"พนัน" ภัยออนไลน์อันดับ 1 ของเด็กไทย

สังคม
10 ม.ค. 61
16:19
3,968
Logo Thai PBS
"พนัน" ภัยออนไลน์อันดับ 1 ของเด็กไทย
พม.เปิดศูนย์โคแพท COPAT รับเรื่องภัยเด็กกับออนไลน์ พบเล่นพนัน-กาสิโนออนไลน์มากสุด ด้านผลศึกษาพบเด็กรู้ตัวเองว่าติดเกมส์ออนไลน์ และกว่าร้อยละ 90 เชื่อว่าเสี่ยงภัยออนไลน์ แต่จัดการปัญหาเองได้

วันนี้ (10 ม.ค.2561) ที่งานเสวนา "เด็กและเยาวชนไทย รู้คิด รู้เท่าทัน สร้างสรรค์เทคโนโลยี" นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ที่ผ่านมาจะเห็นภาพข่าวเด็กติดพนันออนไลน์ ซึ่งการจัดงานครั้งนี้ทำให้เห็นชัดว่า การตระหนักเกี่ยวกับภัยออนไลน์กับเด็กและเยาวชนจะเป็นไปในทิศทางใด และจะดำเนินการอย่างไร ซึ่งกลไกที่จะมีส่วนร่วมแท้จริงคือภาคประชาสังคม ที่ร่วมกันตระหนักและจัดการปัญหานี้ นอกเหนือจากภาครัฐ หรือเอกชน รวมทั้งกรณีดาราที่แต่งกาย หรือมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม จะทำให้เด็กเสพติดพฤติกรรมเหล่านี้ด้วย

 

 

นายวิทัศน์ เตชะบุญ อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน กรมพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เปิดเผยว่า กระทรวงได้เปิดตัวศูนย์ประสานงานขับเคลื่อนการส่งเสริมและปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ หรือศูนย์โคแพท COPAT–Child Online Protection Action Thailand เพื่อเป็นศูนย์ประสานงานปกป้องคุ้มครองเด็กออนไลน์ ซึ่งภัยร้ายสำหรับเด็กยุค 4.0 คือ การพนันออนไลน์ โดยการพนันประเภทฟุตบอลออนไลน์ และกาสิโนออนไลน์ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางในกลุ่มเด็กและเยาวชนไทย

 

 

ดร.ศรีดา ตันทะอธิพานิช กรรมการผู้จัดการมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย และอนุกรรมการส่งเสริมและปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ เปิดเผยว่า ศูนย์ COPAT ได้สำรวจสถานการณ์เด็กไทยกับภัยออนไลน์ ระหว่างเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2560 กลุ่มตัวอย่างเป็นเด็กอายุ 9-18 ปี จำนวน 10,846 คน จากทั่วประเทศ ส่วนใหญ่เป็นเด็กมัธยม พบว่า ร้อยละ 98.47 เชื่อว่าอินเทอร์เน็ตให้ประโยชน์ ขณะเดียวกัน ร้อยละ 95.32 ก็ตระหนักว่ามีภัยอันตรายและความเสี่ยงหลากหลายรูปแบบบนอินเทอร์เน็ต เช่น การถูกล่อลวง ติดตามคุกคาม ล่วงละเมิดทางเพศ กลั่นแกล้ง ถูกหลอกซื้อสินค้า เอาข้อมูลส่วนตัวไปใช้ในทางมิชอบ ติดเกม และเข้าถึงเนื้อหาผิดกฎหมายหรือเป็นอันตราย, ร้อยละ 69.92 เชื่อว่าเพื่อนๆ มีพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดภัยอันตรายอย่างใดอย่างหนึ่งดังกล่าวแล้ว, ร้อยะ 61.39 คิดว่าการกลั่นแกล้งรังแก หรือการละเมิดทางเพศจะไม่เกิดขึ้นกับตัวเอง, ร้อยละ 74.91 เชื่อว่าจะสามารถจัดการปัญหาได้ เมื่อต้องเผชิญปัญหาภัยหรือความเสี่ยงออนไลน์, ร้อยละ 77.90 สามารถช่วยเหลือเพื่อนที่ประสบปัญหาภัยออนไลน์ได้ จึงเป็นประเด็นที่ผู้ใหญ่ต้องทบทวนว่าเด็ก มีเครื่องมือที่เพียงพอจะรับมือภัย หรือความเสี่ยงออนไลน์ได้ดีอย่างที่พวกเขาเชื่อหรือไม่ ซึ่งศูนย์ COPAT จะทำหน้าที่ให้ความรู้ ให้เครื่องมือ สร้างภูมิคุ้มกันทั้งในตัวเด็กและบุคคลแวดล้อมให้สามารถดูแลเด็กได้ ทั้งในรูปแบบของการจัดแคมเปญสร้างความตระหนัก จัดทำเอกสารเผยแพร่ อบรมสัมมนาสร้างแกนนำเพื่อนช่วยเพื่อน พัฒนาทักษะพ่อแม่ดูแลบุตรหลานยุคดิจิทัล และสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน

นอกจากนี้ พบว่าเด็กส่วนใหญ่ ร้อยละ 80.48 เคยเล่นเกมออนไลน์ ซึ่งเด็กผู้ชายเสี่ยงติดเกมมากกว่าเด็กผู้หญิง โดยเล่นเกมทุกวัน หรือเกือบทุกวัน ร้อยละ 50.73 ขณะที่เด็กผู้หญิง ร้อยละ 32.34 จะเล่นเกมสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง ส่วนเด็ก ร้อยละ 46.11 เคยถูกกลั่นแกล้งรังแกทางออนไลน์ โดยเพศทางเลือกจะถูกกลั่นแกล้งมากที่สุด ร้อยละ 59.44, เด็กร้อยละ 33.44 ยอมรับว่าเคยกลั่นแกล้งคนอื่น, ร้อยละ 68.07 เคยพบเห็นสื่อที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศ โดยร้อยละ 21.33 ตอบว่าเคยเห็นสื่อลามกอนาจารเด็ก ได้แก่ ภาพหรือวิดีโอเด็กในท่าทางยั่วยุอารมณ์เพศ การร่วมเพศระหว่างเด็กกับเด็ก หรือเด็กกับผู้ใหญ่ นอกจากนี้ เด็กร้อยละ 15.97 เคยนัดพบกับเพื่อนออนไลน์ ซึ่งส่วนใหญ่สื่อสังคมออนไลน์ เช่น บริการรับส่งข้อความอย่าง Facebook หรือ Line เป็นช่องทางที่เด็กใช้ในการติดต่อพูดคุย นัดพบ หรือเข้าถึงสื่อไม่เหมาะสมต่าง

"เด็กไม่ถึงครึ่งบอกเรื่องที่เกิดขึ้นทางออนไลน์กับคนอื่น และคนแรกที่เขานึกถึงและบอกคือเพื่อน หรือคนที่อายุรุ่นราวคราวเดียวกัน มากกว่าพ่อแม่หรือผู้ใหญ่ ข้อมูลเหล่านี้ทำให้เรามองเห็นภาพสถานการณ์และปัญหาชัดเจนยิ่งขึ้น ทำให้รัฐบาลสามารถวางนโยบายจัดการรับมือกับปัญหาเด็กกับสื่อออนไลน์ได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งในประเทศของเราไม่เคยมีการสำรวจข้อมูลในลักษณะนี้มาก่อน ถือเป็นของขวัญวันเด็กเริ่มในปีนี้และจะมีการสำรวจอย่างต่อเนื่องทุกปีต่อไป"

 


นายธาม เชื้อสถาปนศิริ นักวิชาการอิสระและอนุกรรมการส่งเสริมและปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ เปิดเผยรายงานสรุปสถานการณ์สื่อออนไลน์กับเด็กและเยาวชนไทย 2560 จากการศึกษาข้อมูลทุติยภูมิของการสำรวจวิจัยและงานเอกสารต่างๆ ในประเทศทั้งของหน่วยงานรัฐและเอกชน ถึงสถานการณ์ล่าสุดที่เกี่ยวข้องกับการปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในประเทศไทย พบว่า มี “10 สถานการณ์วิกฤตภัยออนไลน์ต่อเด็กและเยาวชน” ที่หน่วยงานรัฐและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องควรสร้างมาตรการระวัง ป้องกันภัย และรับมือได้แล้ว คือ

1.ปัญหาการเล่นเกม เด็กติดเกม และอีสปอร์ต ที่กำลังกลายเป็นตัวแปรสำคัญในการแก้ไขปัญหาเด็กติดเกม และเป็นทั้งโอกาสที่จะเปลี่ยนเด็กให้เป็นคนเล่นเกมล่าเงินรางวัล หรืออาจเสี่ยงนำไปสู่ปัญหาการสร้างความหวัง ความฝันที่จะเล่นเกมมืออาชีพ แต่อาจจะติดเกมมากขึ้นหากรัฐและพ่อแม่ไม่เข้ามาใส่ใจดูแล

2.ปัญหาการครอบครองสื่อโดยที่อายุยังไม่ถึงเกณฑ์ เนื่องจากค้นพบว่าประเทศไทยไม่มีการกำกับช่วงวัยและอายุที่เหมาะสม ทั้งในเชิงกฎหมายและนโยบายรัฐ สถานศึกษา แต่ในเชิงการแพทย์ไทยเริ่มมีคำแนะนำเรื่องหน้าจอที่วัยเหมาะสมคือ อายุต่ำกว่า 2 ขวบห้ามเข้าถึงหน้าจออิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิดแล้ว

3.การใช้สื่อออนไลน์กับการพนันออนไลน์ พบว่า ปัจจุบันช่องทางเว็บไซต์และสื่อออนไลน์ต่างๆ มีจำนวนมากที่เป็นสื่อเพื่อการพนันที่ปรากฏทั้งในลักษณะของเว็บพนันบอลโดยตรง หรือการพนันผ่านรูปแบบคาสิโนออนไลน์ หรือแอบแฝงมาในลักษณะของเกมออนไลน์ และยังไม่มีกฎหมายกำกับควบคุมโดยตรง อีกทั้งเว็บไซต์เหล่านี้ยังโฆษณาผ่านสื่อเพื่อเผยแพร่ ล่อลวงให้เด็กเข้าไปเล่นลองมากขึ้น

4.การกลั่นแกล้งรังแกออนไลน์และการตกเป็นเหยื่อคุกคามทางเพศออนไลน์ โดยเฉพาะการรังแกผ่านการถ่ายคลิปเพื่อประจานและเผยแพร่ แชร์ ปรากฏผ่านการรายงานข่าวของสื่อมวลชนสม่ำเสมอ โดยส่งต่อในระดับโรงเรียนประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ที่น่ากังวลคือยังไม่มีผลการสำรวจทั่วประเทศ ปัญหานี้กลายเป็นเรื่องที่ยังไม่มีใครสำรวจ วิจัยและป้องกันอย่างจริงจัง แตกต่างกับของต่างประเทศที่เรื่องนี้นำไปสู่มาตรการทางกฎหมายและนโยบายของโรงเรียนและความตระหนักรู้ของครูและพ่อแม่ผู้ปกครอง

5.การถูกล่อลวงออกไปพบคนแปลกหน้าจากสื่อสังคมออนไลน์ ผลการสำรวจในประเทศยังพบน้อยในเชิงสถิติวิจัย แต่โดยในเชิงพฤติกรรมทางสังคม เคยมีงานวิจัยที่บ่งชี้ว่าปัญหานี้กลายเป็นพฤติกรรมต้นๆ ที่เด็กไม่ทราบว่าอันตรายและนำไปสู่การข่มขืน ถ่ายภาพบันทึกและการแบล็คเมล์กลับ ซึ่งเกิดขึ้นมาก แต่ไม่มีการเก็บสถิติบันทึกที่ชัดเจน เนื่องจากมักเป็นกรณีที่ผู้เสียหาย หรือครอบครัวไม่ต้องการให้เป็นข่าว

6.การใช้สื่อในทางเสริมสร้างอัตลักษณ์ออนไลน์ สร้างภาพและเลียนแบบพฤติกรรม ค่านิยมที่ผิด

7.การหลงผิดเปิดเผยข้อมูลและความเป็นส่วนตัวบนสื่อออนไลน์

8.การขาดการส่งเสริม สร้างทักษะการรู้เท่าทันสื่อออนไลน์ต่อตัวเด็กและเยาวชนและครอบครัว

9.การขาดกฎหมายปกป้องคุ้มครองเด็กจากสื่อออนไลน์

10.การขาดหน่วยงานกำกับดูแล ป้องกันและแก้ไขปัญหาที่บูรณาการและเท่าทันสถานการณ์โดยเฉพาะ

“รัฐและหน่วยงานเอกชน ประชาสังคมที่เกี่ยวข้อง ควรสร้างและหาโอกาสที่จะนำเอาข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ในการร่วมกันวางกรอบแผนงาน เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาการใช้สื่อออนไลน์ของเด็กและเยาวชนไทย โดยเฉพาะสถานการณ์วันนี้ ที่เด็กกับเทคโนโลยีมีความใกล้ชิดกันมากจนเกินกว่าจะแยกกันออก สิ่งสำคัญคือการเร่งสร้างภูมิคุ้มกันสื่อในตัวเด็กและพ่อแม่ รวมทั้งการสร้างระบบหรือกลไกการกำกับดูแลเทคโนโลยีสื่อดิจิทัล และออนไลน์ที่กำลังส่งผลต่อกระบวนการเรียนรู้และเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเด็ก และจะส่งผลอย่างมากต่อการสร้างเด็กไทย เพื่อเพิ่มโอกาสและศักยภาพด้านดิจิทัลและการแข่งขันในศตวรรษที่ 21”

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง