สารก่อมะเร็งที่มองไม่เห็น ฝุ่นละออง PM2.5 ในอากาศ

สิ่งแวดล้อม
16 ม.ค. 61
17:50
5,383
Logo Thai PBS
สารก่อมะเร็งที่มองไม่เห็น ฝุ่นละออง PM2.5 ในอากาศ
กรีนพีซ เปิดเผย อันตรายจากฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM2.5 เป็นสารกลุ่มที่ 1 ของสารก่อมะเร็งในปี 2556 ที่องค์การอนามัยโลกกำหนดขึ้น ส่งผลให้คนไทยเสียชีวิตก่อนวัยอันควรกว่า 50,000 คนต่อปี

วันนี้ (16 ม.ค.2561) นางสาวจริยา เสนพงศ์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เปิดเผยว่า ปัจจุบันอากาศที่ทุกคนหายใจเข้าไปนั้น เต็มไปด้วยฝุ่นที่มีสารพิษที่มองไม่เห็นซ่อนอยู่ หนึ่งในนั้น คือ PM2.5 หรือฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน เป็นฝุ่นอันตรายที่มีองค์ประกอบทางเคมี อย่างปรอท แคดเมียม อาร์เซนิก หรือ โพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน ซึ่งองค์การอนามัยโลก หรือ WHO ได้กำหนดให้ PM2.5 นี้เป็นสารกลุ่มที่ 1 ของสารก่อมะเร็งในปี 2556

 
น.ส.จริยา กล่าวต่อว่า ความอันตรายของ PM2.5 นี้ อยู่ที่ขนาดที่เล็กเพียงแค่ 1 ต่อ 25 ส่วนของความกว้างของเส้นผม เล็กจนสามารถเล็ดลอดผ่านขนจมูกเข้าสู่กระแสเลือดได้ ขณะที่ฝุ่นขนาดใหญ่กว่านี้จะติดอยู่ในปอดถูกขับออกมาเป็นเสมหะ เมื่อได้รับเข้าสู่ร่างกายนานหลายปี ฝุ่น PM2.5 ที่สะสมอยู่ในอวัยวะก็จะเพิ่มโอกาสการเกิดโรค อย่างโรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็งปอด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหัวใจขาดเลือด และโรคติดเชื้อเฉียบพลันในระบบหายใจส่วนล่าง ซึ่งก่อให้เกิดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรในประเทศไทย ประมาณ 50,000 คนต่อปี

 
ส่วนแหล่งกำเนิดของฝุ่นพิษชนิดนี้ เกิดจากการผลิตไฟฟ้า ร้อยละ 9 การเผาในที่โล่ง ถึงร้อยละ 54 เกิดจากอุตสาหกรรมการผลิต ร้อยละ 17 การประกอบกิจกรรมในที่อยู่อาศัยหรือธุรกิจการค้า ร้อยละ 7 และการคมนาคมขนส่ง ร้อยละ 13

 
สำหรับพื้นที่ที่มีค่าเฉลี่ยของ PM2.5 เกินค่ามาตรฐานของประเทศไทยที่ 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรในขั้นวิกฤติ ได้แก่ พื้นที่ จ.สระบุรี มีค่าเฉลี่ยต่อปี 36 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร กรุงเทพมหานคร 31 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จ.สมุทรสาคร 29 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จ.ราชบุรี ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และจ.เชียงใหม่ 29 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร 


ทั้งนี้ ฝุ่นละออง PM2.5 เริ่มมีการตรวจวัดตั้งแต่ปี 2554 โดยสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของกรมควบคุมมลพิษ ปัจจุบันมีทั้งหมด 61 แห่ง ใน 29 จังหวัดทั่วประเทศ ค่าฝุ่นละอองในปี 2558 เกินจากค่ามาตรฐานเฉลี่ยร้อยละ 42 โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ลำปาง ระยอง และสระบุรี ในปี 2559 ค่าเฉลี่ยลดลงเป็น ร้อยละ 38 ส่วนในปี 2560 มีค่าเฉลี่ยทั้งประเทศยังไม่สามารถวัดได้ เนื่องจากสถานีตรวจวัดแห่งใหม่ยังตั้งไม่ครบ 1 ปี

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง