เตือน "หมา-แมว" กัด ข่วน อย่าชะล่าใจเสี่ยง "พิษสุนัขบ้า" ถึงตาย

สังคม
4 ก.พ. 61
15:48
8,670
Logo Thai PBS
เตือน "หมา-แมว" กัด ข่วน อย่าชะล่าใจเสี่ยง "พิษสุนัขบ้า" ถึงตาย
กรมควบคุมโรค ห่วงคนไทยเข้าใจผิดเรื่อง "โรคพิษสุนัขบ้า" รักษาหาย ถูกหมา แมวกัดข่วนไม่รักษาฉีดวัคซีน เผยปี 61 เดือนเดียวพบหัวสุนัขเป็นพิษสุนัขบ้ากว่า 135 ตัว เร่งระดมทุกภาคส่วนค้นหา ติดตามผู้ถูกกัดหรือสัมผัสโรคจากสุนัข แมว มารับวัคซีนให้ครบทุกราย พร้อมแนะ 5 ย. หยุดพฤติกรรมเสี่ยง ป้องกันพิษสุนัขบ้า

วันนี้ (4 ก.พ.) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า สถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าของไทยขณะนี้ยังเป็นที่น่ากังวลอยู่ เนื่องจากผลการตรวจหัวสุนัขที่สงสัยเป็นโรคพิษสุนัขบ้า ยังคงมีรายงานอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2560 กรมปศุสัตว์รายงานว่า สุนัข แมวทั่วประเทศป่วยเป็นโรคดังกล่าวกว่า 800 ตัว และเริ่มปี 2561 เดือนเดียวพบสุนัขบ้าแล้วกว่า 135 ตัว ทำให้เรายังคงพบผู้ป่วยโรคพิษสุนัขบ้าอยู่ในพื้นที่ที่มีพบสัตว์ป่วยโรคนี้ สำหรับการเสียชีวิตส่วนใหญ่ของผู้ป่วยโรคพิษสุนัขบ้า มาจากการไปรับการรักษาเมื่ออาการของโรคเริ่มแสดงแล้ว ทำให้สายเกินกว่าจะยับยั้งเชื้อได้ทัน สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการชะล่าใจในการป้องกัน และรักษาโรคเบื้องต้น

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า จากการสำรวจความรู้เรื่องโรคพิษสุนัขบ้าของคนไทยพบว่า คนไทยยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเรื่องโรคดังกล่าว ร้อยละ 60 คิดว่าโรคพิษสุนัขบ้า “รักษาหาย” และร้อยละ 59 คิดว่า “ไม่เป็นไร” เมื่อถูกสุนัข หรือแมวข่วนเป็นแผลเล็กน้อย จึงไม่ทำความสะอาดแผลเบื้องต้น หรือไม่เข้ารับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคให้ครบ ทั้งนี้ เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกาย ระยะการแสดงอาการของโรคนั้นไม่แน่นอน บางรายอาจนานเป็นปี เมื่อผู้ป่วยมีอาการแล้ว จะรักษาไม่หายและเสียชีวิตทุกราย

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า โรคพิษสุนัขบ้าสามารถป้องกันได้ ถ้าประชาชนรู้จักการป้องกันตนเอง ดังนี้ 1. อย่า 5 ย. คือ อย่าแหย่ อย่าเหยียบ อย่าแย่ง อย่าหยิบ อย่ายุ่ง กับสุนัขคนอื่น หรือสุนัขที่มีการผิดปกติ 2. เมื่อถูกสุนัข หรือแมว ข่วน หรือกัด ควรรีบล้างแผลด้วยน้ำและสบู่ทันทีหลายๆครั้ง และใส่ยาเบตาดีนหลังล้างแผลเพื่อลดการติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า 3. รีบพบแพทย์โดยทันที เพื่อรับการวินิจฉัยรับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า หากได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว ควรไปตามนัดทุกครั้ง เพื่อการป้องกันสูงสุด 4. เมื่อถูกกัด ควรกักสุนัข แมวตัวที่กัดข่วน ไว้เพื่อสังเกตอาการ 10 วัน หากสัตว์ที่กักตายลงให้รีบแจ้งปศุสัตว์ในพื้นที่ เพื่อการส่งตรวจหาโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ และ 5. เจ้าของสุนัขเเละเเมวควรนำสัตว์เลี้ยงของท่านเข้ารับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเป็นประจำทุกปี เพื่อการป้องกันที่มีประสิทธิภาพ

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า ขณะนี้กรมควบคุมโรคได้สั่งการลงไปยังพื้นที่ที่มีสุนัขบ้า เร่งประสานงานให้มีการประชาสัมพันธ์และค้นหา ติดตามผู้ที่มีประวัติสัมผัสโรคทุกรายให้มารับวัคซีน รวมทั้งกำชับ อสม.ให้เคาะประตูบ้าน เพื่อเร่งระดมค้นหาและติดตามผู้ถูกกัดหรือสัมผัสโรคมารับวัคซีนให้ครบทุกราย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง