่อมวลชน และประชาชนมามีส่วนร่วม และอีกรูปแบบ คือ จริยธรรม แม้ไม่มีบทลงโทษ แต่ก็ควรประกาศให้สังคมได้รับรู้ ประณาม เพราะมันไม่มีบทลงโทษ และเป็นวัฒนธรรมที่ไม่จำเป็นต้องให้ภาครัฐลงแซ่ ลงโทษทัณฑ์ และสอดรับกับสิ่งที่สื่อคิดว่าต้องการกำกับดูแลตัวเอง

เท่าที่ดูแนวคิด คณะกรรมการปฏิรูปสื่อสารมวลชนชุดนี้ เปิดโอกาสให้สื่อมวลชน ซึ่งสวนทางกับข้อเสนอของ สปท. ที่ต้องการตีกรอบสื่อ หรือ ควบคุมสื่อ ยังเป็นเช่นนั้นหรือไม่

ถือว่าคณะกรรมการปฏิรูปสื่อชุดนี้เป็นชุดสุดท้าย โดยเอาข้อมูลจาก สปช. สปท.มา ซึ่งคณะที่ สปท.ร่างมาจำนวน 97 มาตรา คณะกรรมการปฏิรูปสื่อเห็นว่ามันควรปรับปรุงในวิธีการ องค์ประกอบ จึงกำหนดหลักการใหม่ แต่จะใหม่อย่างไรขอให้ติดตาม ทุกอย่างจะลงเอยด้วยการแสดงความเห็นของสังคม แม้ชุดของ สปท.รับฟังมา แต่สื่อมวลชนบอกว่าไม่เห็นด้วย ไม่ต้องการให้รัฐมายุ่งมากนัก


ผมมองว่าถ้าแต่ละองค์กรสื่อกำกับได้ชัดเจน รัฐไม่ต้องไปยุ่ง รัฐไปยุ่งทุกเรื่องคงไม่ใช่ จะต้องไปจดทะเบียน งานอื่นไม่มีทำเหรอ ฉะนั้นการปล่อยให้องค์กรสื่อควบคุมกันเอง กำกับกันเองนั่นคือการกระจายอำนาจ เรามองแบบนี้ ทุกอย่างมันต้องทดลอง แต่ถ้าสุดท้ายแล้ว สื่อทำให้สังคมมีปัญหา รัฐถึงจะเข้ามา


จะถึงขั้นไหน รัฐถึงจะเข้ามาเกี่ยวข้องกับสื่อฯ

ต้องดูบริบทสังคมต่างประเทศสังคมโลกด้วยว่า เขานำเสนอข่าวต่อสังคมลักษณะไหน ไม่ใช่ว่าคนไทยเราชอบแบบนี้ อยากรู้เรื่องชาวบ้าน ดาราจะแต่งงานจะเลิกกัน เสนอข่าวเป็น 2-3 อาทิตย์ ไม่มีข่าวอื่นจะเล่นหรืออย่างไร เอาพอสมควรในเนื้อหาและเอาสิ่งที่เป็นประโยชน์ในความรู้ วัฒนธรรม และทัศนคติที่ดีมานำเสนอกันดีกว่า

การนำเสนอข่าวการเมือง หรือข่าวตรวจสอบ มักนำไปสู่การโดนตรวจสอบจากรัฐ หรือ ใช้อำนาจปิดกั้น

ผมมองว่าไม่ใช่เรื่องการเมือง ผมมองว่าสื่อสนใจข่าวการเมืองเป็นประโยชน์กับประเทศชาติมาก เพราะประชาชนจะได้รู้ว่ารัฐมนตรีคนหนึ่งได้ทำงานอะไรบ้าง นโยบายเป็นอย่างไร ถ้าสื่อไม่สนใจประชาชนก็ไม่รู้เรื่อง แต่มิติเหล่านี้จะมีเปอร์เซนต์อยู่ว่าควรจะเล่นการเมืองกี่เปอร์เซนต์ หรือ ข่าวดารากี่เปอร์เซนต์ที่เหมาะสม แล้วเสนอตามความเหมาะสม ไม่ใช่เสนอๆ เป็นเดือน แล้วจะเล่นเรื่องนี้ให้ตายหรืออย่างไร เพราะเมื่อถึงสุดท้ายแล้วประชาชนจะสงสารคนเป็นเหยื่อ

กรณีข่าวแหวน พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี หรือ ลูกหมา ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี การนำเสนอของสื่อที่บอกว่าต้องพอสมควรคืออย่างไร

เรื่องนี้มันเป็นกรอบของราชการที่กำหนดเงินห้ามรับ และให้ทรัพย์หรือประโยชน์อื่นใดมูลค่าเกิน 3,000 บาท ซึ่งผู้ชี้ประเด็นดังกล่าวก็เป็นการสร้างความรู้ให้กับประชาชน แต่ขั้นตอนต่อจากนี้ควรเป็นหน้าที่ของหน่วยงานตรวจสอบ เรื่องการรับของหรือให้โดยเสน่หา ของกำนัล ก็เป็นหน้าที่ของ ป.ป.ช. การตรวจสอบนาฬิกาก็ดี สุนัขก็ดีมันมีเงื่อนไขกติกาที่กฎหมายกำหนดไว้ การเสนอข่าวคือได้ความรู้ และทำให้ทุกคนต้องคำนึงว่าเป็นองค์ความรู้ เท่านี้น่าจะพอแล้ว และรอติดตามผลก็พอแล้ว

การประชุมของคณะกรรมการปฏิรูป จะมีแนวทางอย่างไรหลังจากเสนอร่างฯ ไปแล้ว

ต้องรอดูกิจกรรมแต่ละแผนที่เคยคิดเอาไว้แต่ละแผน และต้องรอการประชุมร่วมกันกับแผนปฏิรูปของด้านอื่นๆ ด้วย ซึ่งแผนต่างใน 3 เดือนจากนี้ ต้องขับเคลื่อนว่ากิจกรรม หรือ เจ้าภาพ ใครจะรับผิดชอบ รวมถึงหน้าที่ของคณะกรรมการปฏิรูปหลังเดือน เม.ย.2560 ก็คือการตอบคำถามว่า คณะกรรมการปฏิรูปทำไปแล้วได้อะไร

ผู้สื่อข่าว : ภัทราพร ตั๊นงาม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง