รังวัดที่ดิน "ชายหาด" โรงแรมภูเก็ตหากรรมสิทธิ

ภูมิภาค
10 ม.ค. 61
13:26
867
Logo Thai PBS
รังวัดที่ดิน "ชายหาด" โรงแรมภูเก็ตหากรรมสิทธิ
ผู้ว่าฯ ภูเก็ต สั่งการให้ที่ดินจังหวัด เข้ารังวัดพื้นที่บริเวณชายหาด โรงแรมดุสิตธานีลากูน่าภูเก็ต หลังพนักงานโรงแรม ไม่ให้นักท่องเที่ยวเข้าไปใช้พื้นที่ของชายหาด พร้อมเตรียมเรียกผู้ประกอบการทุกแห่งที่มีที่ดินริมทะเล ทำความเข้าใจ เบื้องต้นมีหลักฐานโฉนด

จากกรณีที่สื่อสังคมออนไลน์ ตั้งคำถามข่าวโรงแรมดุสิตธานีลากูน่า ที่จ.ภูเก็ต ไล่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติไม่ให้นอนบนชายหาด โดยบอกว่าเป็นพื้นที่ของโรงแรม จนทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก

วานนี้(9 ม.ค.2561) นายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เปิดเผยถึงกรณีพนักงานโรง แรมดุสิตธานีลากูน่าภูเก็ต ไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยว เข้าไปในพื้นที่หาดเลพัง-บางเทา ต.เชิงทะเล อ.ถลาง เมื่อ 2 วันก่อน โดยอ้างว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นของโรงแรม

เบื้องต้นได้สั่งการให้สำนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ต เข้ารังวัดแนวเขตที่ดินอีกครั้งเพื่อความชัดเจน ระหว่างที่ดินส่วนบุคคล และหาดสาธารณะ ส่วนการแก้ปัญหาไม่ให้เกิดเหตุลักษณะนี้ จะเรียกผู้ประกอบการทุกแห่งซึ่งมีที่ดินริมชายทะเล มาทำความเข้าใจอีกครั้ง

นายอำนวย พิณสุวรรณ เจ้าพนักงานที่ดิน จ.ภูเก็ต กล่าวว่า ที่ดินโรงแรมดังกล่าว มีเอกสารสิทธิโฉนดที่ดิน เนื้อที่ 17 ไร่เศษ ออกโฉนดเฉพาะราย ตามมาตรา 59 เมื่อปี 2552 จากการรังวัดในอดีต ที่ดินโรงแรมไม่ลุกล้ำที่ดินสาธารณะ แต่เพื่อความชัดเจนสำนักงานที่ดินจะรังวัดแนวเขตใหม่อีกครั้ง


โฉนดที่ดินแปลงนี้ ออกมาจากหลักฐานนส.3 ก และสค.1 เมื่อช่วง 30 ปีก่อนและตรวจแล้วเขาออกมาโดยระเบียบขั้นตอนชอบด้วยกฎหมาย แต่มีความเชื่อมโยงกับหาดเลพัง ในส่วนของใต้ทะเลพัดพาส่วนของที่ดินขึ้นมาทับถมบริเวณที่หวงห้ามและมันเป็นไปได้พื้นที่บริเวณนี้จะมีลักษณะของพื้นที่ที่หายไป

ด้านโรงแรมดุสิตธานีลากูน่าภูเก็ต ส่งหนังสือชี้แจงสื่อมวลชน ระบุว่า ตามคลิบที่ปรากฏ เป็นการเข้าใจคลาดเคลื่อน วันเกิดเหตุพนักงานพูดคุยอย่างสุภาพ ให้นักเที่ยวที่ปูเสื่อพักผ่อนใต้ต้นสนออกจากพื้นที่ เพราะเกรงว่า กิ่งสนจะหล่นลงมา และอาจเกิดอันตราย เพราะพื้นที่ดังกล่าวเป็นของโรงแรม ที่ต้องรับผิดชอบความปลอดภัย

 


ขณะที่ นายณัฐ จับใจ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า ในฐานะที่กำกับดูแลชายหาด ระบุว่า กฎหมายไม่ได้ให้ความหมายของคำว่า ชายหาดของทะเลไว้ ซึ่งก่อนหน้านี้เคยให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความ และให้ความเห็นว่า ให้ดูตามสภาพความเป็นจริง ว่ายังมีลักษณะเป็นชายหาดหรือไม่ หากยังเป็นจะถือว่า อยู่ในความดูแลของกรมเจ้าท่า

ขณะนี้กรมเจ้าท่าได้ปักหมุดทะเลใหม่ในพื้นที่ที่มีปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง และรุกล้ำพื้นที่ทะเลไปกว่าร้อยละ 50 แล้ว

 

 

ขณะที่นายศักดิ์อนันต์ ปลาทอง นักวิชาการด้านทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่ง เสนอว่า การแบ่งพื้นที่ให้ชัดเจนระหว่างพื้นที่ส่วนบุคคล หรือพื้นที่สาธารณะประโยชน์นั้น ต้องมีการปักหลักหมุดทะเล หรือเส้นชายฝั่งทะเล และหลักหมุดที่ดินให้ชัดเจน 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง