ศาลปกครองเพิกถอนคำสั่งของ กสท.กรณีรายการตอบโจทย์ - สั่งคืนค่าปรับให้ "ไทยพีบีเอส"

สังคม
17 ก.พ. 61
09:41
1,390
Logo Thai PBS
ศาลปกครองเพิกถอนคำสั่งของ กสท.กรณีรายการตอบโจทย์ - สั่งคืนค่าปรับให้  "ไทยพีบีเอส"
ศาลปกครองพิพากษา ให้เพิกถอนคำสั่งของ กสท. และให้สำนักงาน กสทช. คืนเงินค่าปรับ 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ให้แก่สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส

วันนี้ (17 ก.พ.2561) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เฟซบุ๊ก iLaw โพสต์ข้อความ กรณีศาลปกครองเพิกถอนคำสั่ง กสท. กรณีปรับ ThaiPBS จากรายการตอบโจทย์ ปี 56 เหตุ พลโทพีระพงษ์ ลงมติไม่เป็นกลาง โดยมีข้อความดังนี้

ศาลปกครองมีคำพิพากษาในคดีที่ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ยื่นฟ้อง กสทช. จากกรณีสั่งปรับทางสถานีเป็นเงิน 50,000 บาท เพราะเนื้อหาของรายการตอบโจทย์ประเทศไทย ตอน "สถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ" ที่ออกอากาศเมื่อเดือนมีนาคม 2556 มีเนื้อหาขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี ต้องห้ามตามมาตรา 37 ของ พ.ร.บ.ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551

โดยศาลปกครองเห็นว่า พล.ท.พีระพงษ์ มานะกิจ หนึ่งในสองกรรมการที่ลงมติครั้งนี้ มีความเห็นเป็นปฏิปักษ์ต่อผู้ฟ้องคดี ทำให้การพิจารณาไม่เป็นกลาง พร้อมทั้งสั่งให้ กสทช.คืนเงินทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ยกับไทยพีบีเอส

อย่างไรก็ตาม ศาลปกครองไม่ได้วินิจฉัยลงรายละเอียดว่า เนื้อหาของรายการที่ออกอากาศเข้าข่ายต้องห้ามตามกฎหมายหรือไม่

ลำดับข้อเท็จจริงในคดี เป็นดังนี้

1. เดือนมีนาคม 2556 สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ออกอากาศรายการตอบโจทย์ประเทศไทย ตอน "สถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ" ทั้งหมด 5 ตอน โดยมีภิญโญ ไตรสุริยธรรมา เป็นผู้ดำเนินรายการ 2 ใน 5 ตอนของรายการมีแขกรับเชิญเป็นสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ซึ่งการออกอากาศรายการทั้งสองตอนก่อให้เกิดกระแสความไม่พอใจในหมู่ประชาชนจำนวนหนึ่ง ทำให้มีการชะลอการออกอากาศรายการบางตอนไว้ระยะหนึ่ง แต่ในท้ายที่สุดรายการทุกตอนก็ได้ออกอากาศจนครบและทางสถานีก็มีการออกคำชี้แจงเกี่ยวกับกรณีนี้ด้วย

2. มีประชาชนมาร้องเรียนต่อสำนักงาน กสทช. ให้ตรวจสอบว่า การออกอากาศรายการตอบโจทย์ประเทศไทยตอนดังกล่าว เป็นการทำลายความเชื่อถือศรัทธาของประชาชนที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นการขัดต่อมาตรา 37 ของ พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 หรือไม่

3. กสท. ซึ่งเป็นคณะกรรมการส่วนกิจการวิทยุโทรทัศน์ของ กสทช. ได้มอบหมายให้อนุกรรมการด้านผังรายการและเนื้อหารายการ พิจารณาเนื้อหาของรายการตอบโจทย์ที่ถูกร้องเรียน คณะอนุกรรมการฯ เห็นว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อนจึงตั้งคณะทำงานขึ้นมาพิจารณา ต่อมาคณะทำงานมีความเห็นว่า เนื่องจากยังไม่มีการกำหนดหลักเกณฑ์ของรายการที่มีเนื้อหาเกี่ยวของกับสถาบันพระมหากษัตริย์ไว้อย่างชัดเจน เป็นรูปธรรม จึงไม่อาจพิจารณาได้ว่า รายการดังกล่าวขัดต่อมาตรา 37 หรือไม่ ทั้งเนื้อหารายการก็ไม่ปรากฏชัดถึงคำพูดที่ก่อให้เกิดการล้มลางการปกครองในระบอบประชาธิปไตอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

4. วันที่ 4 สิงหาคม 2557 คณะอนุกรรมการฯ ซึ่งมีพลโทพีระพงษ์ มานะกิจ เป็นประธาน ลงมติเสียงข้างมากไม่เห็นด้วยกับคณะทำงาน เพราะเห็นว่า รายการนี้มีเนื้อหาต้องห้าม และเสนอเรื่องไปยัง กสท. ซึ่งมีกรรมการเข้าร่วมประชุม 4 คน ลงมติเห็นว่า รายการมีเนื้อหาบางช่วงเกี่ยวกับการสืบราชสันตติวงศ์ มีผู้รับเชิญและผู้ดำเนินรายการใช้ถ้อยคำไม่เหมาะสม จึงเห็นได้ว่า แม้รายการดังกล่าวไม่มีผลเป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข แต่รายการดังกล่าวมีเนื้อหาในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งแตกแยก จนเป็นเหตุให้เกิดผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ขัดต่อมาตรา 37 โดยกรรมการที่เห็นด้วยกับการลงมตินี้ 2 คน คือ พล.ท.พีระพงษ์ มานะกิจ, ธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ ไม่เห็นด้วย 1 คน คือ สุภิญญา กลางณรงค์ และงดออกเสียง 1 คน คือ พ.อ.นที ศุกลรัตน์

5. วันที่ 30 กันยายน 2557 กสท. ออกคำสั่งทางปกครองให้สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ชำระค่าปรับ 50,000 บาท ภายใน 15 วัน และไทยพีบีเอสก็ได้นำค่าปรับไปชำระเรียบร้อยแล้ว

6. สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส นำเรื่องไปยื่นฟ้องต่อศาลปกครองว่า การออกคำสั่งของ กสท. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะ

6.1) ในการประชุมของ กสท. มีพลโทพีระพงษ์ มานะกิจ ร่วมประชุมและลงมติด้วย ซึ่งจากพฤติกรรมในบันทึกการประชุมเห็นว่า พลโทพีระพงษ์ มีความเห็นว่ารายการตอบโจทย์มีความผิดมาโดยตลอดตั้งแต่ชั้นอนุกรรมการฯ และได้คัดค้านรายงานของคณะทำงาน และยังมาลงมติในการประชุมของ กสท. อีกครั้งหนึ่ง จึงเป็นผู้มีความเห็นเป็นปรปักษ์ มีอคติ และขาดความเป็นกลาง การลงมติจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

6.2) ในระหว่างการแสวงหาข้อเท็จจริง ผู้ที่ให้ข้อมูลว่ารายการนี้ขัดต่อกฎหมายล้วนมาจากฝ่ายความมั่นคง กสท. ฟังข้อเท็จจริงจาก กอ.รมน. สภาความมั่นคงแห่งชาติ ไม่ได้ฟังจากนักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์หรือสื่อสารมวลชน ขัดกับหลักการฟังความสองฝ่าย

เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2561 ศาลปกครองมีคำพิพากษาในคดีนี้เห็นว่า พลโทพีระพงษ์ มานะกิจ ปฏิบัติหน้าที่ในการพิจารณาเรื่องนี้ ทั้งในฐานะประธานอนุกรรมการฯ และกรรมการ กสท. ทั้งสองคณะ ซึ่งเป็นกรณีที่กฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะไม่ได้บัญญัติเกี่ยวกับเรื่องกรรมการที่มีอำนาจพิจารณาไว้ จึงต้องนำเอา พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาบังคับใช้ ซึ่งมีมาตรา 3 กำหนดว่า กรรมการผู้พิจารณาต้องมีความเป็นกลาง ไม่มีความสัมพันธ์ส่วนตัวกับคู่กรณี และไม่มีพฤติการณ์อื่นซึ่งมีสภาพร้ายแรงอันจะทำให้ไม่เป็นกลาง

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า พลโทพีระพงษ์ ไม่เห็นด้วยกับผลการวินิจฉัยของคณะทำงาน และในการประชุมลงมติของคณะอนุกรรมการ ซึ่งพลโทพีระพงษ์ เป็นประธาน พลโทพีระพงษ์ ก็ยังเข้าลงมติฝ่ายเสียงข้างมากที่เห็นว่า รายการนี้ขัดต่อมาตรา 37 เมื่อพลโทพีระพงษ์ ยังเข้าประชุมในฐานะกรรมการ กสท. ก็ย่อมต้องมีความเห็นเช่นเดิม ซึ่งเป็นความเห็นที่เป็นปฏิปักษ์ต่อผู้ฟ้องคดี

กรณีนี้ถือได้ว่า เป็นเหตุซึ่งมีสภาพร้ายแรงอันอาจจะทำให้การพิจารณาทางปกครองไม่เป็นกลาง ตามมาตรา 16 ของ พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง และเป็นกรณีที่ไม่อาจถือได้ว่า จำเป็นเร่งด่วนไม่มีเจ้าหน้าที่อื่นปฏิบัติหน้าที่แทนได้ คำวินิจฉัยของ กสท. ที่ให้สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสจ่ายค่าปรับ 50,000 บาท จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่วนปัญหาอื่นไม่จำเป็นต้องวินิจฉัย

ศาลปกครองพิพากษา ให้เพิกถอนคำสั่งของ กสท.และให้สำนักงาน กสทช. คืนเงินค่าปรับ 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ให้แก่สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง