นักปั่นตาบอดพิชิตเส้นทาง "กรุงเทพฯ-เชียงดาว" 9 วัน 867 กม. หาเงินสร้างศูนย์ฝึกอาชีพ

สังคม
8 ม.ค. 61
14:48
1,349
Logo Thai PBS
นักปั่นตาบอดพิชิตเส้นทาง "กรุงเทพฯ-เชียงดาว" 9 วัน 867 กม. หาเงินสร้างศูนย์ฝึกอาชีพ
“นักปั่นตาบอด” พิชิตเส้นทาง 9 วัน 867 กม. กรุงเทพฯ-เชียงดาว หาทุนสร้าง “ศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน” เพื่อสร้างงานสร้างอาชีพให้กับผู้พิการอย่างยั่งยืน

วันนี้ (8 ม.ค.2560) มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ” โดย ศาสตราจารย์ วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ร่วมกับ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมจัดโครงการปั่นไปไม่ทิ้งกัน สานต่องานที่พ่อทำ No One Left Behind” ครั้งแรกของประเทศไทยที่คนตาบอด จะปั่นจักรยานพิชิตเส้นทาง 9 วัน 9 จังหวัด ระยะทาง 867 กม. จากกรุงเทพฯ ถึง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ เพื่อหาทุนสนับสนุนการจัดสร้าง “ศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน” ชวนคนไทยส่งแรงใจ สนับสนุน และร่วมสานต่องานที่ “พ่อทำ” ด้วยการเปลี่ยนภาระให้เป็นพลังในการพัฒนาและสร้างสรรค์สังคม ผ่านการสร้างงานสร้างอาชีพให้กับผู้พิการทั่วประเทศ

ศาสตราจารย์ วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ประธานมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ เปิดเผยว่าปัจจุบันมีผู้พิการในประเทศไทยที่จดทะเบียนแล้วคิดเป็นร้อยละ 2.72 ของประชากรทั้งประเทศหรือราว 1,802,375 คน โดยในจำนวนนี้มีผู้พิการเกือบ 600,000 คนเป็นผู้ที่ไม่มีงานทำและขาดผู้ดูแล รวมถึงขาดโอกาสในการเข้าถึงสิทธิ์และสวัสดิการต่างๆ ตามที่กฎหมายกำหนดโดยเฉพาะอย่างยิ่งโอกาสในการประกอบอาชีพ

 

 

ด้วยเหตุนี้มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ จึงได้มุ่งเน้นไปที่การสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างให้ผู้พิการมีรายได้ สร้างให้เกิดการรวมกลุ่ม เพื่อช่วยเหลือให้คนพิการก้าวพ้นความยากจน ให้สามารถประกอบอาชีพอิสระ มีรายได้ที่เพียงพอและยั่งยืน จึงเป็นที่มาของการจัดตั้ง ศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน ซึ่งเปิดให้บริการที่ จ.เชียงใหม่

“ปัจจุบันศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน ซึ่งเปิดให้บริการที่ อ.แม่ริม มีพื้นที่คับแคบ และไม่เพียงพอต่อการฝึกอบรมอาชีพต่างๆ ให้กับผู้พิการ มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการจึงมีเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ในการร่วมกันสานต่องานที่พ่อ ทำด้วยการเปลี่ยนภาระให้เป็นพลัง ในการพัฒนาและสร้างสรรค์สังคม ผ่านการสร้างงานสร้างอาชีพให้กับผู้พิการทั่วประเทศ ภายใต้การดำเนินงานของ ศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ซึ่งจะมีพื้นที่มากถึง 33 ไร่ สามารถรองรับผู้พิการและผู้ดูแลคนพิการได้เป็นจำนวนมาก รวมถึงเป็นต้นแบบของศูนย์ฝึกอาชีพสำหรับคนพิการในระดับภูมิภาคอาเซียนเพื่อพัฒนาผู้พิการให้เป็นประชากรที่สามารถพึ่งพาตนเองได้และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น" ศ. วิริยะ ระบุ

ด้านนายสมคิด สมศรี อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ตัวแทน พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า รัฐบาลมีเป้าหมายสำคัญที่เรียกว่านโยบายประชารัฐ ซึ่งส่งเสริมให้คนไทยเข้มแข็ง พึ่งพาตนเองได้ ไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยเฉพาะในเรื่องของคนพิการ ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายที่ชัดเจนในการช่วยเหลือคนพิการให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ ไม่เป็นภาระของครอบครัวและสังคม โดยการให้งบประมาณสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ผ่านกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เพื่อนำมาพัฒนาขีดความสามารถ สร้างสภาพแวดล้อมที่คนพิการเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ บูรณาการการสร้างการมีส่วนร่วมของเครือข่ายทุกภาคส่วน

“ในการจัดกิจกรรมในวันนี้ทางกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการได้ร่วมสนับสนุนทางมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการในการจัดทำ โครงการปั่นไปไม่ทิ้งกัน สานต่องานที่พ่อทำ No One Left Behind เป็นจำนวนเงินกว่า 4 ล้านบาท เพื่อจัดกิจกรรมหารายได้ในการสร้างศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียนที่ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่" อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กล่าว

นอกจากจะเป็นการแสดงให้สังคมเห็นถึงศักยภาพในด้านต่างๆ ของผู้พิการโดยเฉพาะในเรื่องของการออกกำลังกายแล้ว ยังจะช่วยให้คนไทยเป็นความสำคัญในเรื่องของการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ รวมไปถึงตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างโอกาสให้กับผู้พิการในสังคมไทยให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ จึงขอเชิญชวนคนไทยทุกภาคส่วน ร่วมส่งแรงใจและร่วมกันบริจาคเงินให้ได้ตามเป้าหมายซึ่งคาดว่าจะใช้งบประมาณทั้งสิ้น 67 ล้านบาท เพื่อให้การจัดตั้งศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียนสามารถดำเนินงานได้สำเร็จ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการสร้างงานสร้างอาชีพให้กับผู้พิการอย่างยั่งยืน และร่วมกันสานต่องานที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 ทรงทำไว้ เพื่อให้คนพิการสามารถช่วยเหลือตนเองได้และสามารถเป็นประโยชน์ต่อสังคม”


นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า คนพิการ มีปัจจัยแวดล้อมที่ส่งผลต่อการออกมาใช้ชีวิตอิสระ เช่น คนปกติ ทั้งข้อจำกัดในการเข้าถึง ไม่ว่าจะเป็นด้านการเดินทาง การสื่อสาร การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและบริการสาธารณะ การจะให้คนพิการมีมิติสุขภาวะที่ดีขึ้น ทั้งมิติกาย สุขภาพ สังคม และจิต ถือเป็นโจทย์ที่ท้าทาย ทาง สสส. ให้ความสำคัญกับการสนับสนุนให้คนพิการมีคุณภาพชีวิตที่ดี สำหรับการสนับสนุนโครงการปั่นไปไม่ทิ้งกัน เป็นการสนับสนุนเพื่อให้เกิดการรณรงค์สื่อสารสังคม ให้มีเจตคติเชิงสร้างสรรค์ต่อคนพิการและความพิการ สร้างความรู้ความเข้าใจให้กับคนพิการ ให้รับรู้ รับทราบ เกี่ยวกับสิทธิของคนพิการตามกฎหมาย

นอกจากนี้ สสส.มุ่งหวังว่ากิจกรรมนี้จะทำให้เกิดการสนับสนุนเพื่อให้เกิดการสร้างสรรค์กิจกรรมทางสังคมส่งเสริมสุขภาวะที่คนพิการและคนไม่พิการให้สามารถทำกิจกรรมร่วมกันได้ ซึ่งตรงกับกรอบการทำงานของสำนักที่มุ่งให้คนพิการมีคุณภาพชีวิตที่ดี ตั้งแต่การเตรียมความพร้อม เรื่องการดำรงชีวิตอิสระเพื่อให้สามารถสื่อสาร เดินทาง และจัดการตนเองได้ ถือเป็นการยกระดับความสามารถคนพิการ ทำให้คนพิการมีคุณภาพชีวิตที่ดีเพิ่มขึ้น และถือเป็นโอกาสที่ดีหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างจริงจัง ในการผลักดันให้เกิดกิจกรรมดีๆ เพื่อคนพิการ โดย สสส. พร้อมร่วมสนับสนุนและบูรณาการการงานด้านคนพิการในมิติอื่นๆ ที่ สสส.ดำเนินการอยู่เพื่อขับเคลื่อนให้บรรลุผล

 

โครงการปั่นไปไม่ทิ้งกัน No One Left Behind ถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ที่ผู้พิการตาบอดจำนวน 20 ชีวิต ร่วมกับนักปั่นจิตอาสาปั่นนำอีก 20 ชีวิต จะรวมพลังสามัคคีปั่นจักรยานจากกรุงเทพฯ ถึง จ.เชียงใหม่ ระยะทางรวมกว่า 867 กิโลเมตรใช้เวลา 9 วัน 9 จังหวัดในระหว่างวันที่ 28 ม.ค. ถึงวันที่ 5 ก.พ.2561 โดยเริ่มต้นจากกรุงเทพมหานคร ผ่าน จ.สุพรรณบุรี จ.ชัยนาท จ.นครสวรรค์ จ.พิษณุโลก จ.อุตรดิตถ์ จ.แพร่ จ.ลำปาง และ จ.เชียงใหม่ เพื่อหาทุนสนับสนุนการก่อสร้าง ศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน ที่ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ โดยในแต่ละจังหวัดที่ผ่านไปจะมีการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อรณรงค์ให้คนในสังคมเห็นศักยภาพของผู้พิการและให้โอกาสผู้พิการในการพัฒนาตนเองเพื่อเป็นพลังในการพัฒนาสังคมต่อไปในอนาคต

ทั้งนี้ สามารถร่วมบริจาคเงินเพื่อสนับสนุนการก่อสร้างศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน ณ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ผ่านช่องทางต่างๆ ดังต่อไปนี้

ช่องทางที่ 1 : บริจาค 100 บาท ผ่านโทรศัพท์มือถือทุกเครือข่าย กด*948*6666*100# แล้วโทรออก
ช่องทางที่ 2 : พิมพ์ Y100 แล้วส่ง SMS ไปที่หมายเลข 4899666 แล้วกดโทรออก เพื่อบริจาค 100 บาท สำหรับทุกเครือข่าย
ช่องทางที่ 3 : โอนเงินเข้าบัญชีกระแสรายวัน ธนาคารกรุงเทพ 162-3-07772-2, ธนาคารกรุงไทย 196-6-00208-4 ธนาคารไทยพาณิชย์ 264-3-001530 ธนาคารกสิกรไทย 758-1-01398-6 ธนาคารกรุงศรี 494-0-00140-9 ชื่อบัญชีมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ และร่วมสมทบทุนซื้อของที่ระลึก (เสื้อ) จากโครงการปั่นไปไม่ทิ้งกัน No One Left Behind ตามจุดกิจกรรมต่างๆ หรือ Facebook ของมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ
ช่องทางที่ 4 : บริจาค 100 TruePoint แทนเงิน 10 บาท ผ่านแอปทรูยู หรือ กด *878*2828# โทรออกฟรี
เฉพาะเครือข่ายทรูมูฟเอชเท่านั้น
ช่องทางที่ 5 : ร่วมบริจาคผ่านแอปพลิเคชั่นบนมือถือ "ทรูมันนี่ วอลเล็ท" ได้ตลอด24 ชม ดาวน์โหลดแอปฟรีทาง App Store และ Play Store คุณก็สามารถทำดีง่ายๆ ด้วยปลายนิ้ว ผ่านแอปทรูมันนี่ วอลเล็ท

และสามารถติดตามกิจกรรมและความเคลื่อนไหวของ โครงการปั่นไปไม่ทิ้งกัน No One Left Behind ได้ทาง Facebook : มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ (Facebook.com / Universalfoundation) หรือ www.wiriya.org และร่วมส่งแรงใจสนับสนุนนักปั่นผู้พิการทางสายตาด้วยการติดแฮชแท็คที่กำหนด #ปั่นไปไม่ทิ้งกัน #NoOneLeftBehind.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง