เตรียมเสนอ "พวาโมเดล" แก้ปัญหาช้างป่าหากินนอกพื้นที่

สิ่งแวดล้อม
11 ก.พ. 61
21:33
1,638
Logo Thai PBS
เตรียมเสนอ "พวาโมเดล" แก้ปัญหาช้างป่าหากินนอกพื้นที่
หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน เตรียมเป็นเจ้าภาพเสนอโครงการ "พวาโมเดล" ต่อรัฐบาล เพื่อแก้ปัญหาช้างป่าเข้าไปหากินในสวนของชาวบ้าน รอบพื้นที่ป่าตะวันออก ครอบคุม 5 จังหวัด ด้วยงบประมาณ 1,300 ล้านบาท หลังมาตรการเฝ้าระวังช้างป่าไม่ประสบความสำเร็จ

การสร้างรั้วเหล็กและคูกั้นช้าง ความยาวกว่า 552 เมตร ล้อมรอบแนวชายป่า "เขาอ่างฤไน" บริเวณ ต.ขุนซ่อง อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี เพื่อเป็นการทดลองมาตรการป้องกันช้างป่า จากข้อมูลพบว่า ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมามีช้างป่ามากกว่า 200 ตัว จากทั้งหมดกว่า 446 ตัว ที่กระจายอยู่ในผืนป่าตะวันออก ได้เข้ามาสร้างความเดือดร้อนให้กับผืชผลทางการเกษตรของชาวบ้าน เห็นได้จากสถิติผู้ประสบภัยช้างป่าของ ต.ขุนซ่อง ย้อนหลัง 4 ปี มีความถี่ในการเกิดเหตุทั้งหมด 49 ครั้ง เสียชีวิต 4 คนและพิการ 1 คน พื้นที่ทางการเกษตรได้รับความเสียหายกว่า 331 ไร่ คิดเป็นมูลค่าความเสียหายต่อภาครัฐกว่า 500,000 บาท

แต่หลังจากมีการสร้างรั้วเหล็กและคูกั้นช้างขึ้นเมื่อปีก่อน นายเดชา นิลวิเชียร หัวหน้าเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤไน ระบุว่า ปัญหาเริ่มคลี่คลายลง เห็นได้จากปัจจุบันไม่พบรอยเท้าช้างป่า ข้ามเข้าไปในพื้นที่เกษตรกรรมของชาวบ้านบริเวณนี้ แต่ด้วยงบประมาณในการก่อสร้างที่สูงกว่า 500,000 บาท กับระยะทางที่ได้เพียงแค่ 500 เมตร ทำให้วิธีการแก้ไขปัญหาลักษณะนี้ยังไม่สามารถคลอบคลุมไปในทุกพื้นที่

 

แต่จากความสำเร็จเล็กๆ ที่เกิดขึ้น ได้กลายเป็นต้นแบบของการขุดคูกั้นช้างในแนวเขตป่าตะวันออก 3 จังหวัด ตั้งแต่ จ.ฉะเชิงเทรา จ.สระแก้ว ไปจนถึง จ.จันทบุรี ระยะทางอีกกว่า 551.6 กิโลเมตร แต่ยังเป็นการแก้ไขปัญหาในลักษณะต่างคนต่างทำ จึงยังไม่สามารถเชื่อมต่อให้เห็นภาพรวมของปัญหาทั้งผืนป่าได้

จากกความสำเร็จที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ ถูกนำมาต่อยอดเพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาครอบคุลมทั้ง "ผืนป่าตะวันออก" 5 จังหวัด "พวาโมเดล" แนวทางการแก้ไขปัญหาช้างป่าใน ต.พวา ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นต้นแบบ โดยแผนของโครงการนี้แบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอน คือ การสร้างแหล่งอาหารและแหล่งน้ำที่เพียงพอในป่าเขาอ่างฤไนให้กับช้าง เพื่อลดอัตราการออกมาหากินนอกพื้นที่

ขั้นตอนที่ 2 คือ สร้างรั้วเหล็กและคูกั้นช้าง รอบเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน 683,750 ไร่ ให้ครอบคลุมทั้ง 5 จังหวัด รวมถึงเส้นทางสำหรับช้างเดินระยะทาง 7 กิโลเมตร เพื่อให้ช้างลงไปกินน้ำบริเวณอ่างประแกด ซึ่งเป็นพื้นที่เดิมที่ช้างเคยอยู่อาศัยก่อนถูกพัฒนาเป็นอ่างเก็บน้ำ

และขั้นตอนสุดท้าย คือ การต้อนช้างกลับเข้าป่า โดยคาดว่าโครงการนี้จะสำเร็จได้ในระยะเวลาไม่ถึง 10 ปี แต่อาจจะต้องใช้งบประมาณสูงถึง 1,300 ล้านบาท

 

การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า หรือการเฝ้าระวังช้างไม่ให้ลงไปในพื้นที่เกษตรกรรมของชาวบ้าน โดยกำลังเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครเพียงไม่กี่นายดูเหมือนจะเป็นเรื่องยาก เพราะตลอด 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา The EXIT ร่วมเฝ้าระวังช้างป่ากับเจ้าหน้าที่ พบปัญหาคือโขลงช้างไม่เดินไปตามทางที่เจ้าหน้าที่กำหนด เพื่อให้ช้างกลับเข้าป่า

แม้แนวทางแก้ไขปัญหาช้างป่าในภาพรวมของรัฐบาลยังไม่เกิดขึ้น แต่ชาวบ้านในพื้นที่สามารถป้องกันช้างป่าได้ด้วยตัวเอง นั่นคือวิธีการทำรั้วรังผึ้ง ในโครงการผึ้งหลวง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ซึ่งในพื้นที่แก่งหางแมวได้นำโครงการนี้ทดลองกับชาวบ้านใกล้อ่างเก็บน้ำประแกด ซึ่งเป็นเส้นทางที่ช้างเดินอยู่เป็นประจำและประสบความสำเร็จ เนื่องจากผึ้งสามารถสร้างความลำคานให้กับช้างได้ นอกจากนี้น้ำผึ้งและการเพาะพันธุ์ผึ้งยังสามารถสร้างรายได้ต่อปีเกือบ 100,000 บาทด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง