กรมควบคุมโรคแนะ 8 วิธีดูแลสุขภาพจากฝุ่นขนาดเล็ก

สังคม
25 ม.ค. 61
16:55
1,500
Logo Thai PBS
กรมควบคุมโรคแนะ 8 วิธีดูแลสุขภาพจากฝุ่นขนาดเล็ก
กรมควบคุมโรค เตือนประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่ป่วย 4 กลุ่มโรคสำคัญ ดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ หวั่นเกิดอาการกำเริบ หลังพบปัญหาฝุ่นขนาดเล็กเกินค่ามาตรฐานในอากาศพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล พร้อมแนะนำ 8 วิธีดูแลและป้องกันสุขภาพจากฝุ่น

จากกรณีที่วานนี้ (24 ม.ค.2561) คุณภาพอากาศในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีค่าฝุ่นขนาด 2.5 ไมครอน เกินค่ามาตรฐานในบางพื้นที่ สูงสุดที่ ต.มหาชัย อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ทำให้วันนี้ (25 ม.ค.) กรมควบคุมโรคได้ติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุว่า สภาพอากาศลักษณะนี้ส่งผลต่อประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่ป่วยด้วย 4 กลุ่มโรคสำคัญ ได้แก่ โรคระบบทางเดินหายใจ, โรคหัวใจและหลอดเลือด, โรคเยื่อบุตาอักเสบ และโรคผิวหนัง รวมถึงผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ เด็กเล็ก และผู้มีโรคประจำตัว ที่เสี่ยงเกิดอาการกำเริบได้ง่ายจากการสูดดมฝุ่นขนาดเล็ก

แนะ 8 วิธีดูแล-ป้องกันสุขภาพจากฝุ่น

สภาพอากาศในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่มีค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐานนั้น มาจากหลายสาเหตุ เช่น การจราจร อุตสาหกรรม รวมถึงการเผาในที่โล่ง กรมควบคุมโรคจึงแนะนำวิธีการดูแลและป้องกันสุขภาพเมื่อเกิดฝุ่นขนาดเล็ก ดังนี้

1. ให้อยู่ภายในอาคารบ้านเรือน หากไม่จำเป็นอย่าออกนอกบ้าน โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มเสี่ยง
2. ปิดประตูหน้าต่างอาคารบ้านเรือน เพื่อป้องกันฝุ่นเข้า หากปิดไม่ได้ ให้ใช้ผ้าชุบน้ำทำเป็นม่านปิดแทน
3. หากจำเป็นต้องออกนอกอาคาร ให้ใช้ผ้าชุบน้ำบิดพอหมาดๆ ปิดจมูกและปาก แต่หากอยู่ในที่ที่มีฝุ่นหนาแน่นให้ใช้หน้ากากกรองฝุ่น หรือหาผ้าเปียกมาปิดจมูก
4. หลีกเลี่ยงการออกกำลังกาย และการทำงานหนักที่ออกแรงมาก เนื่องจากการหายใจเร็วระหว่างออกกำลังกายจะทำให้ร่างกายรับฝุ่นละอองเข้าไปมาก
5. ดื่มน้ำมากๆ และไม่สูบบุหรี่ในช่วงที่มีปัญหาฝุ่นขนาดเล็ก
6. ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ และเด็กเล็ก ต้องดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ หลีกเลี่ยงสัมผัสกับอากาศที่มีฝุ่นละออง หรือมีการใช้หน้ากากกันฝุ่น
7. ไม่เผาขยะ โดยเฉพาะขยะที่เป็นสารพิษ เช่น พลาสติก ยางรถยนต์ รวมทั้งขยะทั่วไป
8. ลดการใช้รถยนต์ หรือใช้เท่าที่จำเป็น เพื่อไม่ให้มลพิษจากท่อไอเสียรถยนต์ทำให้คุณภาพอากาศแย่ลง

อธิบดีกรมควบคุมโรค ยังแนะนำให้ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงพักผ่อนอยู่ในบ้าน เตรียมยาและอุปกรณ์ที่จำเป็นให้พร้อม ขณะเดียวกันยังแนะนำผู้ที่ดูแลผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง ขอให้ดูแลอย่างใกล้ชิดและหมั่นสังเกตอาการ โดยเฉพาะผู้ป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจ หอบหืด ภูมิแพ้ ถุงลมโป่งพอง และโรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด หากพบอาการผิดปกติให้รีบนำตัวส่งสถานพยาบาลใกล้บ้านทันที

ข่าวที่เกี่ยวข้อง