ม.นเรศวร ตอบชัด! งานวิจัยสารปนเปื้อนได้มาตรฐาน

สิ่งแวดล้อม
26 ก.พ. 61
19:37
1,538
Logo Thai PBS
ม.นเรศวร ตอบชัด! งานวิจัยสารปนเปื้อนได้มาตรฐาน
ทีมวิจัย ม.นเรศวร ยืนยัน งานวิจัยการปนเปื้อนสารเคมีในสิ่งแวดล้อม ทำถูกต้องตามหลักการวิจัย มีการลงพื้นที่และเก็บตัวอย่างน้ำเพื่อตรวจสอบหาสารเคมีปนเปื้อน

รศ.ดร.พวงรัตน์ ขจิตวิชยานุกูล เปิดใจให้สัมภาษณ์ต่อ “ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส” เป็นครั้งแรก หลังเก็บตัวจากการถูกกล่าวหาถึงความถูกต้องต่องานวิจัยการปนเปื้อนของสารเคมีเกษตรในสิ่งแวดล้อมมาก่อนหน้านี้ ย้ำดำเนินการตามกระบวนการวิจัยที่ถูกต้อง พร้อมเผยความกังวลต่อข้อมูลสถานการณ์การปนเปื้อนสารเคมีในสิ่งแวดล้อม ในพื้นที่ ต.บุญทัน อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู


รศ.ดร.พวงรัตน์ ระบุว่า “การวิจัยเชิงบูรณาการเพื่อหาความเชื่อมโยงของสารเคมีทางการเกษตรและโรคผิวหนัง ในพื้นที่ ต.บุญทัน และ ต.นาดี อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู” ซึ่งเป็นที่มาของข้อค้นพบเบื้องต้นของการปนเปื้อนสารเคมีพาราควอตในความเข้มข้นสูงในสิ่งแวดล้อม ในพื้นที่ ต.บุญทัน อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู งานวิจัยดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่างนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดหนองบัวลำภู และสำนักงานส่งเสริมการวิจัยท้องถิ่น โดยที่มาของการวิจัยมาจาก สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดหนองบัวลำภู ให้มหาวิทยาลัยเนรศวรศึกษาเรื่องการตกค้างของสารเคมีในสิ่งแวดล้อมในพื้นที่จังหวัดหนองบัวลำภู


คณะผู้วิจัยจึงได้ลงพื้นที่ต.บุญทัน อ.สุวรรณคูหา เก็บตัวอย่าง และรวบรวมข้อมูลที่มีการศึกษาเอาไว้แล้ว โดยข้อมูลสภาพพื้นที่ได้มาจากงานศึกษาของสำนักงานส่งเสริมการวิจัยท้องถิ่น และข้อมูลคนป่วยจาก
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดหนองบัวลำภู เพื่อรวบรวมและจัดทำข้อเสนองานวิจัยฉบับสมบูรณ์อีกครั้ง ดังนั้น ผลการศึกษาที่มีการเปิดเผยออกมาในขณะนี้ จึงยังเป็นเพียงข้อค้นพบเบื้องต้นและอ้างอิงได้เฉพาะพื้นที่ตำบลบุญทันเท่านั้น ไม่สามารถนำไปอ้างอิงว่าเป็นการค้นพบทั้งจังหวัดหนองบัวลำภูได้ แต่ยืนยันว่าแม้เป็นเพียงข้อค้นพบเบื้องต้น แต่ก็มาจากกระบวนวิจัยที่ถูกต้องตามหลักวิชาการเต็มรูปแบบ


แต่ถึงแม้ว่างานที่เราทำ ยังไม่เรียกว่างานวิจัยฉบับสมบูรณ์ หรืองานวิจัยเต็มรูปแบบ แต่การศึกษาที่เราทำเป็นการศึกษาเพื่อค้นพบ และนำไปสู่การเขียนโครงร่างข้อเสนองานวิจัย ดังนั้น งานวิจัยทั้งหมดถูกดำเนินการและออกแบบตามระเบียบของงานวิจัยทั้งสิ้น ไม่ว่าวัตถุประสงค์จะเพื่ออะไรและการกำหนดจุดเก็บตัวอย่าง เราใช้วิธีการตามมาตรฐานที่ใช้ในงานวิจัยทั้งสิ้น ใช้รูปแบบเหมือนกันหมดทุกอย่าง เพียงแต่ขนาดย่อเล็กลงมาแค่พื้นที่ตำบลบุญทัน และสามารถใช้อ้างอิงได้

รศ.ดร.พวงรัตน์ ระบุว่า แม้เป็นข้อค้นพบเบื้องต้น แต่ข้อมูลที่ปรากฏออกมากลับสร้างความกังวลอย่างมาก เพราะพบค่าความเข้มข้นของพาราควอตในสิ่งแวดล้อมสูงมากกว่าสารเคมีตัวอื่น ส่วนที่มาของสารเคมีที่พบในสิ่งแวดล้อมมาจากลักษณะการตั้งบ้านเรือนและแหล่งน้ำของชุมชนที่ถูกโอบล้อมด้วยพื้นเกษตรที่มีการใช้สารเคมีอย่างเข้มข้น



พื้นที่เหนืออ่างเก็บน้ำ ถูกห้อมล้อมไปด้วยเนินที่มีไร่อ้อยกับไร่ยางพารา ลองคิดดูว่า ถ้าใช้สารเคมีในไร่อ้อยไร่ยางพาราตรงที่เนินแล้วสารเคมีจะไปไหน และอ่างเก็บน้ำก็เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ เรียกได้ว่าเป็นอ่างเก็บน้ำที่เก็บสะสมสารเคมีไว้เยอะมากในนั้น นั่นจึงเป็นประเด็นอย่างหนึ่งว่าทำไมเราถึงเจอสารเคมีค่อนข้างเยอะมาก ถ้าเทียบกับพื้นที่อื่น


พฤติกรรมการใช้สารเคมีของเกษตรกรเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้มีสารเคมีตกค้างในสิ่งแวดล้อมเป็นจำนวนมาก โดยทีมวิจัยพบว่า เกษตรกรมักใช้ในปริมาณที่มากกว่าที่ฉลากระบุไว้ถึง 4 – 8 เท่า ซึ่งจากข้อค้นพบเบื้องต้นดังกล่าว ทำให้ทีมวิจัยเห็นว่าเป็นสถานการณ์ที่น่ากังวลแล้ว แม้จะยังไม่สามารถบอกได้ว่าการตกค้างพาราควอตในพื้นที่มีความสัมพันธ์กับโรคเนื้อเน่าที่พบว่าคนในพื้นที่เจ็บป่วยด้วยโรคนี้จำนวนมากหรือไม่ รวมทั้งไม่สามารถรอให้การศึกษาเสร็จสิ้นสมบูรณ์และครอบคลุมทุกพื้นที่ของจ.หนองบัวลำภูแล้วค่อยแก้ปัญหา

เร่งหาความเชื่อมโยงโรคเนื้อเน่า-พาราควอต

นักวิจัยกล่าวว่า ตอนนี้ยังบอกไม่ได้ว่า สารพาราควอตเกี่ยวข้องอะไรกับโรคเนื้อเน่า แต่อาการของคนที่ได้รับสารพาราควอต จะเกิดอาการผิวไหม้ พุพอง และเป็นแผล ซึ่งลักษณะของคนเจ็บป่วยในพื้นที่ เป็นอาการเจ็บป่วยที่สอดคล้องกับการได้รับสารพาราควอตทางผิวหนัง แต่ในกรณีที่เป็นโรคเนื้อเน่านั้น ตอนนี้บอกไม่ได้ เพราะเราไม่ใช่หมอ บอกได้แค่ว่า เราเจอในสิ่งแวดล้อม เราเจอพาราควอตในระดับความเข้มข้นที่สูงมากๆ จึงเห็นว่ามีความน่ากังวลจริง และนั่นเป็นประเด็นอย่างหนึ่งที่เราไม่รอให้งานวิจัยของทั้งจังหวัดขึ้นก่อน แต่เรานำเรียนผู้ว่าราชการจังหวัดก่อน เพราะสิ่งที่เราทำตามรูปแบบของงานวิจัย และใช้อ้างอิงได้สำหรับตำบลบุญทัน

ส่วนประเด็นที่มีการตั้งคำถามต่อความถูกต้องของงานวิจัยทั้งในพื้นที่จ.หนองบัวลำภูและจ.น่านที่มีการเปิดเผยออกมาก่อนหน้านี้ รศ.ดร.พวงรัตน์ ระบุว่า แม้ทีมวิจัยจะยืนยันมาตลอดว่าวิธีการวิจัยที่ทำมาเป็นไปตามมาตรฐานการวิจัยอย่างครบถ้วน ห้องแล็บที่ใช้ทดลองก็เป็นแล็บเพื่อการวิจัยโดยเฉพาะไม่ใช่แล็บเพื่อการเรียนการสอน และมีเครื่องมือวิจัยที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงและเฉพาะทางในการตรวจสอบสารเคมีเหล่านั้น แต่เมื่อมีการนำเสนอข้อมูลต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็มักจะถูกให้นำไปตรวจสอบอีกหลายครั้งแต่ไม่เกิดกระบวนการแก้ไขปัญหา ทั้งที่พบว่า การตรวจสอบข้อมูลซ้ำของหน่วยงานก็ได้ผลที่ไม่แตกต่างกัน


ทั้งนี้ จากการตรวจสอบสารเคมีที่ตกค้างในจ.น่าน เมื่อปี 2559 ข้อมูลที่น่าตกใจซึ่งดำเนินการโดยสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 3 และเข้าใจว่า กรมวิชาการเกษตรเป็นผู้ตรวจสอบคุณภาพน้ำของจ.น่าน สิ่งที่เราพบคือ คลอร์ไพริฟอส สูงมากกว่าค่าที่เราเคยรายงานตอนที่เราทำงานวิจัยที่จังหวัดน่าน อาทราซีนก็พบในช่วงเดียวกัน นี่คือสิ่งที่จะถามว่า ในเมื่อภาครัฐก็เจอข้อมูลเหมือนกันกับเรา ทำไมถึงไม่มีการกระจายข้อมูลนี้ หรือนำข้อมูลนี้เข้ามาทำระบบการเฝ้าระวัง การตรวจประเมิน การป้องกัน และนำไปสู่การแก้ปัญหา


รศ.ดร.พวงรัตน์ ย้ำในช่วงท้ายว่า หน้าที่ของงานวิจัย คือบอกข้อเท็จจริงในสิ่งที่เกิดขึ้น นักวิจัยมีหน้าที่รายงานข้อเท็จจริงในสิ่งที่ตัวเองพบ แต่การจะเอาไปใช้ในสิ่งใดเป็นเรื่องของผู้มีอำนาจตัดสินใจ ซึ่งคงต้องติดตามว่า หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการอย่างไรต่อข้อค้นพบเหล่านี้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง