"ลดภาษี-ลดจ่ายประกันสังคม" เยียวยาผู้ประกอบการหลังขึ้นค่าแรง

เศรษฐกิจ
18 ม.ค. 61
19:54
1,240
Logo Thai PBS
"ลดภาษี-ลดจ่ายประกันสังคม" เยียวยาผู้ประกอบการหลังขึ้นค่าแรง
การประชุมเคาะค่าแรงขั้นต่ำเมื่อวานนี้ (17 ม.ค.) ใช้เวลานานถึง 7 ชั่วโมง กว่าจะได้ค่าแรงขั้นต่ำที่มีการปรับขึ้น 5-22 บาทต่อวัน แบบทุกจังหวัด ขณะเดียวกันกระทรวงแรงงานเสนอมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการ ด้วยการลดหย่อนภาษีและลดจ่ายเงินสมทบประกันสังคม

การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศปี 2561 เป็นการปรับขึ้นในรอบ 5 ปี หลังจากปรับขึ้นค่าแรง 300 ทั่วประเทศในปี 2556 โดยปีนี้แบ่งอัตราการปรับขึ้นเป็น 7 อัตรา ตั้งแต่ 5-22 บาท โดยให้มีผลวันที่ 1 เมษายน 2561

หากเปรียบเทียบกับค่าแรงในปี 2560 จะพบว่ามี 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ นราธิวาส ยะลา และปัตตานี ปรับขึ้นค่าแรง 8 บาทและน้อยที่สุด จากที่ไม่ได้ปรับขึ้นในปีที่แล้ว เช่นเดียวกับ จ.สิงห์บุรี นครศรีธรรมราช ตรัง ชุมพร ระนอง ที่ปรับขึ้น 10 บาท ขณะที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล สมุทรปราการ สมุทรสาคร ปรับขึ้นค่าแรง 15 บาท จากเดิมที่เคยได้แล้ว 10 บาท

ส่วน จ.ฉะเชิงเทรา และภูเก็ต ปรับขึ้นค่าแรงก้าวกระโดดจากเป็น 17 และ 20 บาทตามลำดับ เนื่องจากเศรษฐกิจเติบโตและรองรับโครงการพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี เช่นเดียวกับ จ.ชลบุรี และระยอง ที่ได้รับอานิสงค์นี้ด้วย โดยปรับขึ้นค่าแรงเต็มเพดานที่ 22 บาท

 

นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน ย้ำว่าการปรับค่าแรงขั้นต่ำปีนี้ พิจารณาอย่างรอบคอบบนพื้นฐานทางเศรษฐกิจและความเหมาะสม และเพื่อเป็นการลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอี ทางกระทรวงแรงงานได้เสนอมาตรการเยียวยา ทั้งมาตรการลดหย่อนภาษีเงินได้ 1.5 เท่าจากค่าจ้างแรงงานทั้งหมดในบริษัท และลดการจ่ายเงินสมทบประกันสังคมลง 1% ระยะเวลา 12 เดือน

ทั้งนี้ จะมีการเสนออัตราการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำปี 2561 และข้อเสนอเยียวยาผู้ประกอบการต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในสัปดาห์หน้า

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง