สนช. ชงเพิ่มโทษล่าสัตว์สงวน จำคุกสูงสุด 20 ปี

สิ่งแวดล้อม
12 ก.พ. 61
19:07
856
Logo Thai PBS
สนช. ชงเพิ่มโทษล่าสัตว์สงวน จำคุกสูงสุด 20 ปี
จากกรณีการล่าสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ทำให้คณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม สนช. เตรียมแก้กฎหมาย เพิ่มบทลงโทษนักล่าสัตว์ให้รุนแรงขึ้น โทษสูงสุดจำคุก 20 ปี

วันนี้ (12 ก.พ.2561) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.ท.ชัยยุทธ พร้อมสุข ประธานคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แถลงแสดงความกังวลต่อกรณีการเข้าล่าสัตว์ป่าของนักธุรกิจ ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ด้านตะวันตก เนื่องจากถือเป็นการคุกคามชีวิตสัตว์ ละเมิด พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 โดยกระทำผิดหลายสถาน ซึ่งจะต้องเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายต่อไป

ด้าน นายสนิท อักษรแก้ว รองประธานคณะกรรมาธิการฯ ระบุว่า ในวันที่ 15 ก.พ.นี้ จะเชิญ น.ส.กาญจนา นิตยา ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ และ นายวิเชียร ชิณวงษ์ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ด้านตะวันตกเข้าพบ เพื่อแสดงความขอบคุณและให้กำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ รวมทั้งสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

นายสนิท กล่าวว่า ควรต้องแยกประเภทบทลงโทษสำหรับสัตว์สงวนและสัตว์อนุรักษ์ โดยต้องเพิ่มบทลงโทษที่รุนแรงขึ้น ถึงขั้นจำคุก 10-20 ปี และปรับ เชื่อว่าจะทำให้ผู้มีอิทธิพลเกรงกลัว ขณะเดียวกันหน่วยงานภาครัฐเอง ต้องออกกฎระเบียบเพื่อป้องกันวัฒนธรรมองค์กร ในการใช้อำนาจเปิดทางให้ผู้มีอิทธิพลเข้าไปบุกรุกพื้นที่ป่าและล่าสัตว์

นอกจากนี้จะมีการพิจารณาเพื่อเพิ่มบทลงโทษ ผู้ที่นำอาวุธเข้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและล่าสัตว์ให้รุนแรงขึ้น โดยขณะนี้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เตรียมเสนอแก้ไข พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 หากเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาของสนช. กรรมาธิการฯ จะพิจารณา เพื่อเสนอการเพิ่มบทลงโทษให้มีความเหมาะสมมากขึ้น

 

คณะวนศาสตร์ มก. พร้อมเคลื่อนไหว หากคดีไม่โปร่งใส

ขณะที่เมื่อวันที่ 10 ก.พ. ที่ผ่านมา คณะวนศาสตร์ มก. ได้มีการจัดเวทีแสดงจุดยืน เกี่ยวกับกรณีการล่าสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าขึ้น โดย ผศ.ดร.นิคม แหลมสัก คณบดีคณะวนศาสตร์ มก. กล่าวว่า ในฐานะสถาบันการศึกษา ที่เห็นควรว่าในทางคดีต้องเข้มข้นต่อไป ทุกคนต้องตรงไปตรงมา หากไม่ตรงไปตรงมา พี่น้องประชาชนทุกคนต้องช่วยกัน เพื่อให้เป็นบทเรียนกับสังคมไทย ไม่ใช่เฉพาะกรณีนี้เท่านั้น แต่เป็นเรื่องทรัพยากรธรรมชาติทุกเรื่องต่อไป



คณบดีคณะวนศาสตร์ กล่าวต่อว่า หลักฐานทางคดีหลาย ๆ เรื่อง ทางคณะวนศาสตร์มีห้องนิติวิทยาศาสตร์เรื่องสัตว์ป่า คณาจารย์หลาย ๆ ท่านก็พยายามสร้างโครงสร้างพื้นฐานตรงนี้ เพื่อช่วยยืนยันความถูกต้อง คณะวนศาสตร์ขอขับเคลื่อนโดยเฉพาะในด้านทรัพยากรธรรมชาติและป่าไม้ สิ่งใดที่ไม่ชอบมาพากลเราก็จะฟ้องประชาชนด้วยวิธีต่าง ๆ หากในเรื่องกฎหมาย คดีไม่สามารถทำอะไรได้ สิ่งที่เป็นตัวอย่างในระดับโลก คือ กระแสสังคม ไม่คบหาสมาคมด้วย ไม่ทำธุรกิจด้วย มองด้วยหางตา สิ่งเหล่านี้จะทำให้อยู่ในสังคมไทยยาก ใครที่คิดจะทำลายทรัพยากรธรรมชาติจะต้องยุติ แล้วหันกลับมาทำให้ทรัพยากรดีขึ้น ต้องทำอย่างไรให้คนไทยได้รู้เรื่องทรัพยากรธรรมชาติมากขึ้น เยาวชนรุ่นหลังกำลังมองอยู่ว่าบรรพบุรุษของเขาทำอะไรอยู่ เราพร้อมจะส่งมอบประเทศไทยหลังจากเราไม่อยู่แล้วได้ขยายผลต่อ มอบให้กับลูกหลานของเราอย่างสมบูรณ์ได้อย่างไร


คณะวนศาสตร์ยังมีจุดยืนที่มั่นคงในเรื่องที่จะผลิตบัณฑิต เช่น หัวหน้าวิเชียร คุณสืบ และอีกหลาย ๆ คน เราไม่ต้องการบันทึกรายชื่อวีรชนป่าไม้ แต่เราต้องการนักการป่าไม้ที่ยังมีชีวิตและทำงานด้วยความภาคภูมิใจ คนไทย รุ่นน้อง รุ่นหลานให้ความเคารพนับถือว่ายึดมั่นอุดมการณ์

ด้านรองศาสตราจารย์ ดร.อุทิศ กุฎอินทร์ อาจารย์พิเศษ คณะวนศาสตร์ มก. กล่าวว่า เมื่อก่อนนี้ทุ่งใหญ่มีหน่วยพิทักษ์ป่าในทุ่งใหญ่ มีเพียง 7 หน่วย จนมาปัจจุบันมี 25 หน่วย ตรงนี้ถือเป็นจุดอ่อนที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับมรดกโลกต่ำเกินไป ที่สำคัญ ทุ่งใหญ่ มีหมู่บ้าน ชุมชนใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ การจะเข้าไป ก็ต้องผ่านด่าน คนที่ต้องการเข้าหมู่บ้านต้องตรวจค้นทุกคนหรือไม่ อาจจะต้องมีด่าน 2 ด่าน คือ ด่านเข้าหมู่บ้าน กับด่านเข้าพื้นที่อนุรักษ์ เพราะอาจมีการอ้างว่าไปหาญาติในหมู่บ้านเพื่อกระทำผิด การรักษาป่า ต้องศึกษาพื้นที่ชุมชนว่าพื้นที่หมู่บ้านใหญ่ขนาดไหน การเข้า – ออกเป็นอย่างไร ต้องมีการควบคุม

 

"ล้อมคอก" คนนอกเข้าใช้เส้นเข้าพื้นที่ป่า

นายประยุทธ หล่อสุวรรณศิริ นายกสมาคมศิษย์เก่า อดีตรองอธิบดีกรมป่าไม้ ระบุว่า สำหรับการเก็บค่าเข้านั้น พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติกำหนดให้มีการเก็บค่าตอบแทนต่าง ๆ เพื่อให้ผู้คนได้เข้ามาศึกษา เรียนรู้ และพักผ่อนหย่อนใจ แต่ในด้านสัตว์ป่า กฎหมายเนนย้ำให้ดูแลเรื่องการสูญพันธุ์ โดยหลักแล้วไม่ได้เปิดให้ท่องเที่ยว แต่ระยะหลังมีพื้นที่บางพื้นที่เปิดเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ซึ่งเป็นพื้นที่ที่สวยงาม กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชก็ได้ออกระเบียบให้สามารถใช้พักผ่อนหย่อนใจหรืออภินันทนาการได้ บางแห่งประกาศเก็บ บางแห่งก็ไม่ได้ประกาศเก็บ แต่มีการอนุญาตได้ บางแห่งก็ใช้ความรู้จักคุ้นเคยกับหัวหน้ากรมอุทยาน ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา เมื่อลองมองดูเหตุการณ์ คน 4 คน เข้าไปอยู่ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ขออนุญาตเข้าไป แต่การอนุญาตยังไม่เสร็จ ทำไมเข้าไปได้ เขาอาจจะมีคนรู้จักอยู่ในวงการป่าไม้ หน่วยงานประสานเข้าไปในพิ้นที่ พื้นที่ก็อนุญาตให้เข้าไป แบบเป็นเรื่องปกติ เรื่องนี้ยืนยันว่าจะเฝ้าจับตาดูอย่างใกล้ชิด

ส่วนรศ.ดร.สราวุธ สังข์แก้ว อาจารย์คณะวนศาสตร์ มก. ได้กล่าวถึง เสียงสะท้อนจากนิสิตปัจจุบัน ว่า ในการปฏิรูปอยากให้ช่วยมองเรื่องค่าตอบแทนของรัฐ ที่อาจจะสามารถทำได้อย่างเบี้ยเสี่ยงภัย เหมือนตำรวจตระเวนชายแดน หรือทหาร 3 จังหวัด ชายแดนภาคใต้ เพราะมีความเสี่ยงพอ ๆ กัน


นายมานพ ชมพูจันทร์ ที่ปรึกษาสมาคมอุทยานแห่งชาติ กล่าวว่า ในอดีตเคยมีพระราชสาวนีย์เกี่ยวกับทุ่งใหญ่ของสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ท่านห่วงใหญ่ในทุ่งใหญ่มาก พยายามจะมีโครงการพระราชดำริลงใทุ่งหญ่ตั้งแต่ปี 2533 – 2539 ท่านก็จะขอกำลังทหารเข้าไปดูแลป้องกันเจ้าหน้าที่ในทุ่งใหญ่ตอนนั้น คงไม่ติดขัดเรื่องอาวุธปืนถ้าเอาทหารเข้าไปช่วยเจ้าหน้าที่ ในสมัยก่อนทุ่งใหญ่มีปัญหามากเรื่องของชุมชน เรื่องนี้ต้องแก้ไข และการขุดแร่ การควบคุมทางเข้า – ออก จึงทำได้ยาก อีกเรื่องคือการไล่ต้อนวัวจากประเทศเพื่อนบ้าน การท่องเที่ยว เราไม่มีการจัดระบบในการท่องเที่ยว และเรื่องล่าสัตว์ ไม่รู้ว่าเราจะเสียเสือดำอีกสักกี่ตัว ทุ่งใหญ่อยู่ชายแดน คนเข้าคนออกวุ่นวายไปหมด ไม่สงบ เราควรจะทบทวนพระราชสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าเพื่อเข้ามาเสริม

ขณะที่นายไพรัตน์ ทานชัย นายกสมาคมอุทยานแห่งชาติ การฟื้นฟูสัตว์ที่กำลังจะสูญพันธุ์ กล่าวว่า การฟื้นฟูสัตว์ที่กำลังจะสูญพันธุ์ ที่ประเทศไทยมีสถานีเพาะเลี้ยง แต่ไปสร้างอยู่นอกเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ซึ่งน่าจะสร้างข้างในเพื่อจะได้ปล่อยสัตว์เข้าป่าได้ ส่วนเรื่องกฎหมาย หากมีเขตผ่อนปรนก็แสดงว่ามีการทำแบบสองมาตราน ตอนนี้อุทยานมีสัตว์ป่าจำนวนมากแต่ขาดการจัดการ ควรแยกแยะและจัดการให้ชัดเจน

 

หน.วิเชียร ชี้จนท.พิทักษ์ป่าขาดอาวุธทุกพื้นที่

นายวิเชียร ชิณวงษ์ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ด้านตะวันตก เปิดเผยว่า วันนี้ทุ่งใหญ่นเรศวรเป็นทุ่งหญ้าสะวันนา ถามว่าจะจัดการยังไง สิ่งที่ต้องมี คือ การศึกษาวิจัย การจัดการสัตว์ป่าในพื้นที่ สิ่งที่ต้องทำ คือ คุ้มครองถิ่นอาศัย เพื่อความปลอดภัย การจัดการทุ่งหญ้าและแหล่งอาหาร ต้องมีการเข้าไปศึกษาวิจัย ส่วนเรื่องวิธีรักษาป่า คือ เรื่องคน การรับบุคลากร ที่ไม่เพียงพอ สิ่งที่มากกว่าความตั้งใจ คือ ความรู้ความสามารถ และสุขภาพร่างกาย เรื่องเครื่องมือ ในเขตฯ ทุ่งใหญ่ มีเจ้าหน้าที่ทั้งหมด 25 หน่วย แต่ละหน่วยมีปืน 2-3 กระบอก 1 กระบอกใช้สำหรับเฝ้าฐาน อีก 2 กระบอกนำออกไปลาดตระเวน บางครั้งยิงก็ไม่ออก เป็นปัญหาในการทำงาน พอพบการกระทำผิด ความมั่นใจก็ไม่มี


เคยมีคนมาถามว่าหัวหน้ามีเงินให้ผมกู้ไปซื้อปืนไหม ผมก็บอกว่าไม่มีหรอก ว่าแต่คุณเป็นสมาชิกสหกรณ์กรมป่าไม้รึยัง เรื่องอุปกรณ์ ผมเชื่อว่าหลาย ๆ พื้นที่ขาดแคลน ส่วนเรื่องกฎหมาย บางทีโทษหรือฐานความผิดหรือการกำหนดโทษยังน้อยอยู่ อย่างเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ห้ามเข้าแต่ยังไม่มีการกำหนดโทษในส่วนนี้ควรมีการปัดฝุ่นเรื่องกฎหมาย

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง