โรดแมป เปิดช่อง “โรงไฟฟ้าขยะ”

ภูมิภาค
18 ก.พ. 61
20:48
1,397
Logo Thai PBS
โรดแมป เปิดช่อง “โรงไฟฟ้าขยะ”
ชี้โรดแมป การจัดการขยะมูลฝอยของ คสช. เปิดช่องที่ให้เกิดโครงการเปลี่ยนขยะให้เป็นพลังงานไฟฟ้า ให้ภาคเอกชนเข้ามาลงทุน ซึ่งมีแนวโน้มจะเกิดขึ้นอีกหลายพื้นที่ เช่นเดียวกับต.ดงสิงห์ จ.ร้อยเอ็ด ที่ชาวบ้านคัดค้าน

กองขยะขนาดใหญ่ ของเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด อาจเป็นตัวอย่าง ชัดเจนที่สุด เพื่ออธิบายเหตุผล ว่า ทำไม ชาวบ้านไม่อยากให้มีโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ ในชุมชน แม้โรงไฟฟ้าจะมีระบบจัดการและเทคโนโลยีที่ดีกว่าเดิม เมื่อมีกองขยะ ปัญหาที่ตามมาคือ กลิ่น แมลงวัน น้ำเสีย และความสกปรก ขยะบางส่วนกีดขวางการจราจร ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ใกล้เคียงได้รับผลกระทบอย่างเลี่ยงไม่ได้

พลอย วงศ์คำ ชาว ต.เหนือเมือง อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด กล่าวว่า เรื่องเดือดร้อน มีทั้งกลิ่น และเวลาเขาเผา ควันมาใส่เราด้วย บ้านอยู่แถวนั้น เป็นอย่างนั้น อยู่ไม่ได้ มีกลิ่นเหม็นๆ ออกมา แมลงวันก็มี แก้ปัญหาก็แก้อยู่ ก็แค่นั้น แก้แล้วมันก็ สังกะสีรั้วกั้นไว้ก็พังหมดแล้ว

กองขยะมูลฝอย กว่า 1 แสน 5 หมื่นตัน ถูกทิ้งสะสมมานานกว่า 30 ปี ในพื้นที่ 20 ไร่ตำบลเหนือเมือง อยู่ห่างจากตัวเมืองเพียง 2 กิโลเมตร ขยะส่วนใหญ่คือถุงพลาสติก จากครัวเรือน และมูลฝอยจากตลาด ในเขตเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด และ ท้องถิ่นอีก 6 แห่ง ถูกส่งมาที่จุดทิ้งวันละ 100 ตัน

ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างระบบจัดการขยะเพื่อผลิตเป็นเชื้อเพลิง หรือที่เรียกอาร์ดีเอฟและปุ๋ยอินทรีย์
ขยะกองนี้ อาจเป็น เหตุผลเร่งด่วน ที่ทำให้จังหวัดร้อยเอ็ด ถูกเลือกเป็นพื้นที่ ต้องจัดการปัญหาขยะอย่างเร่งด่วนโซนที่ 2 ของประเทศ รองมาจากโซนแรก คือ อยุธยา และเกาะสมุย

 



นายพูลศักดิ์ ทวีกุล ประธานสภาอุตสาหกรรม จ.ร้อยเอ็ด กล่าวว่า รัฐบาลชุดนี้ที่แก้ปัญหาตกลงว่าให้เอกชนมาทำและทำขนาดใหญ่ มีมาตรฐานในการกำจัดไม่ให้มีแม้แต่น้ำเสีย กลิ่นในระบบต้องไม่มี ลงทุนเป็นพันล้านและกำจัดไดครั้งละ 500 ตัน

หลังจาก คสช. เห็นชอบ ตามโรดแมป การจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย ปี2557 1 ในแนวทางหลัก คือ การเปลี่ยนขยะให้เป็นพลังงานไฟฟ้า เปิดให้ภาคเอกชนเข้ามาลงทุน
ทำให้จังหวัดร้อยเอ็ดเดินหน้านำโรดแมปนี้มาใช้โดยตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการขยะมูลฝอย

4 พ.ค. 2560 จัดประชุมโดยเปิดให้บริษัทเอกชน 3 รายเข้ามาเสนอโครงการโรงไฟฟ้าขยะ และมีมติคัดเลือก บริษัท สยามพาวเวอร์ จำกัด ให้ดำเนินโครงการ งบประมาณกว่า 1,600 ล้านบาท

 



นายธรรมรัตน์ พุดน้อย นักวิชาการ คณะทำงานขับเคลื่อนการบริหารจัดการขยะ จ.ร้อยเอ็ด บอกว่า ได้ชี้แจงกับทางจังหวัดว่าที่ลงทุนหนักที่สุดคือการใช้เทคโนโลยีนี้คือการกรองกองป้องกันฝุ่น และมลพิษ ตัวระบบกรองมี 2 ชุดต่อเนื่องสิ่งที่ออกมาในระบบปิดไม่ใช่ควันแต่ออกมาเป็นไอน้ำ และเราอธิบายในส่วนผู้มีส่วนได้เสีย และต้องมีแผนวางว่าจะพาผู้นำไปดูงาน 

ก่อนที่ พื้นที่ต.ดงสิงห์ จะถูกเลือกให้เป็นจุดก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าขยะ ทีมข่าวดิเอ็กซิท ได้ข้อมูลว่า มีความพยายามจะเข้าไปขอสร้างในพื้นที่ตำบลจังหาร และตำบลปาฝา

องค์การบริหารส่วนตำบลปาฝา นำเรื่องหารือในที่ประชุมสภา มีตัวแทนผู้ประกอบการชี้แจงโครงการ แต่บอกเฉพาะผลดี จึงมีเสียงคัดค้าน นำไปสู่การปฏิเสธโครงการ

โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะ ถูกเลือกโดยภาครัฐว่าเป็นแนวทางที่จะนำไปสู่การจัดการปัญหาขยะแบบเบ็ดเสร็จ โดยเฉพาะที่จังหวัดร้อยเอ็ด โครงการนี้ใช้เวลาศึกษาความเหมาะสม 2 ปี และยื่นขออนุมัติโครงการจากส่วนที่เกี่ยวข้องอีก 1 ปี และขณะนี้มีโครงการโรงไฟฟ้าขยะ จากทั่วประเทศที่เตรียมยื่นขออนุมัติจากกระทรวงมหาดไทย กว่า 20 แห่ง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง