ชำแหละ VIP ตกยุค ล่าสัตว์ทุ่งใหญ่ อดีต หน.เขตฯ ชี้ 30 ปี เพิ่งเคยเจอ

สังคม
8 ก.พ. 61
19:54
29,544
Logo Thai PBS
ชำแหละ VIP ตกยุค ล่าสัตว์ทุ่งใหญ่ อดีต หน.เขตฯ ชี้ 30 ปี เพิ่งเคยเจอ
แขกวีไอพีมีจริงรึเปล่า ความยากลำบากและอึดอัดใจในการทำงานของเจ้าหน้าที่ในเขตทุ่งใหญ่นเรศวรเป็นอย่างไร คดีล่าสัตว์ป่าในทุ่งใหญ่จะออกมาในรูปแบบไหน ร่วมหาคำตอบผ่าน 12 คำถาม กับการเปิดใจ นายวีรวัธน์ ธีรประสาธน์ อดีตหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร

Q: เจ้าหน้าที่มีความหนักใจหรืออึดอัดใจในการรับแขกวีไอพีที่เข้าไปในป่าไหม

A: ผมอยากให้แยกก่อนว่าแต่ละคนในหน่วยงาน ความทุ่มเทในการทำงานมันจะต่างกัน บางคนอาจจะชอบในการต้อนรับแขก เพราะจะได้รู้จักผู้ใหญ่จนอาจส่งผลไปถึงหน้าที่การงาน ส่วนคนที่มุ่งในด้านการทำงาน ก็จะรู้สึกเสียเวลากับการรับแขกผู้ใหญ่ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่เป็นที่รู้จักมาก ๆ แม้จะเดินทางยาก ผู้ใหญ่เหล่านี้ก็ยิ่งอยากเข้าไป ปัญหา คือ เจ้าหน้าที่ต้องเตรียมอาหาร ซึ่งลำพังตัวเจ้าหน้าที่เองก็ค่อนข้างลำบากในการจัดเตรียมอาหารและการเดินทาง ส่วนผู้ใหญ่ที่ต้องการเข้าพื้นที่ก็ใช้เฮลิคอปเตอร์เดินทางไม่นานก็ถึง แต่เจ้าหน้าที่ใช้เวลาถึง 2 วันกว่าจะเข้าไปถึงที่หมาย มันต่างกันมากนะ

หลายครั้งที่ผู้ใหญ่กลับแล้ว เจ้าหน้าที่หมดแรงหรือบางทีก็สลบเลย เพราะไม่ได้นอน 2 คืนเต็ม เป็นปัญหาเยอะกับการทำงาน ผู้ใหญ่บางคนก็ดี ไม่รบกวนเจ้าหน้าที่เลย ไปแบบง่าย ๆ มาให้กำลังใจเจ้าหน้าที่เพราะเขารู้ว่าเราอยู่ยังไง แต่ส่วนใหญ่จะต้องการความสะดวกสบาย ความหรูหรา รวมทั้งคณะติดตามผู้ใหญ่ที่เข้ามาด้วยกันจะต้องการความสะดวกสบายเยอะมาก เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ก็ทำงานหนักเข้าไปอีก

หลายครั้งที่ผู้ใหญ่กลับแล้ว เจ้าหน้าที่หมดแรงหรือบางทีก็สลบเลย เพราะไม่ได้นอน 2 คืนเต็ม เป็นปัญหาเยอะกับการทำงาน

 

Q: มีวิธีแก้ไขปัญหาหรือทำให้การรับแขกวีไอพีหายไปได้อย่างไร

A: ผู้ใหญ่ในกรมอุทยานแห่งชาติจะต้องตระหนักและมุ่งเน้นให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานให้เต็มที่และให้ความรู้ ข้อมูลกับผู้ใหญ่ที่ต้องการเข้ามาเที่ยวว่าเขาอยู่กันอย่างไร ทำงานหนักแค่ไหน เพื่อให้ผู้ใหญ่ที่จะเข้ามารู้สึกได้ว่าอย่าไปรบกวนเขาเลย ส่วนเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานก็ควรที่จะตรงไปตรงมา กล้าพูดว่าเราไม่พร้อมที่จะรับแขกในลักษณะที่ท่านต้องการ แต่ถ้าท่านต้องการที่จะศึกษาธรรมชาติหรือต้องการเรียนรู้ก็ไปแบบเจ้าหน้าที่ เดินเท้าเข้าไปสัมผัสธรรมชาติ แบบนี้ดีที่สุด ถ้าปฏิบัติได้แบบนี้น่าจะคลี่คลายปัญหาได้

 

Q: กรณีคุณเปรมชัย มีคนเปิดทางให้เข้าพื้นที่หรือไม่

A: ตอนนี้ผมกำลังตามข่าวอยู่ก็ยังสับสนหน่อย ประเด็นแรก คือ ขออนุญาตรึเปล่า เพราะว่าฝ่ายคุณเปรมชัยขออนุญาตเรียบร้อย ได้รับการอนุญาต แต่ฝ่ายป่าไม้เขตบ้านโป่ง และสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า บอกว่ายังไม่ได้อนุญาต

แต่ประเด็นสำคัญ คือ ไม่ว่าจะอนุญาตหรือไม่อนุญาตคุณเอาอาวุธปืนเข้าไปได้อย่างไร เพราะถึงแม้จะอนุญาตก็ห้ามเอาปืนเข้าไป สิ่งที่ผมกังวลแทนเจ้าหน้าที่ ที่ดูแลรับผิดชอบจะกลายเป็นบกพร่องในหน้าที่ ซึ่งไม่เป็นธรรมกับเขาเหมือนกันนะ ถ้าออกมาในรูปแบบนี้จริง ก็รู้สึกว่ากระบวนการของเรามันไม่ได้คลี่คลายมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันหรืออาจจะหนักขึ้น

 

ไม่ว่าจะอนุญาตหรือไม่อนุญาตคุณเอาอาวุธปืนเข้าไปได้อย่างไร เพราะถึงแม้จะอนุญาตก็ห้ามเอาปืนเข้าไป สิ่งที่ผมกังวลแทนเจ้าหน้าที่ ที่ดูแลรับผิดชอบจะกลายเป็นบกพร่องในหน้าที่ ซึ่งไม่เป็นธรรมกับเขา

 

 

Q: มีความผิดพลาดในการตรวจอาวุธปืนหรือไม่

A: ผมไม่แน่ใจว่ามีการตรวจหรือไม่มีการตรวจ เพราะยังไม่ได้รับข้อมูลที่ชัดเจน แต่ว่าบางครั้งการซุกซ่อนทำให้เจ้าหน้าที่ตรวจไม่เจอก็มี ซึ่งคนเหล่านี้มีวิธีการเยอะมากในการกระทำผิด ซึ่งเจ้าหน้าที่เองต้องรู้เท่าทันเหมือนกันนะ โดยเฉพาะคนที่มีตำแหน่งใหญ่โต คนที่มีชื่อเสียงทางสังคม แล้วยิ่งถ้ามีการฝากฝังไปให้อำนวยความสะดวกด้วย คนเหล่านี้มีวิธีการ ทำเหมือนให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี มอบอาวุธให้เจ้าหน้าที่ก่อนเลย ทั้งที่ยังมีอาวุธซุกซ่อนอยู่ในรถ เจ้าหน้าที่ก็ตายใจ คิดว่าเป็นคนอัธยาศัยดี หรือบางทีก็เข้าไปโดยไม่มีอาวุธจริง ๆ แล้วให้พรานชำนาญพื้นที่ ถืออาวุธอ้อมไปหา แบบนี้ก็มี ฉะนั้นอย่าเพิ่งไปมุ่งว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้ตรวจ แต่ต้องหาความจริงให้เจอว่าที่ตรวจตราไม่ละเอียดเกิดจากอะไร มีคนฝากฝังไป ให้อำนวยความสะดวกรึเปล่า ทำให้เกิดความเกรงใจไม่อยากจะตรวจก็เป็นไปได้ แต่เจตนาคนที่เอาอาวุธเข้าไปเนี่ย คือไม่ดีตั้งแต่แรกอยู่แล้ว ต้องการไปกระทำผิด

 

Q: นายเปรมชัย มีข้อมูลว่าเข้าป่าบ่อยไหม แล้วที่คุณเปรมใช้เข้าไปในจุดห้วยปะซิ ซึ่งถือเป็นแหล่งเสือดำเนี่ย ต้องมีคนชี้นำทางให้ใช่ไหม

A: ไม่แน่ใจ แต่ว่า ลักษณะการรู้จักพรานท้องถิ่น ผมคิดว่าเขาเที่ยวป่าบ่อยนะ เพราะว่าคนที่ถูกจับคนหนึ่งอยู่ที่เมืองกาญจน์ พ่อของเขาเป็นพราน แล้วเท่าที่ทราบคุณเปรมชัยเที่ยวป่าตั้งแต่สมัยพ่อของพรานคนนี้แล้ว ถ้าบอกว่า 2 ครั้ง มันไม่น่าจะใช่ ส่วนเรื่องจุดตรงนั้นเรียกว่าห้วยปะซิ ผมเข้าใจว่า เขาเคยพักด้วยนะ เพราะมันเป็นจุดที่ดีมากจริง ๆ จุดนี้เป็นจุดที่มีน้ำตลอดปี แล้วน้ำลึก หลบเจ้าหน้าที่ได้ค่อนข้างดี เพราะว่าแยกหลบมุมเข้าไป 100 เมตร ผมดูจากข่าวก็รู้เลยว่าตรงไหน เพราะเป็นลูกน้องเก่าผมที่ตามเจอ

 

การรู้จักพรานท้องถิ่น ผมคิดว่าเขาเที่ยวป่าบ่อยนะ เพราะว่าคนที่ถูกจับคนหนึ่งอยู่ที่เมืองกาญจน์ พ่อของเขาเป็นพราน แล้วเท่าที่ทราบคุณเปรมชัยเที่ยวป่าตั้งแต่สมัยพ่อของพรานคนนี้แล้ว ถ้าบอกว่า 2 ครั้ง มันไม่น่าจะใช่

 

Q: การถลกหนังเสือหรือการเตรียมอุปกรณ์เข้าไปถือว่ามีความชำนาญไหม

A: ชำนาญมาก ค่อนข้างรู้เรื่องดี เตรียมอุปกรณ์ไปอย่างดี เช่น เกลือเม็ด เพื่อถนอมหนังไม่ให้เน่า ลักษณะแบบนี้ คือ คนล่าสัตว์ ไม่ใช่คนที่ไปแล้วเจอสัตว์ ตกใจเลยยิง ไม่ใช่เลย แล้วลักษณะของคนที่ชอบเข้าไปแบบนี้ จะชอบทำตัวแบบง่าย ๆ เหมือนพรานทั่วไป อยากไปดื่มด่ำธรรมชาติ จากที่ผมดูข่าว คือ ตรวจเจอเบ็ดด้วย คือ คนพวกนี้จะไม่เอาอาหารอะไรไปเลย ถ้าวันไหนล่าสัตว์ไม่ได้ อย่างน้อยปลาในห้วยต้องหาได้อยู่แล้ว ก็เอาเป็นอาหารไป การทำงานในพื้นที่ต้องเข้าใจ ลักษณะแบบไม่เตรียมอะไรไปเลย แสดงว่าหวังพึ่งเอาในป่า ต้องติดตามแล้ว


Q : คดีนายเปรมชัย จะเป็นอย่างไรต่อไป

A: เท่าที่ผมมีประสบการณ์ ลักษณะแบบนี้ คนที่มีชื่อเสียง เอาคณะ เอาคนขับรถ แม่ครัว นายพรานเข้าไป พอจับกุมได้ตัวเองก็ปฏิเสธว่าไม่รู้เห็น ไม่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิด แล้วพรานหรือคนขับรถก็จะมารับว่า ฉันทำเองทั้งหมด ซึ่งพอฉันทำเองทั้งหมดเนี่ย ฝ่ายของคนที่นำเข้าไป ตัวหัวเรือใหญ่ก็จะมีคำอธิบายว่า มันไปล่าตอนฉันนอนอยู่ในเต็นท์ ไม่รู้เรื่อง แล้วตอนทำฉันไม่รู้ว่าทำ แล้วมันมาปลุกฉันไปกิน

ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่ผมคิดว่าถ้าจะให้เป็นบทเรียน ก็ต้องย้อนกลับไปมองว่า จุดบกพร่องของคราวที่แล้วอยู่ตรงไหน ทำไมตัวการถึงรอด เพราะในสมัยก่อนเทคโนโลยีในการตรวจสอบหลักฐานไม่เหมือนในปัจจุบัน ต่างกันมาก ฉะนั้น เรื่องที่ 1 ต้องไปดูทะเบียนปืนของใคร ถ้าทะเบียนปืนเถื่อน ก็ต้องเล่น แต่ผมเชื่อว่าปืนพวกนี้มีทะเบียน ลักษณะปืนล่าสัตว์มักจะมีทะเบียน ต้องดูว่าเป็นของใคร ถ้าอยู่ในนั้นด้วย ก็ต้องเอาก่อนเลยว่าคุณเอาอาวุธเข้าไป ตัวคุณก็อยู่ด้วย คุณจะมาอ้างว่าคนอื่นยืมของผมไป มันก็ไม่ใช่แล้ว

เรื่องที่ 2 คือ ดูว่าเขม่าดินปืนอยู่ที่ใครบ้าง ซึ่งถ้าช้ามันจะตรวจไม่ได้แล้วนะ เรื่องที่ 3 คือ ดูลายนิ้วมือ ดีเอ็นเอ ในปืน หรือในซากสัตว์น่าจะเจอ แล้วต้องใช้นิติวิทยาศาสตร์ให้เห็นว่าการสืบสวนของพนักงานสอบสวนมีพัฒนาการ ผมคิดว่าถ้ากระบวนการเหล่านี้ขับเคลื่อนไปได้ด้วยความยุติธรรมก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ

 

ลักษณะแบบนี้ คนที่มีชื่อเสียง เอาคณะ เอาคนขับรถ แม่ครัว นายพรานเข้าไป พอจับกุมได้ตัวเองก็ปฏิเสธว่าไม่รู้เห็น ไม่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิด แล้วพรานหรือคนขับรถก็จะมารับว่า ฉันทำเองทั้งหมด

 

Q: คิดว่ากฎหมายอ่อนเกินไปไหมที่จะเอาผิด

A: กฎหมายไม่ได้อ่อน กฎหมายเข้มแข็งมาก พระราชบัญญัติเขตป่าสงวนคุ้มครองสัตว์ป่านี่เข้มงวดมาก แต่กฎหมายสงวนคุ้มครองสัตว์ป่าเป็นความผิดทางอาญา จึงทำให้ต้องใช้ประมวลกฎหมายพิจารณาคดีทางอาญา ที่เรียกว่า ป.วิอาญามาใช้ ซึ่งคดีจะหลุดในส่วนนี้ เนื่องจากถ้าเขายืนยันว่าไม่ได้เป็นผู้กระทำผิด แล้วจะให้เขาผิดได้อย่างไร

ดังนั้น ก็ต้องหาหลักฐานมายืนยัน มัดกันให้อยู่ เหมือนตัวอย่างแบบนี้ เจอบ่อยมากตอนทำงานกรมป่าไม้ เราจับรถแทรกเตอร์กำลังทำลายป่า แต่รถแทรกเตอร์ไม่เคยถูกยึดนะ เพราะว่าเจ้าของรถแทรกเตอร์เขารู้ว่าการกระทำผิดนี้อาจจะถูกยึด แล้วคันละหลายสิบล้าน เขาก็ไม่ไปด้วย บอกว่าคนขับแทรกเตอร์ไปทำลายป่า เขาไม่รู้เห็นเป็นใจด้วย เอาไปโดยพลการ ก็ต้องคืนให้เขา

ดังนั้นหลักกฎหมายเราก็คือว่า คนเหล่านี้ปฎิเสธไว้ก่อนแล้วไปหาหลักฐาน แล้วทีนี้ใครทำสำนวนตรงนั้นเรื่องสำคัญและตำรวจเป็นคนทำสำเนา แล้วก็ส่งอัยการ ถึงจะฟ้อง เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ เข้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์หมดหน้าที่แล้วนะ นอกจากว่าพนักงานสอบสวนอยากจะให้ไปให้ข้อมูลเพิ่มเติมหรือว่าอัยการอยากให้พนักงานเจ้าหน้าที่ป่าไม้ที่จับกุมไปเป็นพยานในศาล ถ้าเขาไม่เสนอ ไม่เรียกร้องก็จบเลยนะ

 

Q: กระแสสังคมเกี่ยวกับกรณีนี้กำลังได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจะช่วยได้หรือไม่

A: อยากฝากอยากถึงน้อง ๆ ที่ทำงานว่า ให้อำนวยความสะดวกมิได้หมายความว่าให้คุณกระทำผิดได้ ดังนั้น จึงควรทำงานอย่างตรงไปตรงหน้า เพราะภารกิจสำคัญของเราคือการรักษาสัตว์ป่าและธรรมชาติ เพื่อให้สังคมยอมรับว่าเราปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็ม ไม่ได้เปิดช่องโหว่ให้เกิดการกระทำความผิด เพราะถ้ามีการกระทำความผิดขึ้นมา ไม่ว่าใครก็ตาม ผมอยากให้สังคมติดตามเรื่องนี้ คนทำผิดต้องได้รับโทษ ลอยนวลไม่ได้ ช่วงหลัง ๆ ผมกังวลว่าคนมีเงินเนี่ยจะไม่ถูกลงโทษ ในหลาย ๆ กรณี ดังนั้นในกรณีนี้ สังคมช่วยเถอะ ให้คนทำผิดได้ถูกลงโทษ

ให้อำนวยความสะดวกมิได้หมายความว่าให้คุณกระทำผิดได้ ดังนั้น จึงควรทำงานอย่างตรงไปตรงหน้า เพราะภารกิจสำคัญของเราคือการรักษาสัตว์ป่าและธรรมชาติ

Q: มีความกดดันที่คดีเกี่ยวข้องกับคนมีชื่อเสียง คนมีตำแหน่งในประเทศหรือไม่

 

A: ถ้าเราตรงไปตรงมา มันก็ไม่มีอะไรหรอก เพราะว่าทุกคนอยู่เหนือกฎหมายไม่ได้อยู่แล้ว แต่บางครั้งเจ้าหน้าที่เราก็อ่อนไหวกับผู้ใหญ่ อ่อนไหวกับการเติบโต หน้าที่การงานในอนาคต คือสังคมไทยเป็นสังคมอุปถัมป์ แล้วคำว่าอุปถัมป์ก็กินความกว้างว่าต้องยอมเขาทุกอย่าง ซึ่งเจ้าหน้าที่ต้องตระหนักว่า ผู้ใหญ่ใช้คำว่าอำนวยความสะดวกมันกว้างเกินไป

 

Q: การเข้าป่าล่าสัตว์แบบนี้ ถือเป็นค่านิยมของคนรวยรึเปล่า

A: เป็นบางคน แต่ลักษณะพวกนี้มักสืบทอดทางสายเลือด ตั้งแต่พ่อ แล้วลูกก็จะล่าตาม ซึ่งแปลกมาก พอผมรู้ว่ามีข่าวก็รู้สึกแปลกใจมาก เพราะคิดว่ามันหมดยุคไปแล้ว แล้วยิ่งกระแสสังคมที่มีต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็สูง ตั้งแต่ช่วงปี 2530 เราไม่เจอคดีแบบนี้เลย รวมถึงชาวบ้านเองที่จำเป็นต้องล่าสัตว์เพื่อดำรงชีพ เขาก็เปลี่ยนไปเลยนะ ไม่ค่อยมี ทำไมคนระดับนี้ถึงเกิดมีพฤติกรรมแบบนี้ขึ้นมาทำให้สรุปว่าอาจเป็นเรื่องความชอบ หรือความท้าทาย คนแบบนี้อาจจะต้องไปตรวจสุขภาพจิตด้วยรึเปล่า ไม่แน่ใจ แต่ในยุคสมัยนี้น่าจะเลิกไปได้แล้ว

ลักษณะพวกนี้มักสืบทอดทางสายเลือด ตั้งแต่พ่อ แล้วลูกก็จะล่าตาม ซึ่งแปลกมาก พอผมรู้ว่ามีข่าวก็รู้สึกแปลกใจมาก เพราะคิดว่ามันหมดยุคไปแล้ว

 

Q: การนำเนื้อสัตว์ป่ามาประกอบอาหารเกี่ยวข้องกับเรื่องความเชื่อหรือไม่ แล้วการนำชิ้นส่วนของสัตว์ไปประดับบ้านเป็นการเสริมบารมีรึเปล่า

 

A: ไม่น่าใช่ความเชื่อ แต่เป็นความภูมิใจที่ตัวเองยิงได้ เพราะหวังว่าจะไปหาอาหารในป่าแต่แรก เลยรู้สึกภูมิใจและต้องนำมาประกอบอาหารกิน ส่วนการเสริมบารมีในสมัยก่อนแน่นอนเลย สมัยโบราณ จะเห็นว่าบ้านของคหบดี คนร่ำรวย มักมีหนังเสือ มีสัตว์แขวนโชว์ แต่มันเปลี่ยนไปตั้งแต่เมื่อ 30 ปีที่แล้ว บางคนที่แขวนยังอายจนต้องถอดออก รู้สึกว่าเป็นการประจานตัวเอง ทำไม่ได้เรื่อง ฆ่าสัตว์

ในปัจจุบันถ้าเราไปเดินดูตามบ้านซึ่งเคยมีหัวสัตว์โชว์ ก็ไม่เห็นนะ อย่างที่เมืองกาญจน์ สมัยที่ผมไปทำงานใหม่ ๆ ที่ทุ่งใหญ่นเรศวร เรายังเห็นตามบ้าน ในปี 2521 มีคนเล่าให้ฟังว่า สมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 พวกที่ล่าสัตว์ เมื่อยิงเหยื่อได้ก็จะแขวนบนรถจี๊ปคันใหญ่ ๆ แล้ววิ่งมาโชว์ในเมือง แล้วรถต้องติดฝุ่น ติดคราบโคลน เพื่อให้รู้ว่าตัวเองลุยมา ลักษณะนี้เกิดขึ้นเมื่อ 50 – 60 ปีที่แล้ว แต่ในสมัยนี้ไม่ใช่แล้ว ดังนั้น คนที่หลงเหลืออยู่ ต้องบอกเขาให้ไปตรวจสุขภาพจิตแล้ว มันหมดยุคจริง ๆ  

 

จะเห็นว่าบ้านของคหบดี คนร่ำรวย มักมีหนังเสือ มีสัตว์แขวนโชว์ แต่มันเปลี่ยนไปตั้งแต่เมื่อ 30 ปีที่แล้ว บางคนที่แขวนยังอายจนต้องถอดออก รู้สึกว่าเป็นการประจานตัวเอง

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง