เช็กด่วน 7 จังหวัด ค่าฝุ่นละอองสูง เสี่ยงอันตราย

สิ่งแวดล้อม
17 ม.ค. 61
15:10
10,547
Logo Thai PBS
เช็กด่วน 7 จังหวัด ค่าฝุ่นละอองสูง เสี่ยงอันตราย
กรีนพีซ ชี้ 7 จังหวัดในประเทศไทย มีค่าเฉลี่ย PM2.5 รายปีเกินกว่าค่ามาตรฐานและมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จนอาจส่งผลต่อสุขภาพของประชาชนในประเทศได้ พร้อมผลักดันกรมควบคุมมลพิษปรับค่ามาตราฐานให้ใกล้เคียงWHO เพื่อสุขภาพที่ดีของคนไทย

ค่าเฉลี่ยมาตรฐานของฝุ่นละออง PM2.5 ใน 1 ปี ของประเทศไทย คือ 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งปี 2560 สถานีวัดค่า PM2.5 และรายงานค่ามีทั้งหมด 14 จังหวัดทั่วประเทศ โดยมี 7 จังหวัด 9 พื้นที่ในประเทศไทยที่เกินค่ามาตรฐาน ได้แก่

1.สระบุรี มีค่าเฉลี่ย 1 ปีอยู่ที่ 36 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ค่าสูงสุดรายเดือน 125 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยมีจำนวนวันที่เกินค่ามาตรฐาน 56 วัน

2.กรุงเทพมหานคร เขตธนบุรี มี 31 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ค่าสูงสุดรายเดือนอยู่ที่ 130 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เกินค่ามาตรฐาน 44 วัน

3.สมุทรสาคร มี 29 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ค่าสูงสุดรายเดือนอยู่ที่ 195 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร วันที่เกินค่ามาตรฐาน 41 วัน

4.ราชบุรี มี 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ค่าสูงสุดรายเดือนอยู่ที่ 985 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร วันที่เกินค่ามาตรฐาน 31 วัน

5.เชียงใหม่ ต.ช้างเผือก มี 29 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ค่าสูงสุดรายเดือนอยู่ที่ 115 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร วันที่เกินค่ามาตรฐาน 57 วัน

6.ขอนแก่น มี 30 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ค่าสูงสุดรายเดือนอยู่ที่ 124 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จำนวนวันที่เกินมาตรฐาน 28 วัน

7.สมุทรปราการ มี 26 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ค่าสูงสุดรายเดือนอยู่ที่ 117 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จำนวนงันที่เกินค่ามาตรฐาน 32 วัน

8.กรุงเทพฯ บริเวณโรงเรียนบดินทรเดชา มี 26 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ค่าสูงสุดรายเดือนอยู่ที่ 106 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จำนวนวันที่เกินค่ามาตรฐาน 28 วัน

9.กรุงเทพฯ บริเวณกรมประชาสัมพันธ์ มี 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ค่าสูงสุดรายเดือน 109 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จำนวนวันที่เกินค่ามาตรฐาน 17 วัน

สำหรับค่าฝุ่นละออง PM2.5 ที่เกินมาตรฐานนี้เป็นผลมาจากโรงงานอุตสาหกรรม การเผาในที่โล่ง สภาพภูมิประเทศด้วย เนื่องจากในบางพื้นที่อากาศไม่ถ่ายเท ฝุ่น PM2.5 ก็จะสะสมอยู่มาก รวมถึงผลกระทบจากมลพิษทางอากาศข้ามดินแดน


ขณะที่อีก 7 จังหวัด และ 9 พื้นที่ที่มีสถานีตรวจวัดและมีการรายงานผล PM2.5 โดยยังมีค่าอยู่ในเกณฑ์ค่าเฉลี่ยมาตรฐานต่อปีของประเทศไทย ได้แก่

1.ปราจีนบุรี มีค่าเฉลี่ย 1 ปี อยู่ที่ 24 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ค่าสูงสุดรายเดือน 985 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จำนวนวันที่เกินค่ามาตรฐาน 24 วัน

2.ตาก มี 23 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ค่าสูงสุดรายเดือน 155 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จำนวนวันที่เกินค่ามาตรฐาน 31 วัน

3.น่าน มี 15 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ค่าสูงสุดรายเดือน 181 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จำนวนวันที่เกินค่ามาตรฐาน 6วัน

4.ชลบุรี มี 22 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ค่าสูงสุดรายเดือน 122 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จำนวนวันที่เกินค่ามาตรฐาน 11 วัน

5.เชียงใหม่ ต.ศรีภูมิ มี 23 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ค่าสูงสุดรายเดือน 98 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จำนวนวันที่เกินค่า มาตรฐาน 27 วัน

6.กรุงเทพฯ เขตบางนา มี 24 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ค่าสูงสุดรายเดือน 92 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จำนวนวันที่เกินค่ามาตรฐาน 24 วัน

7.ลำปาง มี 18 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ค่าสูงสุดรายเดือน 95 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จำนวนวันที่เกินค่ามาตรฐาน 21 วัน

8.ระยอง มี 18 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ค่าสูงสุดรายเดือน 112 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จำนวนวันที่เกินค่ามาตรฐาน 1 วัน

9.สงขลา มี 15 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ค่าสูงสุดรายเดือน 54 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จำนวนวันที่เกินค่ามาตรฐาน 1 วัน

ทั้งนี้นางสาวจริยา เสนพงศ์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าวว่า การวัดค่ามลพิษทางอากาศทั่วโลกใช้ค่าสาร 6 ตัว คือ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ คาร์บอนไดออกไซด์ คาร์บอนมอนอกไซด์ โอโซน PM10 และ PM2.5 แต่ประเทศไทยยังคงใช้เพียงแค่ 5 ตัว โดยที่ไม่ได้นับ PM2.5 มาคำนวณค่ามลพิษทางอากาศ และมีการตั้งค่าเฉลี่ยมาตรฐานรายปีต่างระดับกับองค์การอนามัยโลก เนื่องจาก องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ตั้งค่าเฉลี่ยมาตรฐานรายปีอยู่ที่ 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แต่ประเทศไทยตั้งค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร หากกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสามารถปรับลดค่าเฉลี่ยมาตรฐานลงมาให้ใกล้เคียงกับ WHO ได้ และหาแนวทางป้องกันการเกิดมลพิษจากด้านอุตสาหกรรมและคมนาคม เชื่อว่าคนไทยจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ไม่เสี่ยงต่อการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร หรือเป็นโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ รวมถึงโรคมะเร็งด้วย

 

อ่านข่าวเพิ่มเติม

สารก่อมะเร็งที่มองไม่เห็น ฝุ่นละออง PM2.5 ในอากาศ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง