"ดร.เจษฎา" ตอบชัดตรวจแมมโมแกรม-ไม่เสี่ยงมะเร็งเต้านม

สังคม
23 ม.ค. 61
10:11
3,541
Logo Thai PBS
"ดร.เจษฎา" ตอบชัดตรวจแมมโมแกรม-ไม่เสี่ยงมะเร็งเต้านม
เฟซบุ๊ก ของรศ.ดร.เจษฎา ตอบคำถามโซเชียลมีเดียเกี่ยวกับกรณีการตรวจแมมโมแกรมเต้านมว่า ไม่ได้ทำให้เป็นมะเร็ง แต่ช่วยให้ทราบว่าเป็นมะเร็งหรือไม่ ขณะที่มีผู้ใช้โซเชียลอีกรายได้เข้ามาแสดงความเห็นต่างว่า มีโอกาสทำให้เกิดโรคมะเร็งได้

วานนี้ (22 ม.ค.2561) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อว่า อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ หรือ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลง กรณ์มหาวิทยาลัย ได้แสดงความคิดเห็นตอบคำถามเกี่ยวกับกรณี "ตรวจแมมโมแกรมเต้านม ไม่ได้ทำให้เป็นมะเร็ง"

โดยมีข้อความว่า คำถามจากแฟนเพจผู้หญิง ถามมาว่า "แมมโมแกรมเต้านมเนี่ย เคยมีคนบอกว่า รังสีของมันยิ่งทำให้กระตุ้นให้เป็นมะเร็ง จริงไหมคะ" คำตอบ คือ ไม่จริงครับ การตรวจเต้านมด้วยวิธีแมมโมแกรมนี้ มีประโยชน์มากในการช่วยให้เรารู้ตัวว่ามีมะเร็งเต้านมหรือเปล่า เพื่อที่จะได้ทำการรักษาให้ได้เร็วที่สุด ซึ่งจริงๆ แล้ว ทางการแพทย์ปัจจุบันแนะนำให้สตรีควรตรวจแมมโมแกรมตั้งแต่อายุ 40 ปี 

การที่ตรวจพบมะเร็งในเต้านมตั้งแต่เนิ่นๆ นอกจากจะช่วยรักษาชีวิตของเราไว้ได้แล้ว ยังช่วยรักษาเต้านมเอาไว้ ไม่ให้ถูกตัดทิ้งทั้งหมด เพราะแพทย์สามารถตัดเอามะเร็งออกแค่บางส่วนได้ ถ้ายังไม่ลุกลามมาก อย่างไรก็ตาม จุดบอดของแมมโมแกรมคือ มันยังไม่เพอร์เฟคนัก เช่น มันอาจจะตรวจไม่พบ ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วมีมะเร็งซ่อนอยู่ในเนื้อเยื่อเต้านมก็ได้ หรือแม้แต่กลับข้างกัน คือ ไม่ได้มีมะเร็ง แต่ผลตรวจบอกว่ามี ซึ่งก็จะต้องใช้วิธีอื่นๆ มาช่วย เช่น การคลำพิสูจน์ หรือการทำ MRI และอัลตร้าซาวด์

ส่วนเรื่องที่กลัวกันว่า มันจะไปเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งขึ้นจากรังสีที่ได้รับเมื่อทำแมมโมแกรม บอกเลยว่า ปริมาณรังสีที่ออกมานั้น น้อยมากๆ น้อยกว่าการไปเอ็กซเรย์ปอดตามปกติด้วยซ้ำ 

ขณะที่ผู้ใช้เฟซบุ๊ก Phanloet Waeosak ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับกรณีนี้ โดยระบุว่า จะตอบว่าไม่มีไม่ได้ รังสีเอ็กซ์ หรือ radiation มีโอกาสทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของลำดับเบสในโครโมโซมจนกลายเป็นมะเร็งได้ โดยไม่ขึ้นกับปริมาณรังสีที่ได้รับ เราเรียก stochastic effect ถ้าอย่างนั้น ทำไมวงการแพทย์ถึงเอารังสีมาใช้ในการตรวจและรักษา เพราะเราต้องชั่งระหว่าง risk & benefit ครับ ระหว่างตรวจเจอมะเร็งระยะต้นแล้วรักษาหายขาด กับโอกาสที่รังสีทำให้เกิดมะเร็งแต่ไม่รู้เมื่อใหร่ ซึ่งไม่มีข้อมูลทางสถิติที่บอกได้ และกว่าที่โครโมโซมที่ผิดปกติจากรังสีกลายเป็นมะเร็งก็ใช้เวลาไม่น้อยกว่าสิบปีตามทฤษฎี

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง