ไข้หวัดใหญ่ระบาดหนัก พบผู้ป่วยแล้วกว่า 1.7 แสนคน

สังคม
30 ม.ค. 61
11:29
781
Logo Thai PBS
ไข้หวัดใหญ่ระบาดหนัก พบผู้ป่วยแล้วกว่า 1.7 แสนคน
สพฐ. ประกาศเตือนโรงเรียนต่างๆ ให้มีมาตรการป้องกันการระบาดของไข้หวัดใหญ่ หลังพบว่ามีผู้ป่วยมากกว่า 1.7 แสนคน ด้านกรมการแพทย์ เตือนผู้ปกครองให้สังเกตอาการไวรัสลงกระเพาะในเด็กเล็ก หากพบให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็ว

วันนี้ (30 ม.ค.2561) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ กพฐ. เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ. ได้รับข้อมูลจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ถึงการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ ระหว่างวันที่ 1 ม.ค. - 7 พ.ย. 2560 พบผู้ป่วยมากกว่า1.7แสนคน เสียชีวิต 49 คน โดยผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่มีปัจจัยเสี่ยงอยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หญิงมีครรภ์ ผู้ที่มีโรคประจำตัว ไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่


นายบุญรักษ์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ขอความร่วมมือสถานศึกษาในสังกัดจัดระบบคัดกรองเด็กป่วยในช่วงเช้า หากพบว่ามีอาการเข้าข่ายโรคไข้หวัดใหญ่ เช่น มีไข้ ไอ เจ็บคอโรงเรียนควรทำการคัดแยกเด็ก ใส่หน้ากากอนามัยให้กับเด็ก ให้พักในสถานที่ที่จัดเตรียมไว้ ติดต่อผู้ปกครองมารับ และให้หยุดเรียนจนกว่าจะหาย


หากพบการระบาดจำนวนมาก อาจพิจารณาปิดสถานศึกษาเพื่อลดการระบาดของโรคและการแพร่กระจายเชื้อ โดยใช้ดุลยพินิจร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ ผู้บริหารสถานศึกษา คณะกรรมการสถานศึกษา รวมทั้งเครือข่ายผู้ปกครอง


ด้าน นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ระยะนี้ประเทศไทยมีอากาศหนาวเย็น และชื้นทำให้เชื้อโรคชนิดต่างๆ สามารถแพร่กระจายได้ง่ายกว่าปกติ โดยเฉพาะในเด็กเล็กที่มีอายุระหว่าง 3 เดือน ถึง 3 ขวบ จะมีภูมิคุ้มกันร่างกายน้อยกว่าเด็กทั่วไป ส่งผลให้เจ็บป่วยได้ง่าย


โดยโรคที่พบบ่อย คือ โรคไวรัสลงกระเพาะ หรือโรคกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบ โดยเฉพาะจากไวรัสโรตา หลังจากได้รับเชื้อ เด็กจะมีอาการเหมือนไข้หวัด คือ มีไข้ ตัวร้อน น้ำมูกไหล หรือไอร่วมด้วย อาการที่เด่นชัด คือ อาเจียน ตั้งแต่เล็กน้อยถึงขั้นรุนแรง ซึ่งอาจจะมีอาการท้องอืดร่วมด้วย เด็กจะไม่อยากรับประทานอาหาร และมีอาการถ่ายเหลวถ่ายบ่อยตามมาในระยะ 1-2 วัน


สำหรับผู้ปกครองสามารถดูแลบุตรหลานได้โดย การเช็ดตัวเมื่อมีไข้ และให้ยาลดไข้ หากอาเจียน ถ่ายบ่อย อาจให้ดื่มผงน้ำตาลเกลือแร่ เพื่อรักษาและป้องกันภาวะขาดน้ำ ให้ดื่มนมและรับประทานอาหารที่ย่อยง่าย และควรสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด หากมีอาการผิดปกติ เช่น เด็กไม่สามารถรับประทานอาหารได้ ปัสสาวะน้อยลง มีอาการซึม งอแง ถ่ายและอาเจียนบ่อย ให้รีบพาไปพบแพทย์โดยเร็ว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง