"กัดเซาะชายฝั่ง" เหลือวิกฤตแค่ 5% กรุงเทพฯรอด

สิ่งแวดล้อม
16 ก.พ. 61
13:58
8,608
Logo Thai PBS
"กัดเซาะชายฝั่ง" เหลือวิกฤตแค่ 5% กรุงเทพฯรอด
ทช.เผยปี 60 สถานการณ์กัดเซาะชายฝั่งภาพรวมดีขึ้น เหลือแค่ร้อยละ 5 ข่าวดี "กรุงเทพฯ" ไม่พบการกัดเซาะเพิ่ม ส่วน 5 จังหวัด "สงขลา-นครศรีธรรมราช" ยังวิกฤต เร่งดำเนินการ 3 มาตรการ จัดการปัญหาอย่างยั่งยืน

นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า ช่วงปีที่ผ่านมาไทยเผชิญปัญหาการกัดเซาะมาอย่างยาวนาน กว่า 50 ปี ตั้งแต่ปี (2495 -2551) พบพื้นที่ชายฝั่งประสบปัญหาการกัดเซาะ มีอยู่ประมาณ 800 กิโลเมตร จากความยาวฝั่งทั้งสิ้น 3,151 กิโลเมตร หรือ ร้อยละ 25 ของความยาวชายฝั่งประเทศ แต่หลังจากพยายามแก้ไขปัญหาปัจจุบันถือได้ว่า ผ่านพ้นวิกฤตไปแล้ว เนื่องจากการสำรวจเมื่อปี 2560 พบพื้นที่การกัดเซาะได้รับการแก้ไขไป 559 กิโลเมตร หรือ ร้อยละ 18 ของแนวชายฝั่ง แต่ว่ายังเหลือพื้นที่การกัดเซาะที่ไม่ได้รับการแก้ไข ระยะทางประมาณ 145 กิโลเมตร หรือ ร้อยละ 5 และพื้นที่ที่ไม่มีการกัดเซาะ ระยะทาง 2,447 กิโลเมตร หรือคิดเป็น ร้อยละ 77 ของแนวชายฝั่ง

นายจตุพร กล่าวว่า สำหรับพื้นที่ที่ยังมีการกัดเซาะรุนแรงคือตามแนวชายฝั่ง ของ จ.สงขลา ส่วนที่ จ.นครศรีธรรมราช ใน อ.หัวไทร อ.ปากพนัง ต.ขนาบนาก และแหลมตะลุมพุก หลังจากนี้จะเร่งดำเนินการแก้ไขในมาตรการที่เหมาะสมต่อไป

ข้อมูลล่าสุดจากการสำรวจของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พบว่า กรุงเทพมหานคร  จ. สมุทรสาคร จ.สมุทรปราการ ไม่พบการกัดเซาะเพิ่ม ขณะที่ อีก 5 จังหวัด ยังพบการกัดเซาะรุนแรง 1. จ.สงขลา ความยาว 12.05 กิโลเมตร 2. จ.ปัตตานี ความยาว 7.21 กิโลเมตร 3. จ.นครศรีธรรมราช ความยาว 4.48 กิโลเมตร 4. เพชรบุรี ความยาว 3.81 กิโลเมตร และ 5. จ.ตราด ความยาว 1.98 กิโลเมตร

 

 

สำหรับแนวทางในการจัดการแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 16 ม.ค.ที่ผ่านมา การแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งจะมุ่งเน้นความสอดคล้องกับธรรมชาติ ไม่ส่งผลกระทบไปยังพื้นที่ข้างเคียง โดยแบ่งเป็น 4 แนวทาง คือ แนวทางการปรับสมดุลชายฝั่งโดยธรรมชาติ แนวทางป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง แนวทางแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง และ แนวทาฟื้นฟูเถียรภาพชายฝั่ง และ อีก 3 มาตรการ คือ 1. มาตรการสีขาว คือการดำเนินงานเพื่อลดผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนที่อาจะเกิดขึ้นจากการกัดเซาะชายฝั่ง ดำเนินการด้วยรูปแบบการถอยร่น ห้ามกก่อสร้างหรือเปลี่ยนแปลงชายหาดและเนินทรายเพื่อให้ธรรรมชาติสมดุล 2. มาตรการสีเขียว เป็นการดำเนินงานที่จะไม่ทำให้เกิดผลกระทบกับพื้นที่ข้างเคียง โดยเหมาะกับบริเวณที่เป็นชายฝั่งทะเลแบบเปิด คลื่นขนาดเล็ก ชายฝั่งมีความลาดชันต่ำ คือ การปลูกป่า การฟื้นฟูชายหาด และการปักเสาแบบตะกอนเพื่อปลูกป่าชายเลน

และ 3. มาตรการสีเทา โดยใช้โครงการทางวิศวกรรมให้เหมาะสมกับบริเวณชายฝั่งที่เป็นทะเลเปิด ซึ่งมีคลื่นขนาดใหญ่ ชายฝั่งมีความลาดชันสูง โดยการสร้างเขื่อนกันคลื่นชายฝั่งรอดักทราย เขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล และกำแพงป้องกันคลื่นดินชายหาด

นายจตุพร กล่าวว่า ในปี 2561 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจะทำการสำรวจสภาพปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง เพื่อจัดลำดับและกำหนดความสำคัญเพื่อกำหนดมาตรการป้องกันในการกัดเซาะ เบื้องต้นที่จะเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่ 23 จังหวัด โดยการบริหารพื้นที่ชายฝั่งตามกลุ่มหาด และการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่หาดโคลนและหาดทราย และพื้นที่เกาะที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจกว่า 70 เกาะ

 

 

กำแพงกั้นคลื่น เพิ่มความแรงคลื่น 7 เท่า

นายศักดิ์อนันต์ ปลาทอง คณะวิทยาศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ กล่าวว่า การกัดเซาะชายฝั่งรุนแรงที่ผ่านมา เกิดจากเพราะว่าการใช้หินกำแพงสู้กับคลื่น ทำให้ปัญหาลุกลามมากขึ้น และอีกสาเหตุที่สำคัญคือ การสร้างขึ้นป้องกันร่องน้ำ เพระฉะนั้นหากหยุดก่อสร้าง หยุดเติมทราย และใช้วิธีการธรรมชาติจัดการกับธรรมชาติ ทั้งการปลูกป่าชายแลน การฟื้นฟูชายหาด การปักเสาดักตะกอนเพื่อใช้ในการปลูกป่าชายเลน อาจจะเป็นวิธีการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

การกัดเซะชายฝั่ง เกิดจากเขื่อนกั้นปากร่องน้ำ ถึงร้อยละ 30 เพราะฉะนั้นหากมีการสร้างเขื่อนกั้นคลื่น ผลกระทบที่เกิดขึ้นคือ หาดทรายหาย บริเวณกำแพงกั้นจะลึกขึ้นรวมถึงพื้นที่บริเวณข้างเคียงจะถูกกัดเซาะมากขึ้น คลื่นที่อยู่ในทะเลจะมีความสูงเท่าไรก็แล้วแต่ หากเกิดการปะทะกับเขื่อนกัน คลื่นจะเด้งตัวสูงขึ้นไปได้ถึง 7 เท่า ของคลื่นที่เข้าฝั่ง ส่งผลทำให้พื้นที่ที่ติดกำแพงถูกกัดเซาะเข้าไปมากกว่าเดิม ซ้ำปัญหาเลวร้ายขึ้น

“ที่ผ่านมาวิธีการสร้างโครงสร้างแข็งลงทะเล ได้สร้างผลกระทบต่อเนื่องคง หลังจากนี้จำเป็นที่ทุกคน ทุกหน่วยงาน จะต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการคิดในการจัดการพื้นที่กัดเซาะชายฝั่ง ปรับตัวอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติ ยอมรับกระบวนการทางธรรมชาติ ไม่สู้กับธรรมชาติ ปัญหาที่เกิดขึ้นอาจคลี่คลายไปในแนวทางที่ดีขึ้น” นายศักดิ์อนันต์ กล่าว

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง