กต.เร่งชี้แจง "อียู-ฮิวแมนไรท์วอทซ์" ยันแก้ปัญหาประมงคืบ

สังคม
26 ม.ค. 61
12:27
200
Logo Thai PBS
กต.เร่งชี้แจง "อียู-ฮิวแมนไรท์วอทซ์" ยันแก้ปัญหาประมงคืบ
ไทยโต้ "ฮิวแมนไรท์วอทช์" ยืนยันหลายหน่วยงานร่วมแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ ตามที่ไอยูยู เสนอแนะมาอย่างเคร่งครัดจนทำให้แรงงานประมงผิดกฎหมายดีขึ้นตามลำดับ โดยกระทรวงการต่างประเทศเตรียมเดินหน้าชี้แจงเรื่องนี้ต่อสหภาพยุโรป

วันนี้ (26 ม.ค.2561) น.ส.บุษฎี สันติพิทักษ์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ไทยไม่เห็นด้วยกับการนำเสนอรายงานองค์กรสิทธิมนุษยชนฮิวแมนไรท์วอทช์ (Human Rights Watch) ที่ระบุว่า ประมงไทยยังไม่หมดปัญหาการค้ามนุษย์ เนื่องจากข้อมูลส่วนใหญ่เป็นการใช้ข้อมูลในปี 2559 และไม่ได้นำเสนอข้อมูลการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายของไทยที่มีความคืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญในปี 2560

ซึ่งที่ผ่านมา คสช.ได้ดำเนินการแก้ไขเรื่องนี้อย่างจริงจังทั้งการแก้ไขกฎหมายประมงที่ล้าสมัยโดยออก พ.ร.ก.ประมง พ.ศ.2558 เพื่อแก้ไขปัญหาด้านต่างๆ ผ่านการดำเนินการภายใต้ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย หรือ ศปมผ.ที่ร่วมกับฝ่ายความมั่นคงและ เจ้าหน้าที่ตำรวจทำให้ ดำเนินคดีการทำประมงผิดกฎหมาย และการใช้แรงงานประมงที่เชื่อมโยงกับการค้ามนุษย์ เช่น ในปี 2560 ที่ผ่านมามีการจับกุม ดำเนินคดีการทำประมงผิดกฎหมาย 4240 คดี คดีค้ามนุษย์กว่า 85 คดี มีผู้ได้รับโทษจำคุกสูงสุด 14 ปี

นายกกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยืนยันการทำงานมีความก้าวหน้า ตามที่สหภาพยุโรป(อียู) แนะนำมาเกือบทุกเรื่อง ทั้งนี้เรื่องรายงานของฮิวแมนไรท์วอทซ์ นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้กระทรวงต่างประเทศชี้แจงรายละเอียดแล้ว ในส่วนของกระทรวงเกษตรยังเดินหน้าทำงานเต็มที่ไม่หวั่นไหวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า ปัญหาการค้ามนุษย์และการบังคับใช้แรงงานในภาคการประมง ถือเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญที่รัฐบาลได้กำหนดให้เป็นวารเร่งด่วนระดับชาติเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์แบบองค์รวม และจากการปฏิรูปการประมง ภายใต้พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 กรมประมงได้กำหนดมาตรการและกฎระเบียบต่างๆ เพื่อให้การบริหารจัดการทรัพยากรประมงเกิดประ สิทธิภาพสูงสุด

เร่งติดตั้ง "ตู้เอทีเอ็ม"ให้แรงงานประมง


ด้านนายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวย้ำว่า ประเทศไทยแก้ปัญหาค้ามนุษย์ในกิจการประมงอย่างจริงจัง เน้นตรวจบังคับใช้กฎหมาย ดูแลแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าวเท่าเทียม พร้อมเปิดโอกาสให้เข้าร่วมสหภาพเรียกร้องสิทธิสิทธิประโยชน์ผ่านสหภาพแรงงานที่ตนเป็นสมาชิกได้ กรณีที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมในการจ้างงานอีกด้วย

ขณะที่ปัญหาร้องเรียนตู้กดเอทีเอ็ม ไม่เพียงพอกับแรงงานประมงหลังจากที่กระทรวงแรงงานได้ออกประกาศให้จ่ายเงินผ่านธนาคาร ล่าสุด พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (ไอยูยู) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ที่ประชุมจึงได้ข้อสรุปว่าให้ติดตั้งตู้เอทีเอ็มให้เพียงพอต่อการใช้งานภายในเวลา 3 เดือน และให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้ตู้เอทีเอ็มกับแรงงานประมง ซึ่งการจ่ายเงินผ่านธนาคารจะเป็นผลดีต่อผู้ประกอบการด้วย เนื่องจากมีหลักฐานว่าได้จ่ายเงินจริง และสามารถช่วยแก้ปัญหาที่ฮิวแมนไรท์วอทช์ท้วงติงว่านายจ้างจ่ายเงินไม่ตรงกับค่าแรงจริงได้ด้วย

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง