แบงก์จับตาธุรกิจทีวีดิจิทัลหวั่นหนี้เสีย

เศรษฐกิจ
26 ก.พ. 61
14:29
321
Logo Thai PBS
แบงก์จับตาธุรกิจทีวีดิจิทัลหวั่นหนี้เสีย
สถานการณ์ทีวีดีจิทัลขณะนี้ถูกจับตามองอย่างใกล้ชิด โดยมีการวิเคราะห์และประเมินว่าจะเหลือช่องทีวีดิจิทัลที่อยู่ต่อได้ไม่เกิน 12 ช่อง แม้ว่าภาครัฐจะให้ความช่วยเหลือด้วยการเยียวยาผู้ประกอบการ

นายสุวัฒน์ เตชะวัฒนวรรณา รองกรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธนาคารจับตาธุรกิจทีวีดิจิทัลเป็นพิเศษ เนื่องจากจะถูกกดดันจากเทคโนโลยีและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปบริโภคสื่อออนไลน์มากขึ้น จึงต้องเข้าให้คำปรึกษาลูกหนี้ให้ปรับโครงสร้างธุรกิจ บางรายเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้น ทำให้มีแนวโน้มดีขึ้น โดยขณะนี้ลูกค้าทุกรายยังชำระหนี้คืนตามปกติ ยังไม่ผิดนัดชำระหนี้ หรือเป็น NPL แต่ยอมรับว่าเป็นธุรกิจที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด

ด้านนายโชคชัย ปัญจรุ่งโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท อมรินทร์ เทเลวิชั่น ผู้บริหารช่องอมรินทร์ทีวี กล่าวว่า ภาพรวมการแข่งขันของธุรกิจทีวีดิจิทัลปีนี้ยังคงรุนแรงเหมือนกับที่ผ่านมา และคาดว่าจะฝุ่นตลบไปอีก 3 ปี จากการแข่งที่รุนแรงและต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น คาดว่าผลกระทบที่รุนแรงจะเหลือผู้เล่นในตลาดที่สามารถอยู่ต่อได้ไม่เกิน 12 ช่อง แม้ว่าภาครัฐจะออกมาให้ความช่วยเหลือด้วยการเยียวยาผู้ประกอบการ เพราะปัจจัยดังกล่าวเป็นเพียงการช่วยยื้อเวลาของผู้ประกอบการเท่านั้น

สำหรับประเภทของช่องที่อยู่ในสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงในขณะนี้คือ ช่องข่าวและช่องเด็ก เนื่องจากทั้ง 2 ประเภทถูกควบคุมเนื้อหาด้วยกฎหมาย อย่างไรก็ดี หากมีการแก้กฎหมายให้สามารถนำเสนอเนื้อหาที่หลากหลายได้ ก็อาจจะไม่เป็นธรรมกับผู้ประกอบการที่ประมูลช่องวาไรตี้ไป

ทั้งนี้ ย้อนกลับไปเมื่อปี 2558 ช่องทีวีดิจิทัลรายแรกที่หยุดกิจการไป คือ "ไทยทีวี" ของนางพันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย์ หรือ "ติ๋ม ทีวีพูล" ที่ตัดสินใจที่จะไม่จ่ายค่าใบอนุญาต เนื่องจากมีผลประกอบการขาดทุนร่วม 300 ล้านบาท และพยายามที่จะคืนช่องทั้ง 2 ที่ประมูลมาได้ ต่อมามี วอยซ์ ทีวี เลิกจ้างพนักงานรวม 2 ครั้ง เกือบ 200 คน

ส่วน Nation TV และช่อง NOW24 และสิ่งพิมพ์ในเครือ ก็ประกาศโครงการลาออกโดยสมัครใจถึง 3 รอบ รวมแล้วมีพนักงานลาออกมากกว่า 500 คน ขณะที่ช่องไทยรัฐ ทีวี ประกาศเปิดโครงการลาออกโดยสมัครใจเช่นกัน มีพนักงานสมัครเข้าร่วมโครงการมากกว่า 50 คน ส่วนช่อง TNN 24 ภายใต้การบริหารของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น เลิกจ้างพนักงานประจำ 6 คน เมื่อเดือนธันวาคม 2560 และล่าสุด New Tv ช่อง 18 ประกาศเลิกจ้างพนักงาน 32 คน โดยจะปรับกลยุทธ์ใหม่ เจาะกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจนมากขึ้น

ทั้งนี้ เกือบทุกช่องยังคงอยู่ในภาวะขาดทุนต่อเนื่อง แต่ก็มีความพยายามที่จะลดต้นทุน บวกกับมาตรการขยายเวลาจ่ายค่าใบอนุญาตของ กสทช. ทำให้ผลประกอบการในปี 2560 บางช่องดีขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง