เตือน "แมลงหอบ" ไร้สรรพคุณ รักษาโรคหอบหืด

สังคม
13 ก.พ. 61
18:06
9,854
Logo Thai PBS
เตือน "แมลงหอบ" ไร้สรรพคุณ รักษาโรคหอบหืด
นักกีฏวิทยา ระบุ ไม่มีแมลงหอบ แท้จริงคือ “ด้วงเสือ” รักษาโรคหอบหืดไม่ได้ เพราะไม่มีคุณสมบัติทางยา หวั่นกระทบระบบนิเวศ หลังแห่จับขายหลังเคาะราคาสูงตัวละ 200-800 บาท แพทย์ระบุโรคหอบหืดหายรักษาให้อาการดีขึ้นได้ด้วยการปรับพฤติกรรม

วันนี้ (13 ก.พ.2561) สื่อสังคมออนไลน์เผยแพร่ข้อมูล ซื้อ-ขายแมลงหอบผ่านเฟซบุ๊ก ระบุคุณสมบัติว่าสามารถรักษาโรคหืดหอบได้ เพียงนำแมลงหอบใส่กรอบนำมาแขวนคอ สนนราคาขายตัวละ 200- 800 บาท

ทั้งนี้ ความเห็นในสื่อสังคมออนไลน์ พบว่าบางความเห็นสนับสนุนว่าแมลงหอบ สามารถรักษาโรคหอบหืดได้จริง หลังจากได้นำแมลงดังกล่าวมาแขวนคอ ขณะที่หลายความเห็นให้ข้อมูลว่า แมลงหอบ เป็นด้วงเสือ ไม่สามารถรักษาโรคหอบหืดได้ หากจะรักษาโรคดังกล่าวต้องไปปรึกษาแพทย์ 

 

ไทยพีบีเอสออนไลน์ สอบถามข้อมูลเกี่ยวกับแมลงหอบ จากอาจารย์เบญจคุณ แสงทองพราว ผู้ช่วยหัวหน้าภาควิชากีฏวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ข้อมูลว่า แมลงหอบที่เรียกกันในเฟซบุ๊ก คือ ด้วงเสือ

ด้วงเสือ เป็นด้วงปีกแข็งชนิดหนึ่ง อาศัยอยู่ในดินทรายใกล้แหล่งน้ำ มักพบบริเวณน้ำตก หาดทรายชื้นๆ และบริเวณที่มีระบบนิเวศสมบูรณ์ ส่วนมากพบในพื้นที่ภาคใต้ เป็นแมลงตัวห้ำที่กินแมลงชนิดอื่นเป็นอาหาร ทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มไว มีลักษณะเป็นผู้ล่า ขุดรูอยู่ในดินและกินแมลงหน้าดินเป็นอาหาร

ด้วงเสือ มีความว่องไว จับตัวยาก ไม่มีอวัยวะในการต่อย ไม่มีพิษ ไม่มีกลิ่น ไม่มีสารใดๆ มีเพียงกรามขนาดใหญ่ที่ใช้กินเหยื่อ และไม่มีคุณสมบัติทางยา

อาจารย์เบญจคุณ กล่าวว่า การนำด้วงเสือมาแขวนคอเพื่อรักษาโรคหอบหืด อาจจะเป็นสิ่งเยียวยาจิตใจและเป็นความเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งยืนยันว่า ด้วงเสือไม่มีคุณสมบัติทางยา แต่จากปรากฎการณ์ครั้งนี้ กังวลว่าหากมีล่ามาเพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าวกันมากขึ้น ความสมดุลในระบบนิเวศจะได้รับผลกระทบ

แมลงที่ถูกล่าเพื่อวัตถุประสงค์ใดวัตถุประสงค์หนึ่ง หากจำนวนปริมาณลดลง มันจะมีผลต่อระบบนิเวศ เพราะเป็นหนึ่งในห่วงโซ่อาหาร ที่จะทำหน้าที่ควบคุมประชากรอื่นๆ ให้สมดุล เมื่อไหร่ที่ตัวใดตัวหนึ่งหายไป ก็จะมีผลกระทบต่อห่วงโซ่อาหารต่อระบบนิเวศ เบญจคุณ กล่าว

 

บทความของ รศ.นพ.ปารยะ อาศนะเสน ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ระบุว่า โรคหอบหืด หรือโรคหลอดลมอักเสบจากภูมิแพ้ เป็นโรคที่พบบ่อยในคนไทย ประมาณร้อยละ 10-15 ของประชากร พบได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ โรคนี้เกิดจากเยื่อบุหลอดลมมีความไวผิดปกติ ทำให้เกิดอาการ ไอ หอบเหนื่อย หายใจขัด แน่นหน้าอก หายใจมีเสียงวี้ด หายใจลำบากหรือหายใจเร็ว โดยเฉพาะตอนกลางคืน ตอนเช้ามืด หรือขณะออกกำลังกาย หรือขณะเป็นไข้หวัด สาเหตุเชื่อว่าเกิดจากปัจจัยทางพันธุกรรม และสิ่งแวดล้อม

ส่วนการรักษาโรคหอบหืด มี 4 ขั้นตอน

1. ดูแลตนเองอย่างเหมาะสม และหลีกเลี่ยง หรือกำจัดสิ่งที่แพ้ หรือกระตุ้นทำให้เกิดอาการ พยายามดูแลสุขภาพร่างกายให้สมบูรณ์และแข็งแรงอยู่เสมอ

2. ใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการ เช่น ยารับประทาน ยาสูด หรือ พ่นคอ เพื่อปรับความไวของหลอดลม หรือช่วยขยายหลอดลม แต่ยาเป็นเพียงการรักษาปลายเหตุ เมื่อสามารถดูแลตนเองและควบคุมสิ่งแวดล้อมได้ดีขึ้น ความจำเป็นในการใช้ยาก็จะน้อยลงเรื่อยๆ

3. ฉีดวัคซีนภูมิแพ้ เพื่อให้สร้างภูมิต้านทานต่อสิ่งที่แพ้ วิธีนี้จะใช้สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการมาก ไม่สามารถควบคุมอาการได้ด้วยยา วิธีนี้จะใช้เวลาอย่างน้อย 1 ปีครึ่ง ถ้าได้ผลดี อาจต้องฉีดต่อเนื่องไปอีก 3-5 ปี

สรุปโรคหอบหืด สามารถรักษาให้อาการต่างๆ ดีขึ้นได้ สามารถใช้ชีวิตได้เหมือนบุคคลปกติ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ ทั้งนี้ การรักษามิได้ขึ้นอยู่กับการใช้ยาเพียงอย่างเดียว จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือและการปฏิบัติตนอย่างถูกต้องของผู้ป่วยด้วย

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง